การตั้งข้อสังเกตถึง การที่ อัยการสูงสุด ไม่สั่งฟ้องคดี บอส หรือ วรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถยนต์ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 พบเงื่อนงำมากมายที่สะท้อนให้เห็นว่าทั้ง สำนักงานอัยการสูงสุด และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความผิดปกติ
คณาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 31 คน ได้ออกแถลงการณ์คำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญานายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่ถูกตั้งข้อหาถึง 5 ข้อหา รวมทั้งข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ในขณะที่ ผู้ต้องหาได้รับการอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ และไม่กลับมาสู้คดีนานหลายปี เป็นเหตุให้สังคมเคลือบแคลง สงสัยในความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรม
การดำเนินคดีอาญาในคดีนี้กลับชักช้า ทำให้คดีขาดอายุความไป 3 ข้อหา อย่างไรก็ตาม หลัง อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ ทั้งที่อายุความยังเหลืออยู่จนถึงปี 2570 โดยที่ สตช.ก็ไม่ได้มีความเห็นแย้งคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม จนเกิดวาทกรรม คุกมีไว้ขังคนจน
เป็นคดีที่กระทบความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
เปิดตัวละครที่คาดว่าจะมีเอี่ยวกับคดีนี้ เริ่มตั้งแต่ในชั้นกรรมาธิการ สนช.ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ผู้บังคับบัญชาสถานีตำรวจทองหล่อ รักษาการ ผบ.ตร. รองอัยการสูงสุด ขณะรักษาการ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 นักวิชาการ ซึ่งมีทั้งตัวละครที่นำมาประกอบเป็นพยาน และตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีความเกี่ยวโยงกันเป็นพิเศษ มีทั้งนายตำรวจระดับสูงและอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ อดีตอธิบดีดีเอสไอ และอดีตปลัดยุติธรรมรวมอยู่ด้วย
...
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดเป็นชนวน วิกฤติศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ต้องย้ำว่าเป็นเรื่องของ กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เป็นเรื่องของ การใช้อำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรม ที่มีผลกระทบต่อช่องว่างระหว่าง คนจนกับคนรวย เป็นเรื่องของฐานันดร ชนชั้น
มีการนำไปเปรียบเทียบกับคดี เสี่ยรถเบนซ์ คดีเสือดำ คดีไร่ส้ม คดีนักการเมือง คดีการบุกรุกป่าสงวนของชาวบ้านที่เข้าไปเก็บของป่าประทังชีวิต บานทะโรค
การตั้ง คณะกรรมการมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ของคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น
เพราะความผิดสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
ท้ายที่สุด ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องของวรยุทธ อยู่วิทยา ไม่ใช่แค่เรื่องการขับรถชนคนตาย แต่เป็นเรื่องของสังคมไทยกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เป็นกรณีศึกษาที่จะนำไปสู่บริบทของสังคม วิถีใหม่ ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
ได้เวลายกเครื่องกระบวนยุติธรรมไทย.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th