จากนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล ภายใต้การขับเคลื่อน ของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บวกกับแนวความคิด “ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” ของเจ้ากระทรวง เพื่อให้การทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ มีความรวดเร็ว ปรับตัวให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลง และสามารถนำพาให้ประเทศไทย “ไปต่อ” หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ขณะที่เวทีการประชุมของ องค์การยูเนสโก ได้ระบุถึงเรื่องการศึกษาแบบเรียนรวมหรือการศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยหลักสูตรที่ยืดหยุ่น วัดผลตามสมรรถนะของเด็ก มีการลงทุนด้านการศึกษาอย่างเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งนายณัฏฐพล ได้กล่าวบนเวทีเดียวกันนี้ว่า แนวทางดังกล่าวของยูเนสโก เป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ กำลังดำเนินการอยู่

โดยหนึ่งในนโยบายการปฏิรูปการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการอยู่ก็คือ การ “ควบรวม” โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า โรงเรียนในสังกัดปี 2563 จำนวน 29,642 แห่ง มีเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นปฐมวัยไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 6,600,745 คน แบ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง-ใหญ่ 14,666 แห่ง มีนักเรียน 5,631,753 คน คิดเป็น 85.32% ของนักเรียนทั้งหมด และโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน อีกจำนวน 14,976 แห่ง มีนักเรียนรวม 968,992 คน คิดเป็น 14.68% ของนักเรียนทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ข้อมูลด้านประชากรในปัจจุบัน จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้นมีจำนวนประชากรเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากในปี 2553 มีจำนวนประชากรในช่วงอายุ 0-4 ปี จำนวน 3,854,712 คน แต่ในปี 2562 มีจำนวนเหลือเพียง 3,185,739 คนเท่านั้น สอดรับกับรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เมื่อปี 2558 ระบุว่า เกือบทศวรรษที่ผ่านมา ระบบการศึกษาไทยต้องประสบปัญหาในการพัฒนาเชิงคุณภาพ ซึ่งทางเลือกหนึ่งที่ทีดีอาร์ไอได้นำเสนอคือ การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อปลายปี 2562 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้ กระทรวงศึกษาธิการจัดทำแผนงานการควบรวมโรงเรียน และเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 และนายณัฏฐพล ได้ชี้แจงแนวทางการควบรวมโรงเรียนต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า ยึดหลักการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจ ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้งรวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550 โดยต้องมีการจัดทำแผนและรับฟังความคิดเห็นของผู้ปกครอง นักเรียนและชุมชน จากนั้นจึงเสนอให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากมีกรณีที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขต้องเสนอให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาอนุมัติ

อย่างไรก็ตามอาจมีโรงเรียนบางแห่งที่ไม่สามารถควบรวมหรือเลิกสถานศึกษาได้ เนื่องจากขาดโรงเรียนหลักรองรับในละแวกใกล้เคียง ก็จะคงสภาพโรงเรียนไว้ หรือให้มีการจัดการศึกษาในรูปแบบพิเศษเฉพาะพื้นที่ ทั้งนี้หากควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 2,000 แห่ง จะประหยัดเงินได้ปีละไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท และนำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อการเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนของเด็กนักเรียนที่ตรงจุด เช่น การจ้างครูต่างชาติสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน การสนับสนุนค่าเดินทาง เป็นต้น

ข้อดีก็คือ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น เนื่องจากมีครูครบชั้น ครบวิชาเอก มีทรัพยากรในการจัดการเรียนการสอนที่เพียงพอ ทั้งนี้การมีนักเรียนในโรงเรียนจำนวนมาก จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างหลากหลาย

สำหรับตัวอย่าง “ความสำเร็จ” ของแผนการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ได้แก่ “แก่งจันทร์โมเดล” จ.เลย โดยนำครูและนักเรียนจากโรงเรียนใกล้เคียง 4-5 แห่ง ระยะการเดินทางไม่ถึง 10 กิโลเมตร มาทำการควบรวมการเรียนการสอน ทั้งการควบรวมชั้นเรียน การควบรวมรายวิชา เพื่อแก้ไขปัญหาครูไม่ครบชั้น ส่งผลให้สัมฤทธิผลการเรียนของเด็กดีขึ้น และเร่ิมได้รับรางวัลทางวิชาการ ซึ่งเห็นผลการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนภายในระยะเวลา 2 ปีนักเรียนมีความมุ่งมั่นตั้งใจเรียน ครูในพื้นที่มีความสุขกับการเรียนการสอน และพร้อมที่จะพัฒนาการสอนให้ดียิ่งขึ้น

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 1 ได้ควบรวมโรงเรียนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 42 โรงเรียน โดยผ่านการเห็นชอบของชุมชน ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาในพื้นที่ทั้งหมด

นี่คือตัวอย่างของความสำเร็จ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ การพัฒนาทรัพยากรเด็กซึ่งจะเติบโตเป็นทุนมนุษย์ของประเทศชาติ

เราคงจะต้อง “ปรับ” เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ได้คือการ “ก้าวเดินต่อ” ไม่เช่นนั้น การศึกษาไทยก็จะยังคงวนเวียนอยู่ในวังวนเก่าๆ ที่ไม่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัด ทั้งเม็ดเงินที่ลงทุนทุกๆ ปี จะเป็นความ “สูญเปล่า”

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างโอกาสให้เด็กทุกคน ให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง