ต้องยอมรับชาวนาไทยส่วนใหญ่ยังคุ้นชินกับการทำนาหว่าน เพราะง่าย สะดวก ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก...ขณะที่หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน รณรงค์ให้เปลี่ยนมาทำนาหยอด ทั้งนาหยอดน้ำตม และนาหยอดแห้ง เพราะการทำนาหว่านจะสิ้นเปลืองเมล็ดพันธุ์
นาหว่านต้องใช้เมล็ดพันธุ์ไร่ละ 20-25 กก. แต่นาหยอดทั้งสองประเภท ใช้เมล็ดพันธุ์เพียงไร่ละ 8-10 กก.เท่านั้น
จากการศึกษาของ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด นำข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์ จัดทำเป็นนวัตกรรม “KAS Corp Calendar Application” แอปพลิเคชันปฏิทินการเพาะปลูกบนมือถือหรือแท็บเล็ต ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผน และบันทึกข้อมูลเพาะปลูกพืชรายแปลง ตั้งแต่เตรียมดินยันเก็บเกี่ยว พร้อมคำนวณค่าใช้จ่ายในแต่ละรอบการเพาะปลูก
พบว่า เมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนของปฏิทินการเพาะปลูก เปลี่ยนมาทำนาหยอดน้ำตม หรือนาหยอดแห้ง จะลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ได้ไร่ละ 300-340 บาท
ที่สำคัญต้นข้าวจะขึ้นเป็นแถว เรียงแนวสวยงาม เกษตรกรสามารถบำรุงรักษาได้ง่าย อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทำให้ข้าวเจริญเติบโตดีสม่ำเสมอกันทั้งแปลง ไม่แย่งกันดูดสารอาหาร ต้นและรวงสมบูรณ์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เพราะข้าวเป็นพืชที่ต้องการพื้นที่ในการแตกกอ
การเพาะปลูกข้าวนาหยอดน้ำตม ข้าวจะมีอายุอยู่ที่ 130 วัน พื้นที่ 1 ตร.ม. จะได้รวงข้าว 250-300 รวง...ส่วนนาหยอดแห้ง ข้าวจะมีอายุ 150 วันเท่านั้น จะได้ปริมาณรวงข้าวอยู่ที่ 200-250 รวง
นาหยอดน้ำตม นาหยอดแห้ง ให้ผลผลิตสูงกว่านาหว่าน 44%และ 18% เรียงตามลำดับ เพราะนาหว่านพื้นที่ 1 ตร.ม. ได้ข้าวแค่ 180–200 รวงเท่านั้น
เกษตรกรสนใจเรื่องปฏิทินการเพาะปลูกข้าว เข้าไปเรียนรู้ได้ที่ www.kubotasolutions.com หรือรวมกลุ่มกันเข้าไปสัมผัสประสบการณ์จริงกับนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ที่คูโบต้าฟาร์ม สอบถามข้อมูลได้ที่ 0-2909-1234.
...
สะ-เล-เต