ไทยยังเสี่ยงเจอโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ หลังสถานการณ์ทั่วโลกยังน่าห่วง ยอดติดเชื้อพุ่งเร็วไปกว่า 25.4 ล้านคน ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนเจอระบาดระลอกสองค่อนข้างหนัก โดย อินโดนีเซียผงะเจอไวรัสมรณะกลายพันธุ์ ส่วนเมียนมา ยอดคนติดเชื้อพุ่ง ส่งผลแม่ฮ่องสอนสั่งปิดด่านชายแดน 15 วัน-สกัดต่างด้าวลอบข้ามแดนเข้มงวด ขณะที่ไทยเจอติดเชื้อ 1 คน เป็นแหม่มครูสอนภาษามาจากอังกฤษ ด้าน “อย.-อภ.” ให้ความมั่นใจเตรียมพร้อมรับมือหากการระบาดรอบใหม่มาจริง จัดทั้งยา-เวชภัณฑ์-อุปกรณ์ป้องกันไว้เต็มที่ รวมถึงการพัฒนาวัคซีน
แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง 8 เดือนของปีนี้ แต่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วโลกยังไม่มีวี่แววจะแผ่วลง ขณะที่ไทยแม้ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศต่อเนื่องมากว่า 3 เดือน โดยพบผู้ติดเชื้อเฉพาะในกลุ่มคนที่ เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่ภาพรวมยังต้องเฝ้าระวังเข้มข้น เมื่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน มีการระบาดรอบใหม่
ครูสาวชาวอังกฤษติดเชื้อ 1 ราย
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. กรมควบคุมโรค และศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) รายงานข้อมูลสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ว่าวันนี้พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงสัญชาติอังกฤษ อายุ 29 ปี อาชีพรับจ้าง (ครูสอนภาษา) เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร ถึงไทยเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมสามีและลูกสาว เข้าพักในสถานกักตัวทางเลือก (ASQ) ใน กทม. และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อ รวมถึงมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ทำให้ขณะนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อสะสม 3,412 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตอยู่ที่ 58 ราย รักษาหายป่วยแล้ว 3,242 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 95.02 รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 102 ราย โดยเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งหมด
...
ฟิลิปปินส์ติดเชื้อกว่า 4 พัน
ส่วนสถานการณ์อาเซียนในวันนี้ ฟิลิปปินส์ พบผู้ติดเชื้อสูงสุดถึง 4,265 คน ทำให้ยอดติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 217,396 คน อินโดนีเซียมียอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 172,053 คน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,858 คน เมียนมายอดผู้ติดเชื้อขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องล่าสุดมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 775 คนแล้ว โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 42 คน ขณะที่มาเลเซีย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 คน ในรอบประมาณ 1 เดือน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 126 คน
ไทยยังเสี่ยงระบาดรอบใหม่
ต่อมาที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วย ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงข่าวความพร้อมด้านยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกัน และวัคซีน รองรับโควิด-19 ว่า แม้ไทยจะไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มาเกือบ 100 วันแล้ว แต่ในต่างประเทศยังมีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศมีการระบาดในระลอกที่ 2 รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยมีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการระบาดได้
มั่นใจมีเวชภัณฑ์พอรับมือ
รองเลขาฯ อย.กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้สำรอง อุปกรณ์ป้องกัน ชุด PPE หน้ากาก N95 และยาอย่างเพียงพอ โดยสำรองไว้ทั้งในส่วนกลางที่องค์การเภสัชกรรมและในโรงพยาบาลต่างๆ โดยหน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีกว่า 45 ล้านชิ้น เพียงพอใช้ 100 วัน ชุด PPE ทั้งที่เป็นชุดคลุม/เสื้อกาวน์ กว่า 1 ล้านชุด และหน้ากาก N95 จำนวน 2.3 ล้านชิ้น ยาฟาวิพิราเวียร์เพียงพอรักษาผู้ป่วย 8,900 ราย ยาเรมเดซิเวียร์สำหรับผู้ป่วย 33 ราย ส่วนวัคซีนนั้น อย.พร้อมสนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนโดยเร็ว ทั้งที่วิจัยและผลิตขึ้นเองในประเทศ และวัคซีนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
สำรองยารักษาไว้พร้อม
ด้าน ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า สำหรับองค์การเภสัชกรรมในฐานะองค์กรหลักเพื่อความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ ได้สำรองยา ชุด PPE หน้ากาก N95 ไว้อย่างเพียงพอพร้อมกระจายเพื่อนำไปใช้ได้ทันที โดยยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาสำคัญตัวหนึ่งที่ใช้ในการรักษา สำรองอยู่จำนวน 590,200 เม็ด หน้ากาก N95 จำนวน 1,766,510 ชิ้น ชุด PPE แบบ COVERALL จำนวน 445,946 ชุด แบบ ISOLATION GOWN จำนวน 287,759 ชุด
ทำยาเองคาดขึ้นทะเบียนปี 64
ภญ.นันทกาญจน์กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น องค์การเภสัชกรรมยังได้สร้างกลไกการสนับสนุน ยา อุปกรณ์ป้องกัน โควิด-19 ให้กับระบบสาธารณสุขไทยให้เป็นอย่างต่อเนื่อง มั่นคง และการพึ่งพาตนเองของประเทศ โดยได้ทำการศึกษาพัฒนาสูตรตำรับยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผลิตเองในประเทศ คาดว่าจะสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนในเดือนตุลาคม 2564 และได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำการวิจัยพัฒนาการสังเคราะห์วัตถุดิบสารเคมีตั้งต้นยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ค่อนข้างยาก แต่ต้องดำเนินการเพื่อความมั่นคงด้านยาของประเทศ
...
ผลิตชุดป้องกันเชื้อซักได้
ภญ.นันทกาญจน์กล่าวอีกว่า ด้านชุด PPE ได้ร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน ผลิตชุด PPE รุ่นเราสู้ จากฝีมือคนไทย ที่สามารถซักใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง และได้ส่งมอบไปยังสถานพยาบาลต่างๆ แล้วกว่า 44,000 ชุด พร้อมกันนั้น ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมชุด PPE จากเส้นใยรีไซเคิลจากขวดพลาสติก PET ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เป็น “PPE Innovation Platform นวัตกรรมชุด PPE ฝีมือคนไทย มาตรฐานสากล” ที่สามารถป้องกันเชื้อและการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน Level 3 ซักใช้ซ้ำได้มากกว่า 50 ครั้ง โดยถ้าสถานการณ์ที่จำเป็น Platform นี้จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการผลิตชุด PPE ได้ใช้อย่างทันท่วงที รวมทั้งได้ประสานผู้ประกอบการภายในประเทศ ผลิต PPE Level 4 ซึ่งสามารถป้องกันได้ในระดับสูงขึ้น จำนวน 60,000 ชุด โดยจะจัดส่งภายในเดือนกันยายนนี้
ปลายปีรู้แน่ผลวิจัยวัคซีน 3 ตัว
ภญ.นันทกาญจน์ยังกล่าวถึงการพัฒนาวัคซีนด้วยว่าได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในหลายรูปแบบ อาทิ ชนิดวัคซีนอนุภาคเหมือนไวรัส (Virus-like particle) พัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และชนิดวัคซีนโปรตีนซับยูนิต (Subunit vaccine) พัฒนาโดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ ใช้เทคโนโลยีการใช้เซลล์เพาะเลี้ยง และได้ร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) เพื่อวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตายจากการตัดต่อยีนของไวรัสโควิด-19 เข้าไปในยีนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ เพื่อเป็นเชื้อไวรัสตั้งต้น หากสำเร็จจะนำเชื้อไวรัสตั้งต้นนี้ไปผลิตเป็นวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ต่อไป คาดว่าการวิจัยพัฒนาวัคซีนทั้ง 3 ชนิด จะทราบผลเบื้องต้นในปลายปี 2563 การที่องค์การเภสัชกรรมมีโรงงานผลิต (วัคซีน) ชีววัตถุ ที่ใช้ผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในระดับอุตสาหกรรมอยู่แล้ว นับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีศักยภาพและความพร้อมในระดับอุตสาหกรรม ที่สามารถใช้ต่อยอดประยุกต์สำหรับใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้เร็วขึ้น
...
คนไทยเข้าอิสราเอลไม่ต้องกักตัว
วันเดียวกัน นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดี กรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่าได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ว่า วันนี้รัฐบาลอิสราเอลได้ประกาศให้ประเทศไทยและอีก 8 ประเทศหรือพื้นที่อยู่ใน “รายชื่อสีเขียว” เพิ่มเติมจาก 21 ประเทศ ก่อนหน้านี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.2563 ซึ่งหมายความว่า คนไทยและแรงงานไทยในภาคเกษตรและชาวต่างชาติที่เดินทางจากไทยไปอิสราเอล จะไม่ต้องถูกกักกันเชื้อโรค 14 วัน
...
แม่ฮ่องสอนปิดด่านชายแดน
ส่วนการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามแนวชายแดนไทยนั้น นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยหลังร่วมประชุมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดรอบ 2 ภายในประเทศเมียนมา เพื่อเตรียมพร้อมเฝ้าระวังป้องกันว่า ก่อนหน้านี้ได้มีคำสั่งปิดชายแดนช่องทางจุดผ่อนปรนทั้ง 5 แห่ง แต่ผ่อนปรนให้มีการส่งออกเฉพาะสินค้าจำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ แต่การแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศเมียนมา ทำให้ที่ประชุมมีมติเตรียมปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน ทุกช่องทางเป็นเวลา 15 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.เป็นต้นไป โดยห้ามประชาชน ยานพาหนะ และสินค้าทุกชนิดผ่านเข้า-ออกอย่างเด็ดขาด
แรงงานพม่าแอบว่ายน้ำข้ามฝั่ง
ด้านการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองยังคงมีต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 31 ส.ค.นางศิริพร สอนไว ปลัดอำเภอแม่สอด จ.ตาก นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ลาดตระเวนป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย บริเวณพื้นที่หมู่ 2 ต.ท่าสายลวด พบชาวเมียนมา 8 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 3 คน กำลังว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเมยมาจากฝั่ง จ.เมียวดี ประเทศเมียนมาตรวจสอบทั้งหมดไม่มีเอกสารเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร จึงคุมตัวไปตรวจคัดกรอง สอบถามทั้งหมดอ้างว่าเดินทางมาจาก จ.กอกาเร็ก เพื่อมาหางานทำฝั่งไทย และก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 30 ส.ค. เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบชาวเมียนมา 8 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 6 คน พักอาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์ ข้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ทั้งหมดไม่มีเอกสารเดินทาง ตรวจพบมีไข้สูง 2 คน คุมตัวส่ง รพ.แม่สอด และเตรียมดำเนินคดีต่อไป
ปล่อยแถวคุมเข้มตลาดโรงเกลือ
ที่ จ.สระแก้ว พ.ต.อ.ฐนพงศ์ โพธิ์ทิ ผกก.สภ.คลองลึก จ.สระแก้ว พ.ต.อ.อาทิตย์ ยาแก้ว ผกก.ตม.จ.สระแก้ว ร.ต.ธิติวุฒ ยีนุช ผบ.ร้อย ทพ.1201 ร่วมกันปล่อยแถวระดมกำลังตรวจเข้มร้านค้าชาวกัมพูชาในตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้ามาค้าขายและลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะมีการตรวจเอกสารการอนุญาตทำงานในประเทศไทยของพ่อค้าและกรรมกรชาวกัมพูชา ส่วนใหญ่เข้ามาอยู่ก่อนเกิดการระบาด เมื่อมีการปิดด่านพรมแดนทำให้ชาวกัมพูชาตกค้างอยู่ในประเทศ ไทย รัฐบาลได้อนุโลมให้อยู่ต่อ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ชาวกัมพูชาที่ถือหนังสือเดินทางให้รีบไปยื่นขออยู่ต่อและแจ้งที่พักอาศัย 90 วัน ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว จะหมดเขตการอนุโลมในวันที่ 26 ก.ย.นี้ หากไม่ไปยื่นจะถูกส่งตัวกลับทันที
อินโดฯพบไวรัสกลายพันธุ์
สำหรับการระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. สถาบันอีจค์มานเพื่อชีวโมเลกุล ในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียระบุตรวจพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ในตัวอย่างกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นไวรัสสายพันธุ์ D614G ซึ่งกลายพันธุ์จากไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดแรกเริ่มที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีนเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้เป็นตัวการทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในอินโดนีเซียเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันหรือไม่ ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า D614G ที่แพร่เชื้อต่อได้แต่พิษภัยจะไม่รุนแรงเท่ากับไวรัสสายพันธุ์เดิมจากอู่ฮั่น ที่ถูกตรวจพบเมื่อเดือน ก.พ.และพบระบาดกระจายในแถบยุโรปและทวีปอเมริกา เมื่อเร็วๆนี้ยังตรวจพบที่สิงคโปร์และมาเลเซียด้วย ขณะที่ฟิลิปปินส์ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในอาเซียน เลือกโรงพยาบาล 5 แห่ง เข้าร่วมการทดลองวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 “โคโรนาแวค” ของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทคของจีนแล้ว
ห่วงไวรัสทำผู้ลี้ภัยยะไข่เดือดร้อน
ด้านองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ในเมียนมา เผยว่า ผู้ลี้ภัยนับหมื่นคนที่รัฐยะไข่ของเมียนมากำลังขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคพื้นฐาน ค่ายที่พัก ส่วนใหญ่มีสำรองใช้เพียง 1 สัปดาห์ อีกทั้งยังวิตกเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งรัฐยะไข่เป็นศูนย์กลางการระบาดระลอก 2 ของประเทศ โดยพบการระบาดในท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 1 เดือนที่ซิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. โดยยอดผู้ติดเชื้อสะสมเมื่อวันที่ 30 ส.ค.อยู่ที่ 775 คน ในจำนวนนี้มี 329 คนอยู่ในรัฐยะไข่ ปัญหาการขาดแคลนดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะยอดการบริจาคน้อยลงและยังมีลูกจ้างของกลุ่มเอ็นจีโอที่ดูแลจัดส่งของช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอยู่ในกลุ่มผู้ติดเชื้อด้วย
อินเดียยอดพุ่งไล่เบียดบราซิล
ส่วนที่อินเดียที่มีผู้ติดเชื้อรายวันยืนพื้นที่ตัวเลข 75,000 คนมาตลอด 4 วันที่ผ่านมา สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังพุ่งสูงมากกว่าทุกประเทศในโลก โดยเมื่อวันที่ 31 ส.ค.มีผู้ติดเชื้อ รายใหม่อยู่ที่ 78,512 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในอินเดียเพิ่มเป็น 3.62 ล้านคน ผู้เสียชีวิต 64,646 คน โดยอินเดียมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากบราซิล ที่มีผู้ติดเชื้อ 3.86 ล้านคน ผู้เสียชีวิต 1.20 แสนคน ส่วนสหรัฐฯมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดในโลก อยู่ที่ 6.17 ล้านคน และ 1.87 แสนคน ตามลำดับ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลกอยู่ที่ 25.40 ล้านคน ผู้เสียชีวิตทั่วโลก 8.50 แสนคน รักษาหายทั่วโลก 17.71 ล้านคน
อียูสมทบ 1.4 หมื่น ล.ซื้อวัคซีน
สหภาพยุโรป (EU) ระบุจะจัดสรรงบประมาณ 400 ล้านยูโร (ประมาณ 14,835 ล้านบาท) สมทบเข้าโครงการแนวคิดริเริ่มจัดซื้อวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า “COVAX” ตั้งเป้าจัดซื้อวัคซีน 2,000 ล้านโดสภายในปีหน้า จากหลายบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่อยู่ระหว่างเร่งพัฒนาและทดลองแต่ยังไม่มีวัคซีนตัวใดผ่านการทดลองระยะสุดท้าย (เฟส 3)