7 สายการบินในประเทศ ตบเท้าทวงเยียวยาโควิดจากภาครัฐ “ศักดิ์สยาม” ชงใช้ใบอนุญาตฯ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันซอฟต์โลน ใช้ระบบ PCR TEST ตรวจหาโควิด-19 ที่สนามบิน เตรียมเสนอนายกฯ 19 ส.ค.นี้ กพท. คาด 1 ก.ย.ปลดล็อกให้สายการบินในประเทศขายอาหาร-เครื่องดื่มบนเครื่องได้

เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2563 นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางตัวแทน 7 สายการบินสัญชาติไทย ประกอบด้วย สายการบินไทยสมายล์, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, นกแอร์, บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยเวียตเจ็ท และไทยไลอ้อนแอร์ ได้เข้าพบ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อขอให้กระทรวงคมนาคมช่วยติดตามความคืบหน้าการขอให้รัฐบาลช่วยเยียวยาผู้ประกอบการสายการบิน หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ซึ่งเบื้องต้นทราบว่ากระทรวงการคลังได้มอบให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการแล้ว แต่ติดปัญหาการประเมินเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกัน

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ทาง รมว.คมนาคม จะนำเรื่องการขอกู้สินเชื่อต่ำเข้าหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง ว่าจะสามารถใช้วิธีเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นทุน ด้วยการนำใบอนุญาตประกอบการกิจการค้าขายในการเดินอากาศใหม่ (เอโอแอล) ซึ่งเป็นใบอนุญาตฯ ที่ได้รับจาก กพท. แปลงเป็นทุนได้หรือไม่ เพราะถือเป็นใบสำคัญที่สามารถนำมาหารายได้ และนำไปเช่าซื้อเครื่องบินได้

ทั้งนี้ทางกระทรวงคมนาคมอยากให้ทุกฝ่ายเดินไปได้ด้วยกัน ไม่อยากให้ผู้ประกอบการประสบกับสภาวะที่ไปไม่รอด เพราะจากการพิจารณาเบื้องต้นโครงสร้างของแต่ละสายการบินยังแข็งแรงอยู่ และขณะนี้เริ่มกลับมาทำการบินเส้นทางภายในประเทศ และมีผู้โดยสารมาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บางสายการบินมีผู้โดยสารภายในประเทศกลับมาแล้วประมาณ 80%

...

นอกจากนี้ทางสายการบินยังได้ขอขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน จาก 4.726 บาท/ลิตร เหลือ 0.20 บาท/ลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดสิ้นเดือน ก.ย.นี้ และขยายเวลาการลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking) ในอัตรา 50% ซึ่งจะสิ้นสุดเดือน ธ.ค.นี้ออกไปอีก

ขณะเดียวกัน ขอให้ปลดล็อกให้ผู้ประกอบการสายการบินสามารถจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มบนเครื่องบินได้ตามปกติ โดยมอบให้ผู้ประกอบการไปจัดทำรายละเอียดมาว่า จะมีวิธีการจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มบนเครื่องบินอย่างไร รวมถึงจะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าเมื่อเปิดให้จำหน่ายอาหารฯ แล้วจะไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะเวลานี้เกือบครบ 100 วันแล้วที่ไม่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม วันที่ 19 ส.ค.นี้ รมว.คมนาคม จะนำข้อเสนอต่างๆ ของผู้ประกอบการสายการบินเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา รวมทั้งจะนำข้อเสนอที่ผู้ประกอบการสายการบินเสนอให้นำ PCR TEST ซึ่งเป็นระบบตรวจหาโควิด-19 ที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขหลายประเทศให้การยอมรับและมีความแม่นยำสูง มาใช้ที่สนามบินในประเทศไทยด้วย โดยหากนายกรัฐมนตรีและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นว่าเป็นประโยชน์จริง อาจนำมาทดสอบต่อไป

นายจุฬา กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่จะเปิดให้สายการบินสามารถขายอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบินได้นั้น ในเรื่องนี้จะมีการหารือกับสายการบิน และ สธ. ก่อน หากไม่มีปัญหาอะไรคาดว่าจะยกเลิกประกาศ กพท. ฉบับเก่า และออกประกาศ กพท. ฉบับใหม่ โดยให้สายการบินเปิดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้ เฉพาะสายการบินที่ทำการบินภายในประเทศเท่านั้น เบื้องต้นคาดว่าจะให้เริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป.