ปมหลักการปล่อยให้ต่างชาติ “นำเข้า ขยะพลาสติก”และอนุญาตให้เข้ามาตั้งโรงงาน “รีไซเคิล” ในประเทศไทยอย่างมากมายมหาศาล จนธุรกิจรีไซเคิลขยะเศษพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
เพราะ “รัฐบาลไทย” มีมุมมองส่งเสริมอุตสาหกรรม และการลงทุนบริษัทต่างชาติในประเทศ ที่เป็นการตอบสนองสินค้าพลาสติกราคาถูก จาก “ขยะรีไซเคิล” ทำให้ในปี 2562 บ้านเราจึงมีขยะพลาสติกสูงเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนและมีโรงงานรีไซเคิลรองรับมากกว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ
ส่วนใหญ่เป็น “ผู้ประกอบการ” ได้ใบอนุญาตโควตาค้างเก่าใกล้หมดอายุ ก.ย.นี้ ที่ยังมีสิทธิ์นำเข้าเฉพาะเศษพลาสติกใช้เป็นวัตถุดิบผลิตพลาสติกใหม่ แต่มีบางครั้งตรวจเจอขยะพลาสติกไม่สะอาด หรือคุณภาพต่ำ
กระทั่งตั้งข้อสงสัยกันว่า...ประเทศต้นทางหวังนำเข้ามาทิ้งในไทย ที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาขยะท่วมประเทศในอนาคตอันใกล้เร็ววันนี้...
ก่อนหน้านี้...คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีการประชุมครั้งที่ 2/2563 มีวาระพิจารณาแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ และที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกที่มีการนำเข้าซากเพิ่มมากขึ้น
มีการระบุตัวเลขการนำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง...ในปี 2561 นำเข้าในปริมาณ 552,912 ตัน และปี 2562 นำเข้าในปริมาณ 323,167 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2560 นำเข้า 152,738 ตัน ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2560 นำเข้า 54,260 ตัน ปี 2561 ปริมาณ 38,404 ตัน เทียบกับปี 2559 มีปริมาณนำเข้า 1,986 ตัน
...
ก่อนมีนโยบายห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ชั่วคราว การนี้ในที่ประชุมช่วงหนึ่ง...“กรมโรงงานอุตสาหกรรม” ได้มีการเสนอแสดงเจตจำนงของกลุ่มอุตสาหกรรมบางประเภท “มีความจำเป็นต้องขอนำเข้าเศษขยะพลาสติกจากต่างประเทศ” เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ทำให้ที่ประชุมได้ให้กลับไปสำรวจตัวเลขเศษขยะพลาสติกที่มีอยู่ในประเทศ และผู้ประกอบการที่มีความต้องการใช้พลาสติกจริง นำเสนอความต้องการในการประชุมพิจารณาครั้งต่อไป...นั่นอาจหมายความว่าอาจจะยังคงมีการอนุญาตให้นำเข้าขยะพลาสติกในประเทศไทยอีกหรือไม่...
ปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติกในไทยนี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่ปี 2561 “ประเทศจีน” ประกาศห้ามนำเข้าสินค้าประเภท “ขยะมูลฝอย และขยะพลาสติกหลายประเภท” มีการสั่งปิดกิจการโรงงานรีไซเคิลหลายแห่ง ทำให้ช่วงหนึ่ง “ประเทศไทย” นำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น
เพราะ “นักลงทุนต่างชาติ” ย้ายฐานผลิตตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์มาอยู่ในไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เพชรบุรี และราชบุรี
ล่าสุดกำลังจะมีการตั้งโรงงานรีไซเคิลขนาดใหญ่ 7,000 แรงม้า ในพื้นที่ จ.ราชบุรี อีกด้วย
สิ่งที่ตามมา...“อุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติก” ได้ก่อปัญหา ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมรุนแรง เริ่มตั้งแต่ “กระบวนการรีไซเคิล” มักก่อเกิด “มลพิษอากาศ” โดยเฉพาะพีเอ็ม 2.5 และ “ปัญหาน้ำเสีย” ที่ชะล้างทำความสะอาดไหลปะปนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และลงแหล่งน้ำการทำเกษตรกรรม ส่งกลิ่นเหม็น สารพิษอันตราย
ส่วน “กากของเสียจากการรีไซเคิล” ก็เป็นสารอันตรายเช่นกัน แต่มักนำไป “กำจัดด้วยการฝังกลบแบบไม่ถูกวิธี” โดยที่ไม่มีหน่วยงานผู้รับผิดชอบตรวจสอบด้วยซ้ำ ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันตรายร้ายแรง เพราะเกิดจากบางบริษัทไม่รับผิดชอบต่อสังคม มีการลักลอบทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมกันอยู่
...
สาเหตุผลกระทบสิ่งแวดล้อมนี้ทำให้ “ประเทศพัฒนา” ต่างมีความเข้าใจว่า “อุตสาหกรรมรีไซเคิล” มีมลพิษอากาศปนเปื้อนอันตรายสูง และมีความพยายามผลักดันขยะพลาสติกเกรดต่ำออกนอกประเทศ
ยกตัวอย่าง...“ประเทศจีน” ที่เคยนำเข้าขยะพลาสติกอันดับต้นของโลก เพื่ออุตสาหกรรมรีไซเคิล จนเกิดปัญหามลพิษ พีเอ็ม 2.5 ที่มีการศึกษาวิจัยแก้ปัญหามลพิษอากาศ และดิน การปนเปื้อนสารเคมี ทำให้ทราบสาเหตุ “ผลเสียทั้งหมดเกิดจากอุตสาหกรรมรีไซเคิล” และประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกในการรีไรเคิลตามมา...
ย้ำว่า “ประเทศพัฒนา”...จะไม่นิยมให้มีโรงงานรีไซเคิลพลาสติกในประเทศ แต่ถ้ามี “โรงงานรีไซเคิล” ก็ต้องใช้พลาสติกเกรดดี ส่วน “พลาสติกเกรดต่ำ” จะส่งออกมารีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนา ในจำนวนนี้ก็คือ “ประเทศไทย” ที่กำลังถูกกล่าวอ้างว่า จะเปิดให้โควตาผู้ประกอบการนำเข้าใหม่ 6.5 แสนตันในเร็ววันนี้
เมื่อกระแสนี้หลุดออกมาสู่สาธารณะ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทำให้สื่อมวลชนสนใจเกาะติดเรื่องนี้ “กระทรวงอุตสาหกรรม” ต้องชะงักออกมา “ปฏิเสธไม่เป็นความจริง” เพื่อลดกระแสการต่อต้านลง
...
ประเด็นเรื่องนี้มีมากกว่านั้นด้วยซ้ำ เพราะมีการกล่าวอ้างจากคนวงในกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วยว่า กำลังมีความพยายามผลักดันการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศให้ได้ เพื่อในอนาคตจะใช้พื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือเขตอีอีซี เป็นพื้นที่รองรับโรงงานรีไซเคิล และการนำเข้าขยะพลาสติกอย่างเสรี...
ฉะนั้นพื้นที่จังหวัดอื่น...“ห้ามมีการนำเข้าขยะพลาสติก” แต่ในส่วน “เขตอีอีซี” เป็นพื้นยกเว้นให้สามารถนำเข้าได้ ดังนั้นเรื่องนี้ไม่รู้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ในส่วน “ภาคประชาสังคม” คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าเป็นเรื่องจริง...“เขตอีอีซี” จะเป็นแหล่งมลพิษขนาดใหญ่ สร้างความเดือดร้อนรุนแรงให้ชุมชนโดยรอบแน่นอน...
หากย้อนในปี 2561...“รัฐบาลไทย” ก็ได้สั่งห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ชั่วคราวเช่นกัน ที่เกิดจากการลักลอบนำเข้าขยะนี้ และมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ มีข้อสรุปยึดหลัก “อนุสัญญาบาเซล คือ ห้ามเคลื่อนย้ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน 428 รายการ” แต่มาถึงวันนี้ยังไม่มีประกาศประเภทสินค้าต้องห้ามออกมาเลย...
ด้วยก่อนปี 2561 “กระทรวงอุตสาหกรรม” เคยอนุมัติโควตานำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ราว 1 แสนตัน และมีการนำเข้ามาแล้ว 6 หมื่นตัน เมื่อมีเหตุ “ตำรวจ และทหาร” จับกุมผู้ลักลอบนำเข้าขยะ ทำให้ “รัฐบาล” ชะลอการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด มีผลกระทบกระเทือนถึงผู้ประกอบการโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามมา
แต่อาจเป็นเพราะเหตุผล “อิทธิพลของธุรกิจ” แม้เวลาจะผ่านมา 2 ปีแล้ว กลับยังไม่มีประกาศรายการต้องห้ามขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเด็ดขาด แม้ว่าเรื่องนี้จะผ่านการจัดทำฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการ 2 ครั้ง แต่ไม่มีข้อสรุปประกาศใดๆ เมื่อไม่มีการประกาศรายการต้องห้ามก็ย่อมเป็นช่องว่างมีการนำเข้ากันอยู่
...
จนถูกมองว่า...นี่อาจเป็นเพราะข้าราชการบางคนรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ เพราะถ้ามาตรการห้ามนำเข้าทั้งหมดล้มลง ก็จะสามารถนำเข้าขยะพลาสติก หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อไปได้
ตอกย้ำว่า...“ภาคประชาสังคมและคณะกรรมการชุดอื่น” คงต้องมีความเข้มแข็งในการแสดงจุดยืน “ห้ามนำเข้าขยะพวกนี้” เพื่อไม่ให้ “เมืองไทย” ต้องกลายเป็นที่ทิ้งขยะของโลก ในเบื้องต้นเร็วๆนี้ “ภาคประชาสังคม” จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ “รัฐบาล” เพื่อให้พิจารณาห้ามนำเข้าขยะทุกประเภทมาในไทยเป็นการถาวร
ทว่า...“เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการปัญหาขยะพิษ” เคยมีการร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. ...ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เฉพาะในประเทศ เพราะมีผู้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้น จนมีขยะพวกนี้เพิ่มรวดเร็ว
กลายเป็น “ปัญหาสิ่งแวดล้อม” เพราะไม่มีระบบจัดการที่ดี ทำให้ต้องมี “กฎหมายฉบับนี้” ออกมาบังคับ “ผู้ประกอบการ” ต้องนำขยะตัวเองไปกำจัดให้ถูกวิธี หรือรีไซเคิลให้ปลอดภัย เพราะผู้ผลิตจะรู้องค์ประกอบสารตั้งต้น “ผลิตภัณฑ์ตัวเอง” อีกทั้งต้องรับผิดชอบผลร้ายกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นด้วย
และกฎหมายฉบับนี้ยังอาจควบคุมถึง “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” นำเข้ามาประเทศไทยแล้วก็อาจต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน อาทิ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แต่ดำเนินการมา 10 กว่าปี มีการผ่านเข้า “กฤษฎีกา” พิจารณาปรับแก้ไขเพิ่มเติม ในปี 2562 เข้าสู่สภาผู้แทนฯ สุดท้าย “ตกไป” ทำให้ออกมาเป็นกฎหมายไม่ได้
เมื่อยังไม่มีกฎหมายจำเพาะ ย่อมไม่มีกฎระเบียบข้อบังคับชัดเจน “กำจัดขยะพิษให้เป็นมาตรฐานสากล”... “ประเทศไทย” กำลังจะกลายเป็นฐานรองรับขยะทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงต่อสุขภาพคนไทยทั้งประเทศในอนาคต.