แม้เวลาผ่านมานานกว่า 3 ทศวรรษ นับแต่การจากไปของ “สืบ นาคะเสถียร” อดีต หน.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง “วีรบุรุษผู้สละชีวิต” เพื่อคุ้มครองผืนป่าอันเป็นที่รัก ที่จุดประกาย “สังคม” หันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่าของชาติ

แต่ภารกิจสืบทอดเจตนารมณ์นี้ได้ถูก “ถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น” ผ่าน “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ในการสานต่อปณิธานแนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทรัพยากรอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนมาจนถึงวันนี้...

ด้วยการสร้าง “อนุสรณ์รูปปั้น สืบ นาคะเสถียร” ตั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อันเป็นเชิงสัญลักษณ์จิตวิญญาณ “คนรักป่า” มีการวางรากฐาน “กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า” ผลักเป็นนโยบาย “มูลนิธิผู้พิทักษ์ป่าและรักษาทะเล” เพื่อดูแลช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ภายใต้งานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

...

ในวันที่ 1 ก.ย.2563 นี้ ถือว่า “ครบรอบ 30 ปี ในการจากไป สืบ นาคะเสถียร” วีรบุรุษในความทรงจำของ โน๊ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงหนุ่มที่หันมามีบทบาทงานอนุรักษ์ธรรมชาติ ถ่ายทอดให้ฟังว่า ในส่วนตัวแล้ว “หัวหน้าสืบ” เปรียบเสมือน “ฮีโร่” ที่เป็นคนต้นแบบ “ความกล้าหาญ” ในเรื่องความซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ของตัวเอง

การจากไป “หัวหน้าสืบ” ไม่เป็นการสูญเปล่า แต่กลับพลิกผันจุดประกายกลายเป็นกระบอกเสียงสะท้อนให้กับ “สัตว์ป่า” ไม่เคยมีโอกาสพูดเรียกร้องสิทธิของตัวเอง ที่ท่านมักเอ่ยก่อนการบรรยายเสมอว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว” จนคนหันมาตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “สัตว์ป่า” มาตลอดนี้

โดยเฉพาะ “ความกล้าหาญ” ในเหตุการณ์ช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการเขื่อนเชี่ยวหลาน สมัยนั้น “หัวหน้าสืบ” เป็นหัวหน้าทีมอพยพสัตว์ป่าหนีน้ำท่วมติดค้างตามเกาะต่างๆ และจมหายลงใต้น้ำ

แม้ว่าท่านรับข้าราชการกรมป่าไม้ และเป็นหัวหน้าชุดอพยพสัตว์ป่าเหตุการณ์นี้ แต่กล้ายอมรับ “ต่อความล้มเหลว” ที่ไม่สามารถช่วยเหลือสัตว์ป่าได้สำเร็จ จนทำให้รู้สึกประทับใจ “ความกล้าออกมายืนหยัดต่อความถูกต้อง” กลายมาเป็น “ฮีโร่แรงบันดาลใจ” ในยามเราต้องเผชิญความทุกข์ยากลำบากของงานอนุรักษ์

ไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคแก้ปัญหาได้ก็นึงถึง “หัวหน้าสืบ” ทำให้มีแรงใจฝ่าอุปสรรคได้เสมอ

ยุคปัจจุบันนี้...“สืบ นาคะเสถียร” ได้กลายเป็นเสมือน “สตาฟฟ์” ในงานด้านอนุรักษ์คนแรก ผู้ริเริ่มแนวคิด “อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้” เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีใช้กัน เพราะ “ป่าไม้” มีคุณค่าต่อการผลิตออกซิเจน ผลิตน้ำ ที่เป็นแหล่งห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด

เมื่อเป็นเช่นนั้น...“หัวหน้าสืบ” ได้ให้ความสำคัญกับ “ผู้พิทักษ์ป่า” ในการทำหน้าที่ปกป้อง “คน” ให้พ้นจากภัยธรรมชาติ และการปกป้องธรรมชาติให้พ้นจากการทำลาย แต่ด้วยคราวนั้น “ระบบสวัสดิการค่าตอบแทนไม่ดี” มักเผชิญเหตุ “ตกเบิก” ทำให้ “หัวหน้าสืบ” ต้องนำเงินครอบครัวมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่อยู่บ่อยครั้ง

...

สิ่งนี้กลายเป็น “มรดก” ตกทอดลงมาสู่ “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” มีการวางรากฐาน “กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า” เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์ป่า ในการช่วยเหลือครอบครัว หรือบุตรธิดาของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่สละชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่และดูแลผู้พิทักษ์ป่าได้บาดเจ็บ

ก่อนผลักดันในระดับนโยบายเป็น “มูลนิธิผู้พิทักษ์ป่าและรักษาทะเล” ที่ดูแลช่วยเหลือเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งในช่วงราวปี 2532...“หัวหน้าสืบ” ยังได้ทำแผนแม่บทการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ห้วยขาแข้งร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ กลายเป็นต้นแบบขยายไปสู่การจัดการพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ และริเริ่มผู้เขียนรายงานเสนอให้ผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ” จนได้ขึ้นทะเบียน “มรดกโลก” มาถึงวันนี้

ทำให้การดูแลรักษาผืนป่านี้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการ “ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ” เจ้าหน้าที่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) จัดระบบการเก็บ วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ที่ไม่ใช่การ “ถือปืนลาดตระเวน” เหมือนอดีตอย่างเดียวอีกต่อไป

...

กระทั่ง “ผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง” มีความอุดมสมบูรณ์หลากหลายทางพันธุกรรมพืชและสัตว์นานาชนิด โดยเฉพาะช้าง กระทิง วัวแดง เสือเกือบทุกชนิด เช่น เสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ เสือไฟ

ตอกย้ำ...“ยกระดับปกป้องป่าและการล่าสัตว์ป่า” ที่ต้องเข้มข้นเพิ่มขึ้น เพราะภัยคุมคาม “การล่าสัตว์ป่า” ยังมีเกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น เมื่อ 2-3 ปีก่อนนี้ “จับกุมนายพรานชาวเวียดนาม” นั่งเครื่องบินเข้ามาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งโดยเฉพาะ เพื่อทำการ “ล่าเสือโคร่ง” นำไปขายในประเทศเวียดนามตัวละ 1 ล้านบาท

ส่วนตัวแล้ว...“ชื่นชอบท่องเที่ยวป่ามาตั้งแต่เด็ก” เพราะ “พื้นที่ป่า” มีความสงบเงียบ ในบางครั้ง “คนเมือง” ก็มีเรื่องกระทบจิตใจอยู่ตลอด ทำให้ถอยห่างความเร่งรีบของ “วงการบันเทิง” มาผ่อนคลายด้วยการ “เดินป่า” ก่อนหันมาสนใจ “ถ่ายภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติ” สะท้อนชีวิตสัตว์ป่าและความสวยงามธรรมชาติ

...

อีกทั้ง “ป่าไม้” ยังมีสิ่งมหัศจรรย์ตื่นตาตื่นใจมากมาย มีทั้งร้อน เหนื่อย เมื่อย รำคาญแมลง โดยเฉพาะเมื่อเห็นสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น “เสือโคร่ง” มีความรู้สึกเหมือนดูหนังคนละม้วนกับ “เสือในสวนสัตว์” ที่มีแต่ความน่าสงสาร เพราะ “ธรรมชาติเสือโคร่ง” มีอาณาเขตแหล่งอาศัย 100 ตร.กม. กลับต้องมาอยู่ในกรงขนาดเล็กเช่นนี้

ดังนั้น ถ้าต้องการ “อนุรักษ์สัตว์ป่า” ก็ต้อง “ปกป้องป่าไม้” ให้ได้ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวจุดเริ่มต้นความหลงใหล ก่อตัวกลายเป็นความหวงแหน ก่อร่างเป็นอุดมการณ์ จนตัดสินใจร่วมเดินเท้าคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก่อนเข้ามาเป็นกรรมการมูลนิธิสืบฯ เพื่อเป็นอีกแรงในการอนุรักษ์ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์คงไว้ตลอดไป

โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิภาพ สวัสดิการ “ผู้พิทักษ์ป่า” แม้ทำงานอยู่กับความเสี่ยงภัยอันตรายไม่น้อยกว่าทหาร ตำรวจ แต่สวัสดิการที่ยังด้อยกว่ามาก จึงอยากให้ “ภาครัฐ” ทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนกว่านี้...

ประเด็น...“อุดมการณ์เด็กรุ่นใหม่” กำลังเป็นโจทย์ใหญ่ เพื่อให้มีความเข้าใจในการ “สืบทอดงานอนุรักษ์” เพราะยุคนี้ไม่เหมือน “ยุคของหัวหน้าสืบ” ที่ยอมเสียสละเพื่อการอนุรักษ์สัตว์และป่าไม้ ที่มีแนวคิดบริบทเปลี่ยนแปลงจากเดิม กลายเป็นเรื่องของความคิดของคน 3 เจเนอเรชัน คือ เจนบีและเอ็กซ์...คนเกิดปี 2489-2522

เจนวาย...คนเกิดปี 2523-2540 และเจนแซด...คนเกิดหลังปี 2540 เพราะ “คนรุ่นใหม่” มีความเป็นตัวตนค่อนข้างสูง อีกทั้งมีข้อมูลเข้าถึงง่ายบนโลกออนไลน์ ทำให้สามารถติดสินใจได้เอง ประกอบกับ “คนรุ่นเก่า” และ “คนรุ่นใหม่” ก็มีมุมมองแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

โน๊ต บอกว่า “คนรุ่นเก่า” เคยผ่านเรื่องราวมากมาย ในการใช้ชีวิตย่อมระมัดระวังตัว ส่วน “คนรุ่นใหม่” เปรียบเสมือน “คนมีไฟ” มุ่งมั่นการแสดงออก ที่เรียกว่า “แพชชั่น” มีความกระตือรือร้น เชื่อว่า “ในใจตัวเอง” มีความคิดเรื่องนั้น “ไม่ถูกต้อง หรือไม่ยุติธรรม” ย่อมไม่มีปัญหาในการออกมาเรียกร้องคัดค้านต่อต้านนี้

อย่างเช่น ในช่วงตัวเองร่วมคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ คราวนั้นจำได้ว่า ไม่มีเพื่อนคนใด...สนับสนุนอยากไปร่วมด้วย แต่เพราะ “ในใจ” รู้สึกถึงความไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม ทำให้ต้องออกไปยืนแสดงการคัดค้านให้ได้ แต่อยากให้ทุกคนคิดจิตนาการด้วยว่า สิ่งที่ทำนั้นควรก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมสูงสุดด้วย

โดยเฉพาะ “สิ่งแวดล้อม” เพราะเป็นเรื่องที่ต้องมาเผชิญ ประสบเคราะห์กรรมร่วมกัน เช่น พีเอ็ม 2.5 ที่เกิดจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ทำให้เป็นเรื่องที่ไม่ใช่สิ่งไกลตัวที่ต้องช่วยกันรักษาให้ดี

ที่ผ่านมา บทบาทสำคัญ...“มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ได้ทำหน้าที่ “ถ่วงดุล” คัดค้านโครงการที่มีผลกระทบต่อผืนป่าอนุรักษ์ที่สำคัญของประเทศ มีการทำงานเชิงรุกเสนอทางเลือกอื่น ด้านการพัฒนา ร่วมหาแนวทางทำงานการอนุรักษ์ และพัฒนาสามารถเดินไปด้วยกันได้

“ครบรอบ 30 ปี ในการจากไป สืบ นาคะเสถียร” ผู้กล้าหาญ หวังว่า “งานอนุรักษ์ป่าไม้” ต้องมีผู้สืบทอดต่อ ให้เกิดการถ่วงดุลจากสาธารณชน มิเช่นนั้นพื้นที่ป่าประเทศไทยอาจลดลงไปมากกว่านี้เป็นแน่.