สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจและเป็นช่องทางให้ต่อสู้ให้กับผู้ค้ำประกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนของผู้ค้ำประกันได้แก้ไขใหม่ ปี 2557 และมีผลบังคับใช้แล้ว

มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการไปค้ำประกันให้กับเพื่อนในที่ทำงาน ต่อมาปรากฏว่าเพื่อนในที่ทำงานคนนี้ ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เนื่องจากไปค้ำประกันให้กับญาติ เรียกได้ว่าได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้าครับ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนรายนี้ จึงขอความรู้ทางด้านกฎหมายค้ำประกันเข้ามาครับ

ข้อต่อสู้ของผู้ค้ำประกันมีหลายช่องทาง แต่ที่เห็นได้ชัดและเป็นข้อต่อสู้ที่มีบรรทัดฐานและแนวทางวินิจฉัยของศาลฎีกาไว้แล้ว กล่าวคือ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ตามที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้น เจ้าหนี้ไม่มีอำนาจฟ้องผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ เจ้าหนี้จะนำหนังสือที่บอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนที่ลูกหนี้ผิดนัดมาใช้อ้างก็ไม่ได้ครับ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง

...

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3777/2560 และ 4603/2562 ซึ่งได้วินิจฉัยในทำนองเดียวกันว่า การที่เจ้าหนี้ไม่มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ไม่มีอำนาจฟ้อง

ประเด็นที่น่าสนใจตามมาอีกว่า การที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะเหตุที่เจ้าหนี้ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น สามารถยื่นฟ้องใหม่ได้หรือไม่

ในประเด็นนี้มีคำพิพากษาฎีกาที่พอจะเทียบเคียงได้ วินิจฉัยไว้แล้วว่า การที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ถือว่าศาลยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเนื้อหาแห่งคดี การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่ จึงไม่ถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาฎีกาที่ 666/2530 คดีก่อนถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ยังไม่ได้มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีแทน บ. ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีเรื่องหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ให้ชำระหนี้โจทก์เหมือนคดีก่อนได้อีก ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 148 เพราะในคดีก่อนศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่เป็นเนื้อหาแห่งคดี

ทั้งนี้ ยังไม่มีคำพิพากษาฎีกาที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับประเด็นของกรณีที่เจ้าหนี้ยื่นฟ้องผู้ค้ำประกัน โดยไม่มีหนังสือบอกกล่าว จนศาลยกฟ้อง และได้นำคดีมาฟ้องใหม่ว่า เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ ในอนาคตอาจจะมีคำวินิจฉัยโดยอ้างอิงมาตรฐานตามคำพิพากษาฎีกาข้างต้น หรืออาจจะมีแนวคำวินิจฉัยใหม่ก็อาจจะเป็นไปได้ครับ

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ

Instagram : james.lk