“ตะโขง” หนึ่งในสัตว์เลื้อยคลานที่คนไทยรู้จักกันมานาน จากคำว่า “ไอ้เข้ ไอ้โขง”...เรามักจะเห็นกันแต่จระเข้ น้อยคนมากจะเคยได้เห็น “ตะโขง” ตัวจริงในธรรมชาติ หากไปตามสวนสัตว์บางแห่งเจอแน่นอน
เพราะตะโขงเป็นสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทยมานานแล้ว
เนื่องจากถิ่นที่อาศัยดั้งเดิม ซึ่งเป็นป่าโกงกางธรรมชาติบริเวณปากแม่น้ำติดทะเล ถูกทำลายมาสร้างบ้านแปงเมืองไปจนหมด ปัจจุบันแทบไม่เหลือป่าโกงกางดั้งเดิมในธรรมชาติแล้ว อาจจะยังคงมีเหลือตกค้างอยู่บ้างในภาคใต้ตอนล่างทางฝั่งทะเลอันดามัน
น.สพ.เกษตร สุเตชะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า เมื่อป่าโกงกางลดน้อยถอยลงไป ตะโขงเลยถูกล่ากินเป็นอาหาร โดยอ้างว่า เป็นภัยอันตรายจะมากัดลูกหลาน
ทั้งที่ความจริงตะโขงมีจะงอยปากที่เล็กเรียวเปราะบางมาก กินได้แต่ปลา ปู กุ้งเท่านั้น
เรื่องกัดคนพอทำได้แค่เพื่อป้องกันตัว แต่จะไปกัดคนหาเรื่องให้บาดเจ็บนั้น ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในธรรมชาติ คงจะมีแต่เรื่องเล่าให้ตื่นกลัวเท่านั้น ด้วยเพราะขนาดลำตัวยาวได้ถึง 4.5 เมตร คล้ายจระเข้มาก แตกต่างตรงที่ปากจะแหลมยาวกว่าเท่านั้น
ตะโขงตัวเมีย ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 5-6 ปี มันทำรังโดยพูนดินและวัชพืชขึ้นบนชายฝั่ง เพื่อวางไข่ครั้งละ 20-60 ฟอง ช่วงในฤดูแล้ง และไข่จะฟักเป็นตัวในช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยสามารถเพาะพันธุ์ตะโขงในกรงเลี้ยงได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถหาสถานที่ซึ่งเหมาะสมเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้
สามารถไปชม “ตะโขง” ได้ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และสวนสัตว์สงขลา.