ที่ว่ากันว่า “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ” จังหวัดสงขลา...มีจุดเด่นที่สุดคือการจ้างงาน 100,000 ตำแหน่ง เรื่องนี้จริงหรือไม่? และการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรม ต้องแลกกับการสูญเสียอะไรบ้าง...ยังมีรายละเอียดลึกเร้นที่ต้องพูดคุยกันยาวๆเลยทีเดียว
อาจารย์ท่านหนึ่งทักมาว่า “นิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”
น่าจะแปลว่าเป็นโรงงานไฮเทค...ใช้ AI...ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุม ...ใช้คนที่มีความรู้สูงๆในการทำงาน แล้วจะจ้างงาน 100,000 ตำแหน่งได้อย่างไร เพราะงานตั้ง 100,000 ตำแหน่งนั้น แปลว่าเป็นโรงงานสายพาน โรงงานรุ่นเก่าที่ใช้แรงงานคนเป็นหลัก
ประเด็นคือ สองเงื่อนไขข้างต้นนี้ “อุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตกับจ้างงานแสนคนนั้น” ไปด้วยกันไม่ได้
แน่นอนทุกโครงการมีได้...มีเสีย ได้คุ้มเสียหรือไม่นี่คือประเด็น เมื่อเป็นเช่นนั้น...การได้มาซึ่งนิคมอุตสาหกรรมเป็นหมื่นไร่ ท่าเรือใหญ่อีกสามท่า โรงไฟฟ้าขนาดยักษ์อีกขนาด 2 เท่าครึ่งของโรงไฟฟ้าจะนะ
...
ผลกระทบจะมีอะไรบ้าง?...ทะเลจะยังสมบูรณ์ไหม? อากาศจะยังใสไหม? คลองนาทับคลองสะกอมน้ำใต้ดินจะแห้งไหม? วิถีคนจะนะจะเปลี่ยนไปไหม?
“คนจะนะ” มีสิทธิออกแบบอนาคตตนเองไหม? นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินชื่อนี้มาหลายปีแล้วในฐานะผู้เปลี่ยนหลังคาโรงพยาบาลให้เป็นหลังคาโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าแต่ในอีกมุมหนึ่งก็ได้รับการกล่าวขานให้เป็นเอ็นจีโอ หนึ่งในบุคคลที่มีข้อมูลในเรื่องนี้อยู่เต็มมือ ตั้งข้อสังเกต
คำถามสำคัญวันนี้มีว่า...ก้าวใหญ่ของจะนะอาจต้องก้าวเดินเหมือนแบบรุ่นพี่ของเรา “ภาคตะวันออก”...เครือข่ายประชาชนภาค ตะวันออก เดินหน้าฟ้องศาลปกครองสูงสุด เรื่องการเปลี่ยนผังเมืองในภาคตะวันออกเป็นสีม่วง ทำลายชีวิต ทำลายชุมชน ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยไม่สนใจไม่เห็นหัวชาวบ้านในพื้นที่เลย
แม้คำตอบของรัฐจะบอกว่า พื้นที่ “สีเขียว” ยังมีกว่า 80% แต่ “สีม่วง” ที่เข้ามาและกระจายไปทั่วนั้นก็มากพอที่จะทำร้ายภาคตะวันออกไปตลอดกาล
“กรณีของนิคมอุตสาหกรรมจะนะก็คล้ายๆกัน มาแบบเดียวกัน กรุงเทพฯคิดมา แล้วมาวางทับความสมบูรณ์ในพื้นที่ทั้งจะนะและภาคตะวันออก...อนาคตอันใกล้ เส้นทางจะนะอาจต้องเดินสู่การฟ้องศาลปกครองเช่นเดียวกับภาคตะวันออก”
ย้ำว่า...การจะตั้งนิคมอุตสาหกรรมให้ได้นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการแก้ไขผังเมืองจะนะจากเดิมที่คนจะนะลงมติให้เป็นสีเขียวคือ... “เกษตรกรรม” ต้องเปลี่ยนให้เป็นสีม่วงก่อนคือพื้นที่ที่สามารถตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้ ซึ่งต้องใช้เวทีการมีส่วนร่วมจริงๆ ไม่ใช่แบบจัดตั้งมายกมือและให้ความเห็นพอเป็นพิธี
หลังจากที่ น้องไครียะห์ ระหมันยะ ได้ประกาศคัดค้านการเปลี่ยนสีผังเมืองจะนะที่หน้าศาลากลาง จนเกิดกระแสขึ้น และ ศอ.บต.ต้องถอย บัดนี้ดูเหมือนว่า ศอ.บต.พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าขั้นตอนสำคัญที่สุดที่ติดขัดให้สำเร็จ นั่นก็คือ...แก้ผังเมืองให้เป็นสีม่วง
พลังประชาชนยังคงสำคัญในดินแดนประชาธิปไตย...เราคนจะนะทุกคนจะต้องช่วยกันระดมความร่วมมือในการ “SaveChana”
“จะนะ”...มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่ง ไม่ควรถูกเปลี่ยนผืนดินอันอุดมเป็นนิคมอุตสาหกรรม 16,753 ไร่ ทะเลจะนะยิ่งสมบูรณ์ ยิ่งไม่ควร สร้างท่าเรือน้ำลึกใหญ่ 3 ท่า เพื่อรองรับอุตสาหกรรม พร้อมโรงงานโรงไฟฟ้าริมชายฝั่งใหญ่โต “เราคนไทยต้องการการพัฒนาแบบไหน คงต้องเริ่มช่วยกันส่งเสียงและกดดันรัฐบาลกันอย่างหนัก”
...
เปิดบันทึกเส้นทางการเดินหน้าให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมในอำเภอจะนะนั้นยังถือว่ายาวไกล...เริ่มจากโครงการนี้มาเงียบๆ ครม.คสช.นัดสุดท้ายลักไก่มีมติไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 อนุมัติในหลักการ
และ...ชงให้ ศอ.บต.เดินหน้า หลังจากนั้นก็มีการกว้านซื้อที่ดินกันขนานใหญ่ มีการจัดตั้งแกนนำท้องที่ท้องถิ่นเป็นกำลังหลักในการผลักดัน จนมกราคม 2563 ก็มีมติ ครม.ซ้ำ ให้...จะนะเป็น “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” เค้าลางเมฆทมึนจึงชัดเจนขึ้นเมื่อต้นปีนี้เอง
การคัดค้านโครงการจะนะอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตนั้น เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่กี่เดือน เพราะกว่าเราจะรู้รายละเอียดในโครงการศึกษา และหารือในหลายกลุ่ม จนมั่นใจว่า...“เสียมากกว่าได้ หายนะมากกว่า พัฒนา ก็ล่วงเลยมาอีกหลายเดือน”
ต้องย้ำว่าที่ผ่านมา...เวทีรับฟังมีคนให้ความเห็นไม่กี่คน เลิกก่อนเที่ยง เพราะมวลชนจะกลับบ้านแล้ว เป็นความสำเร็จในหน้าฉากเป็นพิธีกรรมที่ดูดี แต่ไม่ได้หมายความว่า การเดินหน้านิคมอุตสาหกรรมจะนะจะฉลุย ยังมีอีกหลายยก ทั้งเรื่องการเปลี่ยนสีผังเมือง การทำ EHIA ของนิคมอุตสาหกรรมและรายโรงงาน ฯลฯ
...
ในทางกลับกันปฏิบัติการบอกกล่าวคนไทยของลูกสาวแห่งทะเลน้องยะห์และคณะ ที่ไปกรุงเทพฯ 10 วัน รวมทั้งกระบวนการสื่อสาร #SaveChana ได้สร้างการรับรู้ต่อความไม่เป็นธรรมและหายนะที่จะเกิดในจะนะอย่างกว้างขวางในเวลาสั้นๆได้อย่างเหลือเชื่อ...
“ด้วยเวลาสั้นๆ คนไทยรับรู้แล้วว่าจะนะเกิดอะไรขึ้น และเชื่อว่าต่อจากนี้ไปคนไทยจะโอบล้อมจากภายนอกมาช่วยปลดปล่อยคนจะนะจากอิทธิพลในพื้นที่ที่กดชาวบ้านไว้”
นพ.สุภัทร ย้ำว่า ความไม่ชอบมาพากลที่จะนะ เป็นเรื่องเดียวกันกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาด ไร้ประสิทธิภาพ ผูกขาดจากส่วนกลาง และคอร์รัปชันเป็นขบวนการ? ขบวนการไม่เอานิคมอุตสาหกรรมจะนะ ขบวนการค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขบวนการหยุดคลองไท ขบวนการจัดการน้ำให้ถึงมือประชาชน ขบวนการอันดามันโกกรีน ขบวนการสันติภาพในชายแดนใต้ ขบวนการหยุด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขบวนการเรียกร้องขอรัฐสวัสดิการ ขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย...
ล้วนมีเป้าหมายร่วมกัน คือเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศแห่งความยั่งยืนและความสุขของผู้คนทุกคน ไม่ใช่สุขเฉพาะชนชั้นนำ เพียงแต่เราขยับกันคนละมุมเท่านั้น
...
สำหรับผมเอง การคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ คือส่วนหนึ่ง ของการสร้าง “ธรรมาภิบาล” ในสังคมไทย สลายการกระจุกอำนาจในส่วนกลาง เปลี่ยนวิธีคิดรัฐไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างสันติภาพชายแดนใต้ สร้างประชาธิปไตยจากฐานราก โดยมีการต่อสู้คัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นรูปธรรมการเปลี่ยนแปลง
“เรา” หมายถึง “ผม”...เพื่อนพ้องน้องพี่ คนจะนะที่ตื่นตัว รวมทั้งเครือข่ายมากมาย เราไม่ใช่สู้แค่หยุดนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า...เรากำลังช่วยกันเขียนอนาคตประเทศ เรากำลังร่วมกันเปลี่ยนประเทศไทยให้ก้าวพ้นจากรัฐชนชั้นนำและทุนผูกขาดไปด้วยกัน
แน่นอนว่า...ชุมชนไม่ได้ต้องการการพัฒนาแบบยัดเยียด “ชุมชนจะนะ” ต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่คนในชุมชนได้ร่วมออกแบบอนาคตของตนเอง
ยกเลิกมติ ครม.นิคมอุตสาหกรรมจะนะ #SaveChana #ปกป้องทะเล หยุดเขตอุตสาหกรรมจะนะ.