ปลูกผักไว้กินเอง ใครๆก็ทำได้...แต่จะปลูกผักเพื่อการค้าและให้ขายได้ราคานั้นต่างออกไป ด้วยเหตุนี้ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร จัดโครงการอบรม Young Smart Farmer หลักสูตรการผลิตผักเพื่อการค้า ให้กับยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ในพื้นที่ภาคเหนือ รุ่นแรก 16 คน เมื่อ 17-20 ส.ค. ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้ อีสท์ เวสท์ ซีด อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
“เรื่องปลูกผักให้ได้คุณภาพเพื่อการค้า ต้องยอมรับเกษตรกรบ้านเราส่วนใหญ่ยังมีความรู้ไม่มากพอ อย่างเรื่องผักเมืองหนาวที่ตลาดมีความต้องการสูง เกษตรกรหลายคนยังไม่รู้เลยว่ามีเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ให้สามารถนำมาปลูกในบ้านเราได้ แล้วไหนจะเรื่องการกำจัดศัตรูพืชยิ่งไปกันใหญ่ ไม่รู้จะจัดการยังไง จะใช้วิธีไหน ต้องใช้สารเคมี หรือควรใช้สารชีวภัณฑ์ เลยทำให้หลายคนทำกันตามความเชื่อแบบสุดโต่ง เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้สารเคมีอย่างเดียว หรือไม่ก็ใช้สารชีวภัณฑ์อย่างเดียว ทั้งที่บางอย่างต้องใช้ควบคู่กัน”
สุทธิวัตน์ วียะศรี ประธานเครือข่ายยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จ.เชียงใหม่ หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของเกษตรกรปลูกผักได้ผลผลิตแต่ไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ทำให้ขายไม่ค่อยได้ราคา ผลผลิตที่ออกมา ขายได้เฉพาะในตลาดชุมชน ไม่สามารถขายได้ในตลาดระดับบนที่ได้ราคาดีกว่า
...
แต่ประเด็นที่น่าสนใจของโครงการอบรมครั้งนี้ และน่าเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรที่จะหันมาปลูกผัก เพราะอาชีพเกษตรที่ทำเงินได้เร็ว ใช้เวลาปลูกสั้นกว่าปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆนั้นคือ...จะปลูกผักอย่างไรถึงจะขายได้ เสี่ยงขาดทุนน้อยที่สุด เพราะนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด
“ถ้าคิดจะปลูกผักเพื่อขาย ให้ขายได้จริงและได้ราคา ก่อนอื่นคงต้องใช้หลักการ ตลาดนำการผลิต ก่อนลงมือปลูก อันดับแรกต้องสำรวจตลาดก่อนว่าอะไรขายได้ ตลาดมีความต้องการ ในแต่ละช่วงผักชนิดไหนราคาดี วิธีการมีตั้งแต่แบบง่ายๆ ไปเดินตลาดสอบถามพ่อค้าแม่ค้าว่าอะไรขายดี ช่วงไหนอะไรแพง ยากขึ้นมาอีกนิด สำรวจทางอินเตอร์เน็ต ดูราคาผักแต่ละชนิด ในแต่ละช่วงเวลา เดือนไหนอะไรแพง แล้วค่อยมาวางแผนการผลิต”
อิสระ วงศ์อินทร์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด อธิบายหลักการคิดปลูกผักเพื่อขายเบื้องต้น แต่อย่าหลงเพลิน เชื่อเฉพาะข้อมูลจากตลาดอย่างเดียวเด็ดขาด...เพื่อความชัวร์ว่าคนอื่นอาจจะคิดเหมือนเรา จะทำเหมือนเรา ก่อนจะซื้อเมล็ดพันธุ์ผักอะไรมาปลูก ให้ตรวจเช็กกับบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ หรือร้านขายเมล็ดพันธุ์ผักด้วยว่า... ช่วงที่เราปลูกนั้น มีเมล็ดพันธุ์อะไรที่ขายดี
ถ้าเมล็ดพันธุ์นั้นขายดี อย่าเสี่ยงแห่ซื้อไปปลูกตามเขา...เพราะอีกไม่กี่วันข้างหน้าผักชนิดนั้นจะมีออกมามากจนล้นตลาด ขืนซื้อไปปลูกเราก็จะขายไม่ได้เหมือนกัน
“และไม่ควรปลูกผักชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว อย่างน้อยควรปลูก 3 ชนิดผัก เพื่อสร้างหลักประกันความเสี่ยงขาดทุนให้กับตัวเอง”
เมื่อได้ข้อมูลพอที่จะตัดสินใจได้แล้วว่าจะปลูกผักชนิด พันธุ์อะไรเพื่อป้อนตลาด และติดต่อผู้รับซื้อได้แล้ว จากนั้นให้เตรียมพื้นที่ วางแผนการผลิต ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว ปริมาณผลผลิตที่จะส่งให้ผู้ซื้อได้ครบถ้วนตามที่ตกลงกัน และการปลูกให้เกินความต้องการขายไปประมาณ 5-10% เผื่อผลผลิตเสียหายในบางส่วน
แต่ถ้าอยากขายผักให้ได้ราคามากขึ้น มีตลาด รับซื้อที่กว้างขวางมากขึ้น อิสระ แนะนำให้ติดต่อหน่วยราชการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อขอใบรับรอง GAP แปลงเกษตรปลอดภัย นี่จะเป็นช่องทางทำให้ผักของเราไปวางขายในห้างได้
แต่นั่นเป็นแค่ใบเบิกทาง...ถ้าจะให้ผักขายได้จริง สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณภาพของผักต้องเป็นไปตามมาตรฐานของแต่ละห้าง
...
คุณภาพจะผ่านฉลุยไปได้นั้นขึ้นอยู่กับวิธีการเพาะปลูกและบำรุงดูแลรักษาของเกษตรกรเอง ทั้งเรื่องปุ๋ย ระบบน้ำ การพรางแสง ที่เกษตรกรจะต้องเรียนรู้ จะปลูกกลางแจ้ง หรือในโรงเรือน ต้องทำกันอย่างไรถึงได้ผลผลิตที่มีคุณภาพขายได้ทุกห้าง
นอกจากมีทุน มีความรู้ ต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วย...ไม่ใช่ทำแบบปลูกไว้กินเองแบบตามมีตามเกิด แล้วฝันไปเองว่ามันจะขายได้.
ชาติชาย ศิริพัฒน์