เริ่มเห็นแววสัญญาณที่ดีกับผลการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ใช้สารพันธุกรรมของเชื้อ “ชนิด mRNA” มีการฉีดในลิงเข็มที่สอง “ได้ผลดี” สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ระดับสูงและลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีผลข้างเคียงจากวัคซีน...

การทดลองวัคซีนนี้ถูกพัฒนาเกิดขึ้นจาก “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ในการสนับสนุน สนง.การวิจัยแห่งชาติ และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนยื่นเอกสารต่อ สนง.คณะกรรมการอาหารและยา และคณะกรรมการจริยธรรม ที่เกี่ยวข้องการขออนุมัติทดสอบในมนุษย์

คาดว่า...ในต้นเดือนสิงหาคมนี้น่าจะเริ่มสั่งการ “ผลิตวัคซีน” ใช้ทดสอบในคน ที่จะเปิดรับอาสาสมัครในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2563 เตรียมฉีดเข็มแรกในเดือนตุลาคมต่อไป และถูกแบ่งออก 3 เฟส คือ...

เฟสแรก...แบ่งเป็นกลุ่มแรกอายุ 18-60 ปี 75 คน ใช้เวลา 2 เดือน หากได้ผลดีก็จะทดลองในอาสาสมัครอายุ 61-80 ปี 75 คน ต่อด้วยเฟสสอง... ใช้อาสาสมัครราว 500-1,000 คน ในกลางปี 2564 น่าจะทราบผลทดสอบนี้ และ ทดสอบเฟสสาม ในพื้นที่มีการระบาด...ใช้เวลา 9-12 เดือน

...

ในการทดลองวันซีนนี้มีความคืบหน้าไปมาก หากมีการทดสอบในมนุษย์ “ประเทศไทย” ถูกขยับติดอันดับต้นของโลก ในความสำเร็จการทดลองวัคซีนนี้

นับเป็น “ข่าวดี” ในเรื่องการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ไทยทำขึ้นเองด้วย

ความคืบหน้าขั้นตอนการทดลองวัคซีนฝีมือคนไทยนี้ ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผอ.ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลมาว่า ประเทศไทยมีการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 อยู่หลายชนิด สำหรับโครงการที่คืบหน้ามากที่สุด เริ่มทดลองในสัตว์ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทฯ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

มีอยู่ 3 ชนิด...คือ “วัคซีนชนิดโปรตีนพืช” เป็นวัคซีนผลิตจากโปรตีนจากพืช หรือใบยาสูบพิเศษ เริ่มทดสอบในลิง ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 กำหนดฉีดวัคซีน 2 เข็ม มีระยะห่าง 3 สัปดาห์ต่อเข็ม คาดว่า 2 สัปดาห์ น่าจะได้คำตอบบางอย่างออกมาบ้าง เพราะ “วัคซีนชนิดโปรตีนพืช” มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันดีกว่าชนิดอื่น

ส่วนวัคซีนตัดต่อสารพันธุกรรมกระตุ้นภูมิคุ้มกัน มี 2 ชนิด คือ...“ดีเอ็นเอวัคซีน” กำลังจะฉีดทดลองเข็มแรกในปลายเดือนกรกฎาคม 2563 จึงยังไม่มีข้อมูลผลการทดสอบใดๆ ส่วนอีกชนิด “วัคซีน mRNA” ที่มีความล้ำหน้าที่สุด เริ่มได้ทดลองใช้ลิง 13 ตัว แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ...

“กลุ่มโดสยาต่ำ”...มีปริมาณขนาดยา 5 ไมโครกรัม ใช้กับลิง 5 ตัว “โดสยาสูง”...มีขนาดยา 50 ไมโครกรัม ใช้กับลิง 5 ตัว และยาหลอก...ใช้กับลิง 3 ตัว มีกำหนดฉีดวัคซีนในลิงไว้ 3 ครั้ง ระยะห่างกัน 1 เดือน และผ่านการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ในวันที่ 23 พ.ค.2563 มีการฉีดกระตุ้นเป็นเข็มที่ 2 วันที่ 22 มิ.ย.2563

ปรากฏว่า...ในกลุ่มลิงใช้ “โดสยาสูง” มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันระดับสูง มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคได้อย่างดีมากเกินคาดการณ์ไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ต้องชะลอฉีดเข็มที่ 3 ออกไป และปรับการทดลองใหม่ ในการสังเกตติดตามเรื่องระดับกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จะสามารถอยู่ในร่างกายได้นานเพียงใด

ถ้าระดับ “ภูมิคุ้มกัน” มีปริมาณลดลงเร็ว ก็จะมีการฉีดเข็ม 3 เพิ่มต่อไปอีก เพราะโครงการนี้มีการขออนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรม ที่กำหนดฉีดวัคซีนทดลองในสัตว์ 3 เข็มมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

ส่วนในกลุ่มลิงใช้ “ยาโดสต่ำ” ก็มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อไวรัสเช่นกัน แต่ผลยังไม่เป็นที่พอใจ ทำให้มีกำหนดฉีดเข็มที่ 3 ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 และสุดท้ายก็คือ “กลุ่มยาหลอก” ไม่พบภูมิคุ้มกัน

ยอมรับว่า...“ใช้โดสยาสูง” มีผลทดสอบดีชัดเจน แต่ยังต้องฉีด 2 เข็ม ในปริมาณยา 100 ไมโครกรัม จึงจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นได้ เป็นการใช้ยาค่อนข้างสูง ส่วนการทดลอง “โดสยาต่ำ” ผ่านการทดลองไป 2 เข็ม ใช้ยา 10 ไมโครกรัม มีผลดี แต่ยังไม่น่าพอใจ ทำให้ฉีดโดสยาต่ำเข็ม 3 ถ้าเข็มนี้ได้ผลที่ดีก็จะสามารถลดการใช้ยาถึง 7 เท่า

คิดง่ายๆ...“ใช้โดสยาสูงกระตุ้นภูมิคุ้มกัน” ก็ย่อมมีผลต่อต้นทุนผลิตสูงตามมา แต่ถ้าการทดสอบใช้โดสยาต่ำ 5 ไมโครกรัม ที่มีผลดีเท่ากัน กลายเป็นว่าเดิมอาจต้องใช้วัคซีน 100 ไมโครกรัมต่อคน สามารถนำจำนวนยานี้ไปแตกแบ่งออกได้เป็นสิบโดส ทำให้ต้องทดสอบใช้โดสยาต่ำดีที่สุด เพื่อผลลัพธ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ได้ดีที่สุด

...

ประการต่อมา...เมื่อผลทดลอง “โดสยาสูง” กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี จึงเริ่มมีแผนการทดลองในมนุษย์ต่อไป คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นราวเดือนตุลาคมนี้ เบื้องต้นกำลังรวบรวมข้อมูลผลการทดลองทั้งหมด เพื่อเสนอขออนุญาตกับคณะกรรมการอาหารและยา ในการดำเนินการผลิตวัคซีน 10,000 โดส ทดลองกับคน 5,000 คน

ในส่วน “การผลิตวัคซีน” ต้องเป็น “โรงงานมาตรฐาน” ได้รับรองมาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) แต่เท่าที่ทราบมานี้ “ทีมวิจัยวัคซีน mRNA” มีการพูดคุยโรงงานในประเทศแคนาดา และสหรัฐอเมริกาแล้ว ส่วนประเทศไทย มีโรงงานผลิตวัคซีนไม่กี่แห่ง อาจต้องนำเข้าเทคโนโลยีบางส่วนมาเพิ่มเติมด้วย

ทว่า...การทดลอง “วัคซีนในมนุษย์” แบ่งเป็น 3 เฟส คือ เฟสแรก...ทดลองคนสุขภาพแข็งแรงดี เฉลี่ยอายุ 18-60 ปี เพื่อดูผลความปลอดภัย ถ้าได้ผลดีก็ให้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ก่อนเข้าสู้เฟส 2...ตามจำนวนคนเพิ่มขึ้นในหลักพันคน และเฟส 3...การทดสอบฤทธิ์ป้องกัน ที่ต้องทดลองในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อโรค

...

กลายเป็นผลให้ “นักวิจัยไทย” มีความกังวลใจขึ้นทันที เพราะ “ในไทย” ไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 ต้องทำความร่วมมือต่างประเทศ เพื่อนำ “วัคซีน” ไปทดสอบในประเทศระบาดกันอยู่ แต่การทดลองกับมนุษย์ได้ก็ต้องขออนุญาตคณะกรรมการจริยธรรม ในการศึกษาทดสอบนี้ด้วย เพื่อเป็นขั้นตอนการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น

ฉะนั้นในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา นำการทดลองเฟส 1 และเฟส 2 รวมเข้าด้วยกัน เพราะเชื่อมั่นแล้วว่า “วัคซีน” มีความปลอดภัย และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี อีกทั้งยังมีห้องความปลอดภัยระดับ 3 (BSL3) จึงเร่งรัดขั้นตอนทดสอบให้สั้นลงกว่าปกติได้ ที่มีคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศ เป็นผู้ควบคุมกำกับการอนุญาต

ย้อนมา...“ประเทศไทย” เรายังไม่มีห้องความปลอดภัยระดับ 3 และไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีผลต่อการทดลองวัคซีนในเฟส 3 ไม่สามารถทำในประเทศได้ แม้ทราบดี “วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน” แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่า “ป้องกันระดับใด” จนขาดความเชื่อมั่นในประสิทธิผล ทำให้เมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็ไม่กล้าเผชิญไวรัสโควิด-19 ตามมา

เพราะข้อมูลสามารถยืนยันความปลอดภัยได้ดีคือ การทดสอบพ่นเชื้อโควิด-19 ใส่ลิงที่มีภูมิคุ้มกันแล้วในห้องความปลอดภัยระดับ 3 เพื่อสังเกตอาการลิงต้องไม่ติดเชื้อขึ้น ที่จะทำให้การทดสอบวัคซีนนี้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ไม่ใช่ว่า...ทราบวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันแล้วทุกอย่างก็จบเท่านั้น

ดังนั้น ห้องความปลอดภัยระดับ 3 ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ทั้งในเชิงเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 และในอนาคตที่มีโอกาสเกิดของ “โรคอุบัติใหม่” เพราะนักวิจัยค้นพบด้วยการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังของการเกิดโรคระบาดใหญ่ พบว่า ในทุก 10 ปีจะต้องเกิดเชื้อไวรัสของโรคติดต่อขึ้นอย่างน้อย 1 โรค

...

สาเหตุ...“เกิดจากสัตว์ป่า” ผลพวงส่วนหนึ่งก็เกิดจาก “สภาวะโลกร้อน” และ “มนุษย์” ที่เข้าไปทำลายป่า ส่งผลให้ “คนกับสัตว์ป่ามีความใกล้ชิดกัน” โดยเฉพาะสัตว์ป่าบางชนิดก็มีเชื้อโรคอยู่แล้ว แต่ไม่เป็นอันตราย เพราะมีภูมิคุ้มกัน ส่วนมนุษย์ไม่มีเคยเจอกับ “เชื้อโรค” ย่อมทำให้เกิดการติดเชื้อระบาดขึ้นตามมา...

เมื่อเป็นเช่นนี้ควรมี “ห้องความปลอดภัย 3” เพื่อเตรียมรับมือกับการเกิดโรคอุบัติใหม่ ยกตัวอย่าง ในอนาคตถ้ามีโรคไวรัสเกิดขึ้น จะย่นเวลาผลิตวัคซีนได้เร็วมาก ด้วยการนำรูปแบบโครงสร้างการผลิตวัคซีนโควิด-19 มาเป็นบทเรียนต้นแบบ เพราะในภูมิภาคใกล้ประเทศไทย...“ประเทศญี่ปุ่น” มีห้องความปลอดภัยระดับ 3 แห่งเดียว

ตอนนี้ทั่วโลกเร่งผลิต “วัคซีนโควิด-19” มีความคืบหน้า 10-20 ชนิด ในจำนวนนี้ “วัคซีนไทย” ก็ติดอันดับความล้ำหน้าระดับต้นๆของโลกเช่นกัน นับเป็นความภาคภูมิใจของ “นักวิจัยไทย” ที่ไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น

ถ้ายิ่งได้รับการสนับสนุน ทั้งผลงานวิจัยและงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ เชื่อมั่นได้ว่า...“ประเทศไทย” ต้องมีชื่อเสียงดังก้องโลกเป็นแน่.