ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ภาคใต้ เยี่ยมชม "เครื่องเก็บขยะในทะเลโดยใช้เทคโนโลยีนาโน" และ "เครื่องกำจัดขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยอัตโนมัติ" นวัตกรรมเยาวชนจากโครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า ที่มองปัญหาภายในชุมชนเป็นโจทย์สร้างนวัตกรรมต้นแบบสู่การใช้ประโยชน์ในระดับชุมชนในอนาคต เตรียมความพร้อมประกวดรอบชิงชนะเลิศ 4 - 6 ก.ย.นี้
โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้าเป็นการขยายผล ต่อยอดความสำเร็จของโครงการโตโยต้าเมืองสีเขียวที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ด้วยหวังสร้างจิตสำนึกให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาด้านภาวะโลกร้อน รวมถึงให้ความสำคัญกับสถานศึกษาในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาเพื่อปรับใช้ในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561 - 2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564)
ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า โครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก เป็นการประกวดนวัตกรรมระดับเยาวชนจากการคิดค้น สร้างสรรค์ และพัฒนาผลงานนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม โดยสามารถต่อยอดเป็นผลงานต้นแบบสู่การใช้ประโยชน์ในระดับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่มีทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. ทั้งในด้านการเป็นวิทยากร นักวิจัยพี่เลี้ยง คณะกรรมการ และทีมที่ปรึกษา เพื่อการพัฒนาและต่อยอดต้นแบบเพื่อนำไปใช้ได้จริงในชุมชน โดยมีโครงการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากเด็กๆ เข้ารอบมา 10 ทีม สายสามัญ 5 ทีม สายอาชีพ 5 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจาก 200 โครงการของเยาวชนทั่วประเทศที่ส่งเข้าประกวด
...
โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า ประกอบด้วยโครงการย่อย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก และโครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก รองผู้อำนวยการนาโนเทค สวทช. ชี้ว่า โครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลกนี้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้มีโอกาสคิดค้น สร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดผลงาน ด้วยการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยนาโนเทคโนโลยี นำไปสู่ทักษะในการสื่อสารทางด้านวิทยาศาสตร์ และสื่อสารการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการออกแบบ และพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยนาโนเทคโนโลยีของครู และนักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงช่วยสร้างความตระหนักและเกิดการกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้เรื่องการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยนาโนเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องอีกด้วย
นายเซฟดี ศรีเมือง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทุกคนให้ความสำคัญ เมื่อทางโตโยต้า และนาโนเทค สวทช. เปิดเวทีให้เยาวชนสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม เราในฐานะที่เป็นสถานศึกษาที่ผลิตบุคลากรคุณภาพรุ่นใหม่ พร้อมสนับสนุนทีมเยาวชนนักประดิษฐ์ที่มองเห็นปัญหาและความต้องการในชุมชน และนำมาเป็นโจทย์ในการพัฒนานวัตกรรม โดยมี 2 ผลงานจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ที่เตรียมส่งต่อเพื่อทดลองใช้ประโยชน์ในชุมชน ได้แก่ เครื่องเก็บขยะในทะเลโดยใช้เทคโนโลยีนาโน และเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยอัตโนมัติ
นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยาวชนทั้ง 2 ทีมเป็นตัวอย่างความก้าวหน้าและศักยภาพของเยาวชน 10 ทีมเยาวชนไทยในการสร้างสรรค์ พัฒนา และส่งต่อสู่การใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่ ดร.ภาวดี กล่าวว่า ทั้ง 10 ทีมจะได้ร่วมต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมร่วมกันเพื่อเข้านำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศ ระหว่างวันที่ 4 - 6 กันยายน 2563
สำหรับทีมผู้ชนะเลิศในโครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก และนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก จะได้ไปนำเสนอผลงานแก่ผู้บริหาร จากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงศึกษาดูงาน เพื่อนำองค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ จากญี่ปุ่น มาประยุกต์ใช้ในการต่อยอดผลงานของตน โดยชุมชนที่ชนะเลิศจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการพัฒนาชุมชนของตนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” ในระดับจังหวัด ในขณะที่โรงเรียนที่ชนะเลิศจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนสร้าง “นวัตกรรมต้นแบบ” ขนาดใช้ได้จริงเพื่อนำไปสู่ชุมชนต่อไป.