เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในประเทศไทยดีขึ้น ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทำให้ “รัฐบาล” ต่างมีประกาศมาตรการผ่อนปรนออกมาเป็นระยะ เพื่อผู้คนได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ และ “ธุรกิจ” สามารถเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไปได้
อีกทั้งยังมีแผนในการ “คลายล็อกเฟส 5” ในเรื่องอนุญาตให้...“ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิง” สามารถเปิดบริการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ผู้ประกอบการและนักดนตรีที่ได้มาร้องเรียนก่อนหน้านี้
ก้าวต่อไป คือ...“แผนเปิดประเทศ” ที่ให้ “ชาวต่างชาติ” เข้ามาลงทุนในประเทศ ตามแผน “ทราเวลบับเบิล” ที่เป็นการจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ที่ไม่ใช่เป็นการ “เปิดกว้างอย่างเสรี” แต่กำลังมีการเจรจาข้อตกลง กับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทย
ตามข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศที่การระบาดโควิด-19 ดีขึ้น จนสามารถ อนุญาตให้เดินทางระหว่างกันได้ โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน หรือการกักตัวในระยะสั้นๆ ที่ต้องมีมาตรการตรวจโรค และยื่นเอกสารยืนยันการตรวจสุขภาพ แจ้งกับประเทศปลายทางอย่างเข้มงวด
แม้ว่า...“ในไทย” มีการติดเชื้อเฉพาะในกลุ่มคนเดินทางมาจากต่างประเทศก็ตาม แต่สถานการณ์นี้ก็ไม่น่าไว้ใจ เพราะยังมีการแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ “การเปิดประเทศ” กำลังกลายเป็นความท้าทายของประเทศไทย ที่ต้องพิจารณาให้เกิดความสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจและความปลอดภัยไปด้วยกัน
เพราะถ้ามองความปลอดภัยอย่างเดียว ก็ส่งผลให้ประชาชนลำบากที่ต้องมีรายได้ หากแต่จะมองในเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวก็อาจเกิดการระบาดระลอก 2 ตามมาอีก...
...
ก่อนหน้านี้...ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีการแถลงผ่านเฟซบุ๊ก สรุปการระบาดโควิด-19 ทั่วโลก และการปรับกระบวนทัศน์แบบองค์รวม ที่ประเทศไทยต้องทำให้เกิดสมดุลของสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ระบุว่า องค์การอนามัยโลกประกาศเตือนอันตรายของการระบาดระลอก 2
สังเกตจากในประเทศเคยควบคุมการระบาดได้ดี กลับมีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวันอีกในช่วง 2 สัปดาห์มานี้ มี 81 ประเทศ พบว่าผู้ป่วยใหม่เพิ่มสูงขึ้นรายวัน มีเพียง 36 ประเทศที่สถานการณ์ลดลง และตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลก ก็มีอัตราเพิ่มขึ้น เช่น วันที่ 12 มิ.ย. ป่วยเพิ่มขึ้น 1.37 แสนราย ในวันที่ 20 มิ.ย. มี 1.8 แสนราย
โดยเฉพาะในประเทศที่มีการผ่อนคลายเร็วเกินไป ที่มีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่แบบก้าวกระโดด และมีการเสียชีวิตสูงขึ้นตามมา เช่น สหรัฐอเมริกา และบราซิล เช่นเดียวกับในประเทศยุโรป หรือเอเชีย ที่มีแนวโน้มการระบาด ลดลง เมื่อมีการผ่อนปรนให้ประชาชนออกจากบ้านร่วมกัน ก็ทำให้การระบาดกลับมาใหม่เช่นกัน
ย้อนมา...“ในไทย” กำลังเข้าสู่ “การผ่อนคลายเฟส 5” ที่ประชาชนใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น แต่แน่นอนว่า...ถ้าทุกคน ไม่ช่วยกันป้องกัน ก็มีความเสี่ยงเกิดการระบาดอีกครั้ง และตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะสูงกว่าเดิมด้วยซ้ำ จนต้องเข้าสู่โหมดมาตรการป้องกันเข้มงวดอีกได้
กระทั่งเกิดการสูญเสียงบประมาณ มีผลให้เศรษฐกิจเสียหาย ทำให้การฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจ สังคมล่าช้า ดังนั้น ทุกคนยังคงต้องเว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก เพื่อป้องกันการระบาดใหม่นี้ด้วย
ปัจจัยการระบาดรุนแรง มี 5 ส่วน คือ 1. “คน” ทั้งวัฒนธรรม ความคิด พฤติกรรม วินัย 2. “บริหารจัดการ” ต้องตัดสินใจสมดุลกัน ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม จะไม่ให้ความสำคัญด้านใดด้านหนึ่งจนด้านอื่นเสียหาย
ถ้าสุขภาพดี ย่อมส่งผลให้ “เศรษฐกิจและสังคมดี” ขึ้นตามมาด้วย 3. “เทคโนโลยี” ในการตรวจ สืบสวน รักษาพยาบาล และพัฒนาวัคซีน 4. “สถานการณ์ในประเทศ” เพราะในไทยไม่สามารถแยกตัวจากประเทศอื่นที่ยังมีการติดเชื้ออยู่ ก็มีโอกาสหลุดมาแพร่ระบาดได้เสมอ จึงต้องติดตามวางแผน และ 5.ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์
ที่ผ่านมา...การผ่อนปรนแต่ละระยะ ในช่วงแรกก็มีการปฏิบัติกันเข้มงวดดีมาก เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็เกิดปัญหา “ทำบ้าง...ไม่ทำบ้าง” เพราะวางใจ ว่า...ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ จนผ่อนคลายการป้องกันมากเกินไป...
ความจริง...แม้ว่าไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ ก็ไม่ได้แปลว่า “ปลอดภัยจากเชื้อโควิด–19” เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว เช่น “ประเทศจีน” ไม่มีการติดเชื้อ 57 วัน กลับเกิดการติดเชื้อในตลาดตอนใต้ปักกิ่ง ส่วน “ในไทย” ไม่มีผู้ติดเชื้อ 28-29 วัน อีกทั้งคนที่มีภูมิคุ้มกันก็น้อยมาก ทำให้มีโอกาสเกิดการระบาดขึ้นได้เสมอ...
...
เช่นเดียวกับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ในการผ่อนปรนระยะต่อไปนี้ “ผู้ประกอบการ” ต้องมีความรับผิดชอบ ตั้งแต่มาตรการควบคุมจำนวนผู้เข้าใช้บริการ มีการจัดเว้นระยะห่าง จุดล้างมือ คัดกรอง เข้มงวดเช่นเดิม
ยกตัวอย่าง...“ผับ บาร์” ที่ภายในร้านมักมีลักษณะค่อนข้างเล็ก แต่ต้องปฏิบัติตามแบบ New Normal เช่น โต๊ะห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร หรือการทำฉากกั้น ส่วนคนเข้าใช้บริการก็ต้องมีวินัยและความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ไม่ส่งเสียงร้องเพลง เต้นรำ หรือสวมหน้ากากอนามัย ที่อาจจะมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง
ปัจจุบันนี้ต่างคิดกันว่า...ในประเทศไม่มีการระบาดแล้ว ส่วนใหญ่ “ผู้ติดเชื้อ” เป็นคนเดินทางจากต่างประเทศ ทำให้มาตรการทำอยู่นี้เริ่ม “การ์ดตก” เพราะจริงๆแล้ว “เชื้อโควิด–19” ยังมีอยู่ในประเทศไทยตลอดเวลา
สิ่งสำคัญ...“เชื้อนี้” กำลังรอเวลาในการแพร่เชื้อ เมื่อมีการชุมนุมรวมกลุ่มกันอย่างคับคั่ง โดยมีคนติดเชื้อไม่แสดงอาการ ที่จะเป็น “พาหะนําโรคไปสู่บุคคลอื่น” มีข้อสังเกตมาจากในช่วงการระบาดโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการแฝงอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นบุคคลร่างกายแข็งแรง แต่บอกจำนวนตัวเลขไม่ได้แน่ชัดเท่าใด...
คาดว่า...น่าจะมีมากกว่าตัวเลขผู้ที่แสดงอาการ 2–3 เท่า ข้อมูลนี้ได้มาจากการสำรวจตามพื้นที่ต่างๆ เพราะยอมรับว่า “โควิด–19” มีความฉลาดมาก สามารถแฝงตัวในร่างกายของคนแข็งแรง และไม่แสดงอาการได้นานอย่างต่ำ 20 วัน หรือไม่แสดงอาการเลย จนเชื้อนี้ถูกทำลายกลาย เป็นภูมิคุ้มกันเองก็มี
...
ในระหว่างมีเชื้อในร่างกายนี้ก็สามารถแพร่สู่บุคคลอื่นได้เสมอ ฉะนั้นในพื้นที่ใด “มีการตรวจคัดกรอง” ที่เจอผู้ติดเชื้อ ก็ย่อมหมายความว่า...มีผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการแฝงอยู่เสมอในพื้นที่นั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น...ถ้ามีการคลายล็อกเต็มระบบ ที่เกิดการรวมกลุ่มกระจุกตัว “ผู้ติดเชื้อแฝงไม่แสดงอาการ” ก็จะเป็น “สื่อกลาง” กระจายเชื้อได้ ยกตัวอย่าง “ปักกิ่ง” ไม่มีการติดเชื้อรายใหม่ 57 วัน เมื่อปิดตลาดสด ทำให้ คนติดเชื้อไม่มีอาการ นำเชื้อแพร่กระจายระบาดขึ้นอีก
ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้...ในการเปิดพื้นที่ธุรกิจ แต่ต้องมีมาตรการ New Normal ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย และเว้นระยะห่าง เพื่อสร้าง “ความสมุดล” ในเรื่องเศรษฐกิจ และความปลอดภัยของคนไทยทั้งประเทศด้วย
อีกประการ...“ในเรื่องการเปิดประเทศ” เท่าที่รู้นี้ถ้าเป็น “นักธุรกิจ” ไม่ต้องเข้าระบบกักกันตัว “สเตท ควอรันทีน” ที่รัฐต้องกักตัวผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาด ในตรงนี้มองว่า มีความเสี่ยงโอกาสระบาดอีกระลอกได้
เพราะธรรมชาติเชื้อไวรัสนี้ซุกซ่อนอยู่ในอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ โดยที่ผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องแสดงอาการ ดังนั้น คงจะไม่มีประเทศใดการันตีได้ว่า “ปลอดเชื้อโควิด–19 ร้อยเปอร์เซ็นต์”
...
ด้วยเหตุนี้ต้องตรวจผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ตรวจครั้งที่ 1 ในช่วง 5 วัน ก่อนเดินทาง และตรวจครั้งที่ 2 ในช่วง 1 วันก่อนเดินทางนั้น เมื่อเดินทางเข้ามาภายในประเทศแล้ว จำเป็นต้องได้รับการกักตัวเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อรอดูผลตรวจซ้ำครั้งที่ 3 ในช่วง 4-5 วัน หลังจากเดินทางเข้ามาในประเทศ
สำหรับวิธีการเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกัน ถ้าได้ผลเป็น “ผลลบ” ก็สามารถเข้าสู่ประเทศได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการตรวจเลือดจะเป็น “ผลบวก” ผู้เดินทางอาจจะต้องได้รับการกักตัวต่อ 14 วัน หรือตรวจซ้ำด้วยวิธีการแยงจมูก หาก “ไม่พบเชื้อ” ก็จะสามารถเข้าสู่ประเทศได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้เมื่อ “ผ่อนปรนกันแล้ว” ก็ต้องมีมาตรการให้เกิดความสมดุลกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจและความปลอดภัย เพื่อให้คนไทยเกิดความมั่นใจกันด้วย...