พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูความสำเร็จในการจัดการสถานการณ์ COVID-19 ของโรงพยาบาลเทพา และโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา พื้นที่คาบเกี่ยว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ให้ข้อมูลว่าทั้ง รพ.เทพา และ รพ.จะนะ ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน HA และเครือข่ายระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ (DHSA) เป็นโรงพยาบาลที่มีความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนโดยเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของภาคส่วนต่างๆ ในชุมชน อาทิ โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ประชาชนในชุมชน ที่มาร่วมกันแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดโคโรนาไวรัส (COVID-19)

นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี
นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี

สำหรับ รพ.เทพา นพ.เดชา แซ่หลี ผอ.รพ.เทพา เล่าว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส (COVID-19) โรงพยาบาลเทพาได้นำแนวคิดของการทำงานร่วมกับชุมชน เครือข่ายบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นแนวทางตามมาตรฐาน HA และ DHSA ไปปรับระบบบริการของโรงพยาบาลโดยใช้โครงสร้าง EOC ที่สามารถขับเคลื่อนงาน คุณภาพ และงานระดับอำเภอได้ เช่น การจัดตั้ง Local Quarantine เป้าหมายที่ดำเนินการมุ่งที่ความปลอดภัยของผู้ให้บริการ ผู้รับบริการและชุมชน

...

“รพ.เทพายึดแนวทางตามมาตรฐาน HA และ DHSA เป็นกรอบสำคัญในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และการทำงานร่วมกับชุมชน เน้นการสื่อสารที่ชัดเจนในกลุ่มเจ้าหน้าที่ เช่น การปฏิบัติตน การสวมชุด PPE สื่อสารแนวทางปฏิบัติสู่หน่วยงานต่างๆ การทำหัตถการเสี่ยง เช่น Swab การดูแลในห้องฉุกเฉิน ห้องผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยที่ต้องดำเนินการสอบสวนโรค” คุณหมอเดชาบอก

นพ.เดชา แซ่หลี
นพ.เดชา แซ่หลี

ผอ.รพ.เทพา บอกด้วยว่า ได้มีการถอดบทเรียนการทำงานในสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมาพบว่าปัจจัยความสำเร็จคือ ความร่วมมือจากหน่วยงานในทุกภาคส่วน การสื่อสารในทุกระดับเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน มีการถอดบทเรียนและประชุมสม่ำเสมอทุกเช้า เพื่อให้ทุกกลุ่มงานมาหารือ ร่วมกัน ส่วนการประชุมในระดับอำเภอใช้เวที EOC มีการประชุมทุกสัปดาห์ มีการสื่อสารหลายวิธี เช่น คลิปวิดีโอ narrative medicine สื่อสารโดยภาพและเสียงให้เห็นภาพการดูแลทั้งใน Home Quarantine และ Local Quarantine

คุณหมอเดชา บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังโควิด-19 ก็คือ ชาวบ้านทั้ง 7 ตำบล ในอำเภอ เทพา มีวิถีใหม่ๆเกิดขึ้น อย่างเช่น ตลาดพระพุทธ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอำเภอ มีการจัดทางเข้า ทางออกของตลาด จัดระเบียบการใช้บริการ การไปใช้บริการธนาคารก็เป็นธนาคารวิถีใหม่ มีการจัดระเบียบในการใช้บริการที่คำนึงถึงความปลอดภัย มัสยิด วัด โบสถ์ มีการพัฒนาเป็นศาสนสถานวิถีใหม่ มัสยิดในอำเภอเทพา 8 แห่ง เปิดให้พี่น้องมุสลิมมาประกอบกิจทางศาสนาได้ โดยปฏิบัติตนตามวิถีใหม่ เช่น มีการล้างมือล้างเท้ามาจากบ้าน เอาผ้าละหมาดมาเอง และเว้นระยะห่างในการสวดขอพร และละหมาด

จากเทพามุ่งหน้าสู่อำเภอจะนะ  ผอ.รพ.จะนะ เล่าให้ฟังว่า รพ.จะนะ ถือว่ามีประสบการณ์มากหน่อย เพราะต้องรับคนไข้โควิดแบบไม่ทันตั้งตัว ในช่วงการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่ไปร่วมพิธีทางศาสนาที่มาเลเซียจำนวน 12 คน หลังทำการตรวจคัดกรอง ปรากฏว่าพบผลเป็น COVID-19 จำนวน 6 คน

“ตอนที่ทราบว่าผลเป็นบวก คือ ติดโควิดแน่นอน ก็มีความกังวลเพราะไม่ได้มีการเตรียมหอผู้ป่วยเฉพาะไว้ก่อน จึงเลือกห้องพิเศษที่มีอยู่ 6 ห้อง เป็นห้องสำหรับผู้ป่วยโควิด มีห้องความดันลบหนึ่งห้องให้เป็นห้องสำหรับคนไข้ที่มีอาการมาก และกันไว้หนึ่งห้องสำหรับ จนท.ที่ต้องไปดูแลเพื่อแต่งชุด PPE และเป็นห้องพักที่แยกไม่ต้องดูแลคนไข้อื่นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ตึกพิเศษนี้แยกออกจากตึกผู้ป่วยทั่วไป รพ.มั่นใจว่าป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อได้ แต่คนไข้อื่นกลับไม่มั่นใจ ทำให้คนไข้หายเกือบหมด รพ. รวมถึงเกิดกระแสข่าวลือมากมาย” คุณหมอสุภัทรเล่าพร้อมกับบอกว่า สิ่งที่โรงพยาบาลจะนะให้ความสำคัญอย่างมาก คือการสื่อสารกับชุมชนและสังคม ในระยะแรก ที่มีข่าวลือว่า รพ.ปิดข่าว เรื่อง จนท.ติดเชื้อและอีกหลายๆเรื่อง เราใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว และเลือกที่จะให้ข้อมูลเมื่อมีความชัดเจน โดยใช้ข้อความที่กระชับ ส่งเข้าสู่ทีมผู้บริหารของชุมชนที่ทำงานร่วมกันมานาน เป็นผู้ยืนยันและสื่อข่าวต่อไป

...

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ผอ.รพ.จะนะ บอกอีกว่า เรารักษาผู้ป่วยทั้ง 6 คนจนหายกลับบ้านได้ ด้วยความร่วมมือร่วมใจ ของทุกคน นอกจากทีมโรงพยาบาล ทีมสาธารณสุขแล้ว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ก็มีความสำคัญไม่น้อย ที่ อ.จะนะ มีคนกักตัวใน Local Quarantine 2,000 กว่าราย อสม.ต้องเยี่ยมเยียนดูแลทุกวัน บางส่วนก็ไปทำหน้าที่ตามด่านต่างๆ ร่วมกับสาธารณสุข และที่ด่านป๊อปอัปของทุกหมู่บ้าน อสม.ที่ อ.จะนะ มีจำนวน 1,483 คน แต่ละคนรับผิดชอบคนละ 15-20 ครัวเรือน ทุกคนทำหน้าที่ด้วยความเต็มใจ เพราะสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก คือการส่งผู้ป่วย กลับบ้านที่ต้องทำจนมั่นใจว่าผู้ป่วยจะกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านได้ ไปอยู่ในสังคมได้ ชุมชน สังคม สามารถเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยต่อได้ การที่ผู้ป่วยต้องกักตัวต่อที่บ้านจะกินจะอยู่อย่างไร เพราะหากทำไม่ได้ อาจเป็นหนึ่งในช่องว่างของการแพร่กระจายเชื้อได้

...

“ตอนที่ส่งคนไข้กลับบ้านเราเตรียมความพร้อมทุกอย่างกับชุมชน มีประกาศนียบัตรพร้อมลายเซ็นนายอำเภอให้คนละใบก่อนส่งกลับบ้านลดการบูลลี่ ตีตรา” คุณหมอสุภัทรบอกและว่าถามว่า HA เข้ามามีส่วนช่วยอย่างไร เราก็บอกได้ว่า HA ถูกขับเคลื่อนเป็นประจำจนอยู่ในสายเลือดโดยไม่รู้ตัวอยู่แล้ว การบริหารความเสี่ยงในเรื่องต่างๆที่เราทำในกระบวนการคุณภาพ เป็นเรื่องที่เราทำประจำในโรงพยาบาล และสถานการณ์คราวนี้ ก็มีเรื่องดีๆที่เราสามารถผลักดันให้เกิด Standard Precaution ที่เป็นรูปธรรมในโรงพยาบาลด้วย

นี่คงเป็นอีก 1 โมเดล สำหรับ รพ.เทพา และ รพ.จะนะ ที่สะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจนของคำว่า “โรงพยาบาลคุณภาพ” ได้เป็นอย่างดี.

...