การประชุมสมัยพิเศษของคณะกรรมการการเกษตร องค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อเดือนที่ผ่านมา...ที่ประชุมให้ความสำคัญเรื่องการค้าสินค้าเกษตรของโลก ภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะด้านห่วงโซ่อุปทานของโลกที่ได้รับผลกระทบต่อการหยุดกิจกรรมทางด้านการผลิต
เพื่อบรรเทาภาวะความขาดแคลนสินค้าในประเทศ ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นอุปสรรคทางการค้าของโลก กลุ่มประเทศสมาชิก WTO ได้ร่วมกันหาแนวทางสำหรับการใช้มาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการห้ามการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการป้องกัน COVID-19
เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกข้าว... อียิปต์ และฮอนดูรัส ห้ามส่งออกพืชตระกูลถั่ว... คาซัคสถาน รัสเซีย และทาจิกิสถาน จำกัดการส่งออกข้าวสาลี
สำหรับประเทศไทย มีมาตรการห้ามการส่งออกไข่ไก่ชั่วคราว (26 มี.ค.-30 เม.ย.63) เพราะในช่วงดังกล่าว แม่ไก่ไข่ในไทยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงปลดระวาง ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ
การใช้มาตรการดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) วิเคราะห์ว่า อาจทำให้อุปทานสินค้าอาหารของโลกลดต่ำลง ราคาสินค้าสูงขึ้น เกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการค้าสินค้าเกษตร และเกิดการขาดแคลนสินค้าอาหารที่สำคัญ และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกในที่สุด
ในขณะที่กลุ่มประเทศต่างๆ อาทิ กลุ่ม Cairns Ottawa และ EU ได้ออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืนการใช้มาตรการทางการค้าในช่วงระหว่างสถานการณ์ COVID-19 ต้องสอดคล้องกฎของ WTO ควรบังคับใช้ชั่วคราว มาตรการมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดการค้าที่เปิดกว้าง และคาดการณ์ได้
...
พร้อมขอให้องค์การการค้าโลกในฐานะผู้ควบคุมการใช้มาตรการของประเทศสมาชิก ควรเร่งแสดงบทบาทอย่างเข้มแข็งในการดำเนินการเร่งรัดสร้างกฎกติกา แนวทางสำหรับการใช้มาตรการต่างๆ
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศสมาชิกในกลุ่ม WTO นำประเด็นข้อจำกัดในช่วงสถานการณ์ COVID-19 มาใช้เป็นข้ออ้าง ที่อาจกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าก็เป็นได้.
สะ–เล–เต