ใครแพร่เก่งใน “โควิด-19” อย่าง แนบเนียนไม่มีอาการคือ...หนุ่มสาวแข็งแรง ทำงานเดินทางแต่ไม่ค่อยมีอาการ ...ถ้าเจอเชื้อจังๆ สัมผัสนานก็อาจจะเสร็จได้

แพร่เก่งอีกกลุ่มคือ “เด็ก” แต่เด็กกลับเกิดอาการรุนแรงได้ ทางหลายระบบ...ถึง 4 ระบบหรือมากกว่า โดย “มี” หรือ “ไม่มี” อาการทางระบบหายใจ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกอีกว่า สำหรับกลุ่มสูงวัย มีโรค เช่น หัวใจ สมอง ตับ ไต มีโรคการอักเสบในตัว แพร่ไม่เก่ง เพราะกระฉับกระเฉงน้อยกว่า แต่ถึงแม้อยู่บ้านก็ยังเสี่ยงที่จะรับเชื้อจากกลุ่มหนุ่มสาวและเด็ก

ศ.นพ.ธีระวัฒน์
ศ.นพ.ธีระวัฒน์

ท่ามกลางความกังวลจากสัญญาณเตือนเฝ้าระวังการระบาดไวรัส “โควิด-19” ระลอกสอง ทุกภาคธุรกิจยังคงจับจ้องจะออกหัวออกก้อย โดยเฉพาะภาค “การท่องเที่ยว”

...

ต้องยอมรับว่า หลายๆคนคาดหวังกันว่าบรรยากาศท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักเฟื่องฟูอีกครั้งจากแผนส่งเสริม “ไทยเที่ยวไทย” กระตุ้นเศรษฐกิจทดแทนทัวร์ต่างชาติที่หายไป

เรื่องนี้ควรให้ความสำคัญ...กับการคัดสรรผู้มีประสบการณ์ เข้าใจตลาดท่องเที่ยวไทย และมีความสัมพันธ์ภาคธุรกิจเอกชนมาบริหารอย่างมืออาชีพ โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้บริหารตลาดในประเทศ ที่ควรต้องมีคุณสมบัติโดดเด่นด้านตลาด...กับอีกหัวหอกที่จะมาดูระบบไอที ที่ต้องเก่งจริง เก๋าจริง

ในสภาวการณ์เช่นนี้...ห้ามเด็ดขาดถ้าจะดึงดันหนุนส่งคนมาจากภาคการเมืองที่อาจจะหมายถึงวังวนเก่าๆ...การส่งท่อน้ำเลี้ยง หรือเพื่อหวังอะไรบางอย่าง...?

หนึ่งในสุ้มเสียงคนในวงการการท่องเที่ยวไทยมากประสบการณ์ ย้ำว่า การกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยต้องยอมรับความจริงที่ว่ารัฐยังคงเป็นแผ่นเสียงตกร่องแจกเงินจ้างคนเที่ยว

ขณะกระทรวงการท่องเที่ยวฯฟุ้ง...ตัวเลขคนไทยเที่ยวกันเองปีนี้ 68 ล้านคนครั้ง โดยไม่เห็นมีสินค้าแปลกใหม่มาสร้างแรงจูงใจ

นอกจากแคมเปญ “คิดแล้วไปให้ถึง” แนวละครบ่อน้ำเสีย? จับต้องไม่ได้...แรงไม่เท่า “AMAZING Thailand” ที่ติดลมบนมาจนบัดนี้ เพราะท่องเที่ยวเป็นสัมผัสจริง

...ไม่ใช่เพ้อฝันเหมือนไปทัวร์โลกพระจันทร์ดาวอังคาร

ย้ำอีกครั้ง...การตั้งเป้า 68 ล้านคนครั้ง นั่นหมายถึงต้องคัดสินค้าตัวใหม่ ดูน่าสนใจพร้อมขายมาเป็นแม่เหล็ก ไม่ใช่จ้างเซเลบมานำเสนอ แล้วตอบโจทย์ว่า...นี่คือการทำตลาดมือฉมัง?

อีกทั้งยังต้องไม่ลืมว่า...มีคนฝากผีฝากไข้ไว้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 3.9 ล้านคน ที่กำลังใกล้จะจมน้ำด้วยมรสุมเศรษฐกิจพิษโควิด-19

ฉายภาพตอกย้ำประเด็นนี้แม้รัฐจะออกมาตรการเยียวยา ผู้ประกอบการด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแล้ว ก็ไม่อาจต่อลมหายใจนักลงทุนรายย่อยให้เดินหน้าต่อไปได้ ทางออกสุดท้ายจึงชิงปิดกิจการกันรายแล้วรายเล่า

แต่...เมื่อ “รัฐ” ยังเลือกส่งเสริมไทยเที่ยวไทยในมิติ “ท่องเที่ยววิถีไทย” เป็นคัมภีร์ผ่อนคลายคนไทย และใส่ใจผู้ประกอบการไปพร้อมการฟื้นฟูเศรษฐกิจบ้านเมือง ก็ต้องมองหาแสงสว่างในความมืดมน...มีสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใดบ้าง ที่ช่วยตอบโจทย์ข้อนี้ได้?

...

จากการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวรัศมีใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งเหมาะกับการเดินทาง 2 วัน 1 คืน และอยู่คู่ทะเลพัทยา ที่พร้อมทุกมิติ อาทิ...สวนนงนุชพัทยา พื้นที่ 1,700 ไร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี คืออาณาจักรที่ตลาดท่องเที่ยวไทยยังเหนียวแน่น และมีรูปรอยท่องเที่ยววิถีไทยชัดเจน

หากทบทวนอดีต...สวนนี้เปิดเมื่อปี 2497 แล้วพัฒนาเป็นสวนพฤกษศาสตร์เต็มรูปแบบปี 2530 เหมือนฝรั่งเศสมีสวนสวยในพระราชวังแวร์ซายส์ ไทยก็มีสวนนงนุชฯเป็นสัญลักษณ์คู่บ้าน

กัมพล
กัมพล

กระทั่งกลายเป็นโบตานิก การ์เด้น มีกิจกรรมโดดเด่นมากมายรองรับ จนเว็บเพจยอดนิยมระดับโลก 26 แห่ง ยกย่องให้ติดอันดับ ท็อปเทนสวนสวยของโลก โดยรัฐบาลไทยไม่ต้องเทงบฯสนับสนุน หากแต่ผลตอบรับด้านชื่อเสียง แน่นอน...มูลค่ามหาศาลกับประเทศ

นับจากช่วงวิกฤติโควิด-19 เมื่อต้นปี หลังการนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้ และปิดสถานที่ท่องเที่ยวให้เป็นสุสานชั่วคราว...กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชฯ รับว่ากระทบหนัก แต่ต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น

...

“เราจึงพลิกวิกฤติเป็นโอกาสให้พันธุ์ไม้ได้พักฟื้น ขณะเดียวกันพัฒนาจุดขายใหม่ เตรียมรับเมื่อสถานการณ์ปกติ โดยใช้ปัจจัยที่มีอยู่เป็นต้นทุนในการสร้างตัวสินค้าเพิ่มเติม”

ช่วงนั้นได้ใช้เวลาที่มีอยู่ปรับปรุงหุบเขาไดโนเสาร์ แหล่งเรียนรู้โลกดึกดำบรรพ์เมื่อ 225 ล้านปี ซึ่งเปิดเมื่อปี 2559 ประกอบด้วย งาน ประติมากรรมปูนปั้นลอยตัวขนาดใหญ่ 700 ตัว จาก 217 สายพันธุ์

ล่าสุดได้ผลิตเพิ่มอีก 12 ตัว จากไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทย 12 สายพันธุ์ที่ขุดค้นพบในแผ่นดินอีสานบ้านเฮา...นอกจากนี้ ก็ได้ปรับปรุงพื้นที่ 5 ไร่ เป็นจุด “ท่องเที่ยวชีวิตวิถีใหม่”...นิวนอร์มอล

นั่นคือ...“สวนลอยฟ้านงนุชพัทยา” หรือ “การ์เด้น อิน เดอะ สกาย” เหมือนอิรักมีสวนลอยโบราณบาบิโลน ริมแม่น้ำยูเฟรติส เกาหลีใต้มีสวนลอยฟ้าเซอูลโล 7017 สิงคโปร์มีการ์เด้น บาย เดอะ เบย์

สวนลอยฟ้านงนุชฯ ดีไซน์เป็นสวน 2 ชั้นในพื้นที่รวม 10 ไร่ ส่วนล่างตกแต่งด้วยไม้ใบและไม้ดอกประเภทชอบน้ำ จากป่าเขตร้อนโดยปลูกไว้กับพื้นดิน อาทิ ปาล์ม หมากสงแคระ หมากผู้หมากเมีย ตะพ้อ สับปะรดสี โกศลไทย ที่ปรับตัวเข้ากับสถานที่และสภาวะอากาศได้

...

หากเหลียวมองในส่วนชั้นบนประดับด้วยไม้เกาะติดกำแพง กับ ห้อยลงมาให้ดูสวยงาม พวกนี้ไม่ถึงกับชอบน้ำ แต่สามารถทนความชื้นอากาศได้ดี ทำให้เกิดภาพ 2 มิติ...มองได้จากล่างขึ้นบน และบนลงล่าง

“บริเวณภายในโล่งกว้างให้คนทิ้งระยะห่างทางสังคม มีการคัดกรอง อุณหภูมิร่างกาย กับแอลกอฮอล์ล้างมือ และขอให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยเที่ยวชมได้ทั้งช่วงฝนตกแดดออก เพราะมีหลังคาโปร่งแสง หรือ จะเดินเชื่อมสกายวอล์กรอบสวนนงนุชยาว 5 กิโลเมตรได้อีกด้วย”

ระหว่างตอบโจทย์ “เที่ยววิถีไทย” ดินแดนแห่งนี้จึงสนับสนุนคนไทยสลับกันไปเที่ยวชมฟรี...สิงหาคมที่ผ่านมา เปิดรับชาวปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ปราจีนบุรี นครนายก สระบุรี คนกรุงเขตพระนคร สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบฯ ยานนาวา บางคอแหลม ปทุมวัน บางรัก สาทร คลองเตย วัฒนา...ส่วนพื้นที่อื่นๆก็คอยติดตามข่าวกันดู

วัชรพล สารสอน รอง ผอ.ททท.พัทยา เสริมว่า สวนนงนุชฯ เป็นหนึ่งตัวอย่างสะท้อนโปรดักส์ท่องเที่ยวชั้นแนวหน้าเมืองพัทยาที่ชาวโลกรู้จัก มีส่วนขับเคลื่อนให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวสู่พัทยา จ.ชลบุรี มากถึงปีละ 18 ล้านคน ททท.พัทยา ได้บรรจุสวนลอยฟ้าไว้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนไทย เพื่อกลับมาเที่ยวซ้ำอีกครั้ง

ท้ายที่สุดนี้ ที่คาดหวังกันว่า 68 ล้านคนครั้ง...ตัวเลขคนไทย เที่ยวกันเองจะสำเร็จได้ ฟันเฟืองต้องหมุนต่อเนื่องตามกันทั้งระบบ เริ่มจากคนระดับมันสมองคิด...วางแผนจัดกลยุทธ์ตลาดเป็นระบบ พร้อมโปรโมชันดีงามเดินคู่กันไปกับโปรดักส์ที่โดดเด่น...ไม่ใช่หลงทิศหลงทางอย่างที่เกิด.

วัชรพล
วัชรพล