คนไทยยุคนี้โชคดี...ที่แม้สถานการณ์บ้านเมืองจะระส่ำ รัฐบาลทีมเศรษฐกิจชุดปิดวิกลาโรงไปแล้ว ก็ยังสู้อุตส่าห์หาเงินมาแจกคนเที่ยวไทยที่ไหนก็ได้...ยกเว้นถิ่นพำนักถาวรตามทะเบียนบ้าน

นัยว่า...ช่วยรัฐฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะคนแทบไม่มีจะกิน ถูกโปรยยาหอมให้ออกมาเที่ยว ปั่นกระแสเงินหมุนเวียนตามระบบถึงตุลาคม ซึ่งคาดการณ์กันเอาไว้ว่า...จะสะพัดไม่ต่ำกว่า 1.39 แสนล้านบาท

สนง.เศรษฐกิจการคลัง กับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รวมพลังความคิดร่วมวางแผนรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”...

สรุปหลังระฆังลั่นลงทะเบียนได้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม มีผู้ใช้สิทธิ์อยู่ที่ 3.8 ล้านคน จองห้องพักจ่าย 60% ไปแล้ว 45,497 สิทธิ์จาก 5 ล้านสิทธิ์ เหลือ 40% รัฐจะตามจ่ายทีหลัง ด้วยงบเพื่อการนี้ทั้งหมดอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท...ผ่านมาถึงตอนนี้เชื่อว่าผู้ใช้สิทธิ์คงล้นหลาม

ส่วนโครงการจะเป็นลำไม้ไผ่ หรือ “บ้องกัญชา” ก็ดูกันไปจนกว่าจะรูดม่านวันที่ 31 ตุลาคมที่จะถึง

นับหนึ่งกันให้ชัดๆเอาเป็นว่า...ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักแรมที่จะเข้าร่วมขายทุกราย จะต้องมีใบอนุญาตประกอบการตามกฎหมายที่แกนนำ องค์กรโรงแรมไทยได้ออกกฎกติกาตีกันโรงแรมเถื่อนไว้เรียบร้อยแล้ว

ทั้งที่ผ่านๆมา...ธุรกิจเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการรองรับตลาดท่องเที่ยว ก่อให้เกิดการลงทุนตามมา จนประสบปัญหา “โอเว่อร์ซัพพลาย” คือ...“มากเกินต้องการ” ด้วยปัจจุบันมีธุรกิจประเภทนี้ทุกระดับทั่วประเทศ 54,193 แห่ง 784,770 ห้อง

โฮเต็ลเลียรายหนึ่งเปิดเผยข้อมูลว่า โรงแรมร้อยละ 20 มีใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงแรมยุคโบราณฉบับ พ.ศ.2478 ที่ระบุให้มี “เจ้าสำนัก” พร้อมให้นิยามโรงแรมคือสถานประกอบการมีที่จอดรถตั้งแต่ 1 คันขึ้นไป ...ทุกวันนี้แก้ไขเป็นฉบับ พ.ศ.2547 ให้ทันสมัยตามกาลเวลาแล้ว

...

“สาเหตุที่โรงแรมส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาต ก็ด้วยติดขัดข้อกฎหมายควบคุมอาคาร และผังเมืองกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็อย่างที่เห็น...แต่ละแห่งสามารถเปิดกิจการได้โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

นี่คือคำตอบที่ว่า...ทำไม “เราเที่ยวด้วยกัน” จึงถูกบ่นกรณีมีตัวเลือก ที่พักให้จองน้อยมาก เมื่อเทียบกับสภาพความเป็นจริงจากจำนวนโดยรวม ทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม...สนง.เศรษฐกิจการคลัง ยืนยันธุรกิจท่องเที่ยวทุกประเภทร่วมขาย 34,434 ราย เป็นที่พัก 5,713 แห่ง ร้านอาหาร 27,593 ร้าน สถานที่ท่องเที่ยว 1,128 แหล่ง

แต่...สิ่งที่ผู้จองสิทธิ์ตัดพ้อต่อว่ามากสุด ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมซึ่งสบโอกาสนาทีทอง...ขึ้นค่าห้องพักมหาโหด ที่เกิดขึ้นสะท้อนออกมาบางแห่งจากเดิมขายกันอยู่ที่ 600 บาท ปรับเป็น 1,200 บาท... เคยขาย 1,900 บาท ก็ปรับใหม่เคาะราคาตามน้ำเที่ยวด้วยกันขึ้นไป ถึง 2,500 บาท

หรือบางแห่งเคยขายที่ 2,500 ก็พุ่งปรี๊ดไปถึง 3,500 และ 4,000 ก็ขายราคาพิเศษ 8,000 ตามเพดานรัฐช่วยแชร์ 40% ไม่เกิน 3,000 บาทต่อ 1 คืน...ดูตัวเลขก็เห็นๆเค้าลางโรงแรมกะถอนทุนคืนก็ตอนนี้แหละ

กระแสปัญหาข้างต้นนี้ “ทัวร์” เลยลงรุมด่ากันสนั่น...เมื่อผู้ใช้สิทธิ์จับ “โป๊ะแตก” โรงแรมได้จากเพิ่งเช็กอินพักไม่กี่วันก่อนหน้าราคายังยืนปกติ แต่ไม่กี่วันต่อมา...ปรับเพิ่ม 100% งานนี้แน่นอน...มีการจับปลาสองมือ คือ “มือหนึ่ง”...ได้จากผู้ใช้สิทธิ์บวกรัฐ 60-40 อีก... “มือหนึ่ง” ได้จากราคาที่บวกเพิ่ม

โดยไม่สนใจข้อห้ามเจ้าภาพที่มิให้ขายเกินราคาปกติ...แน่นอนว่าพฤติกรรมล้ำเส้นเยี่ยงนี้ ผู้คนในวงการนี้ยืนยันว่ามักจะเจอกันบ่อยช่วงอีเวนต์รัฐจัดให้ แต่ที่สุด...รัฐก็กลับลำแทบไม่ทันกับการฉวยโอกาสกันซึ่งๆหน้า

ร้อนถึงคนเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยว ต้องออกมารับลูก...ลั่นจะลงดาบผู้ประกอบการปล้นเงินคน “เที่ยวด้วยกัน” เชิงนโยบาย โดยจะปฏิเสธให้ร่วมงานนี้และงานหน้า...ถ้ามี?

คำถามสำคัญมีว่า...มองออกรึยัง? สังคมไทยปัจจุบันกำลังเสพ “บริโภคนิยม” ระบบรัฐอุปถัมภ์ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญคือเรื่องท่องเที่ยว...ที่นักมานุษยวิทยาเห็นว่า ตรรกะมนุษย์ที่รู้ ตระหนักย่อมคิดทำงานก่อน เพื่อออมเงินใส่ครัวเรือนเป็นทุน

...

“จากนั้น...ค่อยแบ่งปันตามกำลังที่มี มาท่องเที่ยวหาประสบการณ์เติมเต็มให้ชีวิต โดยไม่ต้องรอทุนรัฐ โดยรัฐนั่นแหละ...ควรแสดงบทบาทนักบริหารมืออาชีพ เช่น ส่งเสริมภาคธุรกิจบริการให้เสนอขายสินค้าแบบสร้างแรงจูงใจ ไม่เห็นแก่ได้จนกลายเป็นแร้งกาแย่งกันจิกกิน”

ถึงตรงนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศ...มาสะท้อนถึงทัศนะมุมมองฝั่งคนขายห้องพักนอกทะเบียนกันดูบ้าง อาจจะกล่าวได้ว่าคนกลุ่มนี้กำลังจ้องเจ้าภาพโครงการคล้ายๆเป็นคนสายตาสั้นไร้แว่นขยาย พร่าๆมัวๆ...ที่เห็นว่า

นี่คือการเปิดช่องทางให้ธุรกิจ “ออนไลน์ ทราเวล เอเจนซี (โอทีเอ)” กลุ่มสตาร์ตอัปฮอตฮิต ผู้ขายธุรกิจบุ๊กกิ้งออนไลน์มาผสมโรงโกยเงินอิ่มพุงกาง?

“บ้านเรามีโอทีเออยู่มากพอสมควร แต่ครั้งนี้รัฐเสมือนส่งเสริมเลือกเสือนอนกินทุนนอก ที่กุมตลาดบุ๊กกิ้งห้องพัก ร้านอาหาร รถเช่า และสถานที่ท่องเที่ยวไว้ได้เบ็ดเสร็จมาร่วมวง?”

ประเด็นสำคัญน่าสนใจ...โฮเต็ลเลียรายนี้ บอกว่า...เสือตัวนี้เกิดเมื่อปี 2548 ทำธุรกิจโดยไม่มีโปรดักซ์ แต่มีรายได้ต่อปีมหาศาล ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่สิงคโปร์กับสาขาในไทย มาเลเซีย โตเกียว ซิดนีย์ ฮ่องกง ถึงยุโรป อเมริกา...รวม 53 แห่ง 30 ประเทศ กำพันธมิตรไว้ในมือเกิน 2 ล้านแห่ง

...

โอ้ๆๆ...โอ้แม่เจ้าโว้ย ภาพเครือข่ายอยู่ในมือเต็มกำลัง เมื่อจิ๊กซอว์ทำเงินพร้อม ก็ดูต่อไปกันถึงวิธี “การขาย”...โดยจะใช้ “สื่อออนไลน์” เป็นหลัก ปิดช่องทางการจองตรงกับสถานประกอบการ รับส่วนแบ่ง 15-20% จากราคาสินค้า กระบวนการเช่นนี้นั้น “เสือ” ตัวนี้ถึงขั้นมีอำนาจต่อรองการกำหนดราคาขายได้ตามต้องการทีเดียว

อันเป็นผลพวงเนื่องมาจากพลังอิทธิพลด้านการตลาด จนผู้ประกอบการยอมเปิดทางให้...

แล้วลองคิดต่ออีกนิดนึงว่า...หากอีเวนต์ตามอภิมหาโปรเจกต์ดลบันดาลให้ สนง.เศรษฐกิจการคลัง กับเน็ตเวิร์กกิ้ง ททท. สามารถปฏิบัติ การได้ทะลุเป้าตามพิกัด 5 ล้านสิทธิ์ จากทุนเงินกู้ 2,000 ล้านบาท...

ความเป็นจริงอาจจะคิดได้ว่า “ทุนไทย” จะโคจรใส่กระเป๋าทุนนอกเต็มพิกัด 400 ล้านบาททันที

“เที่ยวด้วยกัน” เชิงนโยบายเป็นเรื่องดีถ้าหาก “คิดดี” และ “ปฏิบัติดี” แต่...นาทีนี้แว่วๆว่ารัฐมนตรีท่องเที่ยวฯที่กำลังเผลอตีอกชกลม ดีใจในมโนว่าประสบความสำเร็จ ได้เตรียมหมายมั่นปั้นมือจะยกระดับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ทะยานสู่เฟส 2 ในเร็ววันนี้

บทสรุป “มหกรรมหว่านเงิน” บริบทนี้...ที่หวังฉุดวิกฤติเศรษฐกิจไทยซึ่งทรุดหนักให้ฟื้นขึ้นด้วยการโดสยาแรงพุ่งเป้าไปที่ “แบรนด์ท่องเที่ยว” ตะพึดตะพือเหมือนไม่มีทางออกอื่น จะสัมฤทธิผลแค่ไหน...คงต้องรอผลการประเมินหลังสิ้นสุดโครงการ

อย่างที่เขาว่ากัน...รอสงครามจบนับศพให้เสร็จ แล้วค่อยออกรบใหม่...ไม่ดีกว่าหรือ?