• การผ่าตัดเย็บกระเพาะ คือการทำให้ "กระเพาะอาหาร" ที่ใหญ่เล็กลง เพื่ออิ่มง่ายขึ้น
  • วิธีผ่าตัดมี 4 แบบ แต่จะเลือกวิธีไหน ขึ้นอยู่กับคนไข้และการวินิจฉัยของหมอ
  • ข้อเสีย อาจเกิด "ภาวะการขาดวิตามินและแร่ธาตุ" ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องกินวิตามินตลอดชีวิต

ปัจจุบัน "โรคอ้วน" เป็นปัญหาสำคัญของประชากร ทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร รสหวาน มัน เค็ม เพิ่มขึ้น รับประทานผักและผลไม้น้อยลง และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา ที่สำคัญยังเป็นปัจจัยต่อการเกิดโรคต่างๆ อย่าง โรคหัวใจ, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง

สำหรับคนที่มีภาวะ โรคอ้วน สามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย หรือการเลือกใช้ทางลัด อย่างการ ผ่าตัดกระเพาะอาหาร โดย น้องอุ้ม หญิงสาวผู้มีประสบการณ์ "ผ่าตัดกระเพาะอาหาร" เริ่มเล่าข้อมูลให้ "กนก" ฟังว่า ตอนตัดสินใจไปผ่าตัดเย็บกระเพาะ เพราะรู้สึกว่าตัวเองอ้วนมาก ทีแรกไม่ได้อ้วนเท่าไร แต่พอมีลูกแล้ว น้ำหนักตัวพุ่งขึ้น บวกกับเป็นคนตัวเตี้ย จึงทำให้ดูอ้วน

จากนั้นจึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลการลดความอ้วน จนมาเจอการผ่าตัดกระเพาะอาหาร พอตัดสินใจจะทำ ก็ได้เข้าปรึกษาหมอ เริ่มแรก หมอแนะนำให้ลดน้ำหนักเอง พบนักกายภาพ นักโภชนาการ เพื่อตรวจโรคประจำตัว ซึ่งตอนนั้นมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน

...

ขณะที่ก่อนผ่าตัด หมอได้นัดให้มานอนโรงพยาบาล เพื่อทำการส่องกล้องตรวจกระเพาะ ดูความผิดปกติภายในกระเพาะ พร้อมอัดแก๊สลงไปเพื่อดูว่ากระเพาะรั่วหรือไม่ หลังจากนั้นก็ให้งดน้ำงดอาหาร เพื่อรอผ่าตัดเย็บกระเพาะ โดยหมอให้ดมยาสลบ และใช้เวลาผ่าประมาณ 2 ชั่วโมง

หลังจากผ่าตัดกระเพาะเสร็จ รู้สึกเจ็บมากบริเวณแผลที่ผ่า ต้องอาศัยยาแก้ปวด ตอนนั้นทานอะไรไม่ได้เลย จิบน้ำอย่างเดียว และต้องเดินให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ท้องอืด ไม่ให้แผลเป็นพังผืด ซึ่งวันแรกแค่จิบน้ำก็เจ็บแล้ว รวมทั้งยังมีอาการอาเจียนร่วมด้วย จากเมื่อก่อนจะกินข้าวประมาณ 1 จาน หรือมากกว่านั้น แต่หลังผ่าตัดกินได้แค่ประมาณ 5 ช้อนโต๊ะ ถ้ากินมากกว่านี้จะอาเจียน

ก่อนตัดสินใจผ่าตัดกระเพาะ น้ำหนักตัวอยู่ที่ 105 กิโลกรัม โดยใช้เวลาเริ่มปรึกษาหมอตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 จนได้คิวผ่าประมาณช่วงมีนาคม 2562 ตอนนี้ผ่านไป 1 ปีกว่า ปัจจุบันน้ำหนักอยู่ที่ 65 กิโลกรัม สำหรับช่วงที่ทำแล้วคิดว่าทรมานที่สุด คือ ช่วงส่องกล้อง รู้สึกเหมือนอะไรติดคอตลอดเวลา ใช้เวลาประมาณ 5 นาที แม้ไม่นานแต่มันทรมานที่สุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่น้ำหนักลดลงเยอะขนาดนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ผ่าตัดเย็บกระเพาะอย่างเดียว แต่ต้องควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย เนื่องจากน้ำหนักที่ลดเร็วทำให้ร่างกายมีส่วนหย่อนคล้อย จึงต้องบริหารเป็นส่วน กำหนดไว้ว่าต้องออกกำลังกายอาทิตย์ละประมาณ 3 วัน และหมอก็แนะนำให้กินโปรตีน เนื่องจากหลังผ่าตัดร่างกายต้องการโปรตีนและธาตุเหล็กมาก แต่ไม่แนะนำให้กินผัก

ขณะที่ พญ.มรกต สุวรรณาการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมโภชนศาสตร์คลินิก รพ.จุฬาภรณ์ เปิดเผยข้อมูลว่า การผ่าตัดเย็บกระเพาะอาหาร มักจะใช้กับคนไข้ที่มีภาวะอ้วน ซึ่งคนไข้ที่จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วน คือ มีค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน โดยคนไข้ที่เราจะพิจาราณามาผ่าตัดเย็บกระเพาะอาหาร ต้องเป็นโรคอ้วนที่เรียกว่า โรคอ้วนอย่างรุนแรง หรือเป็นโรคอ้วนที่มีภาวะแทรกซ้อนแล้ว เช่น ค่าดัชนีมวลกายเกินนิดหน่อย แต่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

การผ่าตัดเย็บกระเพาะช่วยอะไร ทำไมถึงรักษาโรคอ้วนได้

1. ต้องเข้าใจหลักการก่อนว่า เป็นการผ่าตัดที่จะทำให้ทางเดินอาหารหรือกระเพาะอาหาร จากที่มันใหญ่ให้เล็กลง เพื่อทำให้อิ่มง่ายขึ้น

2. เป็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องของฮอร์โมนในลำไส้ กระเพาะอาหาร ซึ่งจะส่งสัญญาณไปควบคุมกับความหิว อิ่ม ที่อยู่ในสมอง ทำให้คนไข้อิ่มมากขึ้น ทำให้อาการอยากอาหารน้อยลง

การผ่าตัดเย็บกระเพาะอาหาร มีด้วยกัน 4 แบบ

1. การรัดกระเพาะ คือการใส่สายยางเข้าไปรัดกระเพาะ ซึ่งสามารถปรับลดหรือขยายในส่วนนี้ได้ โดยจะใช้วิธีรัดกระเพาะเอาไว้ จากเดิมมีขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง ฉะนั้นอาหารที่คนไข้ทานเข้าไป จากที่ต้องทานปริมาณมากถึงจะอิ่ม แต่ตอนนี้ปริมาณกระเพาะที่เล็กลง ทำให้ทานเข้าไปนิดเดียวก็รู้สึกอิ่มแล้ว สำหรับวิธีนี้ ถ้าคนไข้น้ำหนักลดลงจนพอใจแล้ว สามารถคลายตัวที่รัดกระเพาะได้

2. การผ่าตัดกระเพาะ คล้ายรูปกล้วย คือปกติกระเพาะของคนเราจะมีลักษณะคล้ายรูปกล้วย หมอจะใช้วิธีเฉือนส่วนหนึ่งของกระเพาะออกไป ทำให้มันเล็กลง หลักการเหมือนกันคือ เวลาทานอาหารเข้าไปแล้ว ทานเพียงนิดเดียวก็รู้สึกอิ่ม เนื่องจากกระเพาะเล็กลง

...

3. การทำบายพาส คือการตัดกระเพาะให้เล็กลง ร่วมกับมีการนำลำไส้เล็กส่วนกลางขึ้นมาต่อกับกระเพาะเลย ปกติร่างกายคนเราจะต้องลงไปที่กระเพาะก่อนแล้วต่อที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ไปที่ลำไส้เล็กส่วนกลาง แต่อันนี้ไม่ใช่ เพื่อทำให้อาหารผ่านไปที่ลำไส้เล็กส่วนกลาง เพื่อให้การดูดซึมอาหารน้อยลง วิธีนี้จะลดน้ำหนักได้ดีกว่า 2 วิธีแรก เพราะมีทั้งการลดขนาดของทางเดินอาหารหรือกระเพาะ บวกกับมีการบายพาสอาหาร ทำให้อาหารที่ลงมายังลำไส้เล็ก ดูดซึมได้น้อยลง เพราะมันผ่านมาเร็วขึ้น ก็คืออิ่มเร็วนั่นเอง

4. วิธีนี้จะคล้ายวิธีที่ 3 แต่จะบายพาสเยอะกว่า คือจะนำลำไส้ส่วนปลายขึ้นต่อ แล้วสลับข้างของลำไส้กันด้วย ทำให้โอกาสที่อาหารจะถูกดูดซึมมันจะยิ่งน้อยลงไปอีก ซึ่งคนไข้ไม่ค่อยได้ทำกันแล้ว เนื่องจากหลังจากทำเสร็จ คนไข้มีภาวะขาดสารอาหาร ปัจจุบันจึงไม่เป็นที่นิยม

ส่วนใหญ่คนไข้ที่มาผ่าตัดเย็บกระเพาะอาหาร มักใช้วิธีที่ 2 และ 3 แต่การที่จะตัดสินใจว่าจะเลือกวิธีไหน ต้องขึ้นอยู่กับคนไข้และหมอ ซึ่งต้องประเมินร่วมกัน อย่างแรกคนไข้ต้องรู้ตัวเองก่อนว่าตอนนี้น้ำหนักเท่านี้แล้ว ตั้งใจที่อยากจะลดน้ำหนักลงมาประมาณเท่าไร เพราะว่าแต่ละวิธีนั้น การลดน้ำหนักมากน้อยก็ไม่เหมือนกัน มันจะเรียงลำดับเลยว่าวิธีที่ 3 จะลดได้มากกว่าวิธีที่ 2 ส่วนวิธีที่ 2 จะลดได้มากกว่าวิธีที่ 1 อันนี้อ้างอิงจากการศึกษาคนไข้ที่เคยผ่า

...


อ้วนแบบไหน ไม่สามารถผ่าตัดกระเพาะอาหารได้

1. คนท้อง ให้นมบุตร หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ คนไข้กลุ่มนี้หมอจะไม่แนะนำให้ทำ

2. คนที่มีข้อห้ามของการผ่าตัดทั้งหลาย ปกติเวลาจะผ่าตัดต้องมีการพูดคุยกับคนไข้ เช่น สมมติว่าคนไข้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจรุนแรง อยู่ในสภาวะที่ไม่พร้อมจะผ่าตัด แบบนี้จะต้องให้คุณหมอหัวใจประเมินก่อนว่าร่างกายคนไข้พร้อมที่จะผ่าตัดหรือไม่ เพราะการที่จะนำคนไข้ไปผ่าตัดทุกอย่างนั้น มันมีความเสี่ยง

3. คนไข้ที่มีปัญหาด้านจิตเวช เนื่องจากคนไข้กลุ่มนี้ต้องทานยาที่สำคัญต่อชีวิตประจำ ซึ่งหลังจากผ่าตัด บางทีการดูดซึมของยาอาจมีความผิดปกติ ฉะนั้นอาจทำให้เกิดการควบคุมโรคทางจิตเวชไม่ได้ รวมทั้งคนไข้จิตเวช ที่ไม่สามารถควบคุมความหิวอิ่มของตัวเองได้ เพราะอาจมีภาวะจิตใจที่ไม่ปกติ ผ่าตัดไปก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะผ่าตัดทุกครั้ง แพทย์ต้องบอกกฎเหล็กกับคนไข้ คือ ต้องสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เนื่องจากคนอ้วนที่จะลดน้ำหนักได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่การผ่าตัดเพียงอย่างเดียว การผ่าตัดเหมาะที่จะทำให้คนไข้อิ่มเร็วขึ้น แต่ยังขึ้นอยู่ที่ เมื่อคนไข้อิ่มแล้ว สามารถอดทนต่อความอยากกินต่อได้หรือไม่

เพราะฉะนั้น สิ่งที่คนไข้ต้องทำควบคู่คือ เมื่ออิ่มต้องไม่กิน ต้องหยุดให้ได้ ถือเป็นหัวใจสำคัญ เช่น มีคนไข้หลายคนที่ผ่าตัดไปแล้ว กินเยอะ อิ่มแล้วแต่ยังหยุดกินไม่ได้ ทำให้การผ่าตัดไม่ได้ผล ทำให้แผลที่ผ่าตัดเกิดภาวะแทรกซ้อน

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดเย็บกระเพาะอาหาร

1. การเตรียมตัวแบบใช้ระยะเวลา คือ คนไข้ต้องทำตามกฎเหล็กที่หมอให้การบ้านไปให้ได้ก่อน คือต้องควบคุมความหิว ความอิ่ม ให้ได้ ต้องไม่ทานน้ำหวานให้ได้ ต้องออกกำลังกายให้เป็น คือจะให้คนไข้เรียนรู้ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ว่าก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัด ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ถ้าคนไข้ไม่ทำ การผ่าตัดก็ไม่ได้ผลแน่นอน อาจจะต้องเสียเงินไปฟรีๆ

...

รวมทั้งให้คนไข้ลดน้ำหนักให้ได้ก่อนที่จะผ่าตัด เนื่องจากถ้าคนไข้ทำได้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่อยากจะลดน้ำหนัก รวมทั้งจะช่วยทำให้หมอผ่าตัดง่ายขึ้น เพราะขนาดหน้าท้องที่เล็กลง

2. ประเมินคนไข้ก่อนผ่าตัด คือ ต้องผ่านคุณหมออายุรกรรม ถ้าคนไข้มีโรคหัวใจ ก็ต้องผ่านคุณหมอโรคหัวใจ คนไข้ต้องถูกประเมินดูว่ามีโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือไม่ เนื่องจากคนอ้วนส่วนใหญ่จะเป็นโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับบ่อย รวมทั้งต้องเช็กประวัติว่า คนไข้เคยปวดท้องเป็นโรคกระเพาะหรือไม่ ต้องไปส่องกล้อง เพื่อดูการติดเชื้อในกระเพาะก่อน ถ้ามีก็ต้องจัดการให้เรียบร้อย

3. ก่อนผ่าตัด คนไข้ต้องงดน้ำงดอาหาร เหมือนวิธีผ่าตัดทั่วไป


ข้อดีของการผ่าตัดเย็บกระเพาะอาหาร

ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนได้ อย่างคนไข้กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มีโรคแทรกซ้อนคือ เบาหวาน, ความดัน, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ การที่พวกเขาจะลดน้ำหนักด้วยตัวเอง อาจจะทำให้น้ำหนักลงช้า แต่การที่หมอช่วยผ่าตัดเย็บกระเพาะ จะช่วยทำให้อิ่มเร็วขึ้น ถ้าไม่ผ่าตัด กว่าจะสามารถปรับหรือควบคุมพฤติกรรมการกิน ความหิว อิ่ม ได้นั้น ก็ต้องใช้เวลาระดับหนึ่ง

อีกอย่างคือ การผ่าตัดเป็นการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในลำไส้ที่ควบคุมการหิว อิ่มด้วย อันนี้ก็จะช่วยได้อีกทางหนึ่ง คนไข้ก็จะลดน้ำหนักได้เร็ว

ยกตัวอย่าง กรณีคนไข้รายหนึ่ง มีน้ำหนักตัว 150 กิโลกรัม ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากคนไข้เป็นโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ จนทำให้ความดันในหลอดเลือดปอดมันสูง ซึ่งแบบนี้ ถ้าเราปล่อยให้คนไข้ลดน้ำหนักเอง เขาก็ลดไม่ไหว ใช้เวลานาน ทำให้มีความจำเป็นในการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ถ้าไม่ทำอาจส่งผลให้เจอโรคแทรกซ้อนอีกมากมาย

ข้อเสียของการผ่าตัดเย็บกระเพาะอาหาร

1. มีความเสี่ยงในการผ่าตัด

2. ภาวะแทรกซ้อน ก็อาจเกิดขึ้นได้

3. ภาวะการขาดวิตามิน เนื่องจากการผ่าตัดแบบนี้ อาหารจะถูกดูดซึมไม่หมด ดูดซึมไม่ดี บวกกับคนไข้กินได้น้อย ส่งผลให้ได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณน้อยลง ฉะนั้นจะต้องกินวิตามินตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม มีคนไข้บางรายถามว่า ไม่กินวิตามินได้หรือไม่ หมอจึงได้ตอบว่า ถ้าไม่กินโรคภาวะการขาดวิตามินจะตามมา เช่น คนไข้อาจจะขาดวิตามินบี 12 ซึ่งจะส่งผลให้คนไข้มีภาวะซีด ภาวะเกี่ยวกับระบบประสาท การเดิน การทรงตัวผิดปกติ ทำให้หมอเคร่งครัด และย้ำกับคนไข้ตลอดว่า ต้องกินวิตามินตลอดชีวิต นอกจากนี้ ยังมีคนไข้ที่ผ่าตัดเย็บกระเพาะแล้ว กลับมาอ้วนอีก เนื่องจากไม่สามารถทำกฎเหล็กได้ ไม่สามารถควบคุมความหิวอิ่ม ซ้ำยังทานพวกน้ำหวาน รวมถึงคนไข้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ก็จะทำให้กลับมาอ้วนอีกเหมือนกัน

สุดท้าย ถ้าใครมีความคิดที่อยากจะผ่าตัดกระเพาะ หมอขอแนะนำว่าควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรค ว่าเป็นโรคอ้วนขั้นรุนแรง หรือมีภาวะเสี่ยงโรคแทรกซ้อนรุนแรงหรือไม่ หากพบแพทย์แล้ว ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วนรุนแรง และมีความคิดอยากผ่าตัดเย็บกระเพาะ ควรจะต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน ต้องมีความรู้ว่า มีวิธีผ่าตัดแบบไหนบ้าง และต้องรู้ว่าก่อนและหลังผ่าตัด ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร.

ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ

ขอบคุณ : พญ.มรกต สุวรรณาการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมโภชนศาสตร์คลินิก รพ.จุฬาภรณ์

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun