ต้นตอของส่วยรถบรรทุกมาจากปมแบกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดหรือไม่

พ.ต.ต.กฤตย์ ธีรเวศย์สุวรรณ สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. ไม่หยิบเอามาเป็นประเด็นไว้ในสารนิพนธ์หัวข้อ “การแก้ไขปัญหารถบรรทุกขนส่งดินอย่างยั่งยืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจทางหลวงนครปฐม”

เจ้าตัวเน้นวิธีด้วยการยึดหลัก “เข้าใจปัญหาในอดีต เข้าถึงปัญหาของผู้ประกอบการในปัจจุบัน และพัฒนาการทำงานของเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา”

เพราะฉะนั้น ตำรวจทางหลวงจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาในอดีตเสียก่อน

เป็นเหตุผลให้ สถานีตำรวจทางหลวงนครปฐม จัดการอบรมให้ความรู้ตำรวจในสังกัดที่ย้ายเข้ามาใหม่ถึงนโยบายการทำงาน

ไม่อนุญาตให้ขึ้นรถตรวจการณ์ ถ้าประสบการณ์และความรู้ไปบังคับใช้กฎหมายยังไม่เพียงพอ

หลังจากนั้นเชิญผู้ประกอบการมาพบปะพูดคุย รับฟังความคิดเห็นว่า มีปัญหาอย่างไร อธิบายสาเหตุของกฎหมายที่บังคับใช้ในรูปแบบดังกล่าวเพราะอะไร สังคมและผู้ประกอบการจะได้อะไร หากปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ตลอดจนสร้างแนวร่วมผู้ประกอบการโดยเปิดช่องทางแจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิดให้ตรวจสอบกันเอง บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ไม่เลือกปฏิบัติกับผู้ประการรายใดรายหนึ่ง

มีลักษณะเป็นกรรมการ “ผู้คุมกฎ” ไม่โดดลงเป็นผู้เล่นเองเพื่อไม่ให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นการ “สร้างปัญหาเพิ่ม” แก่ผู้ประกอบการ หรือแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

สรุปหัวใจสำคัญอยู่ที่หลักในการทำงานที่ถูกต้อง มีความเป็นกลางในการแก้ไขปัญหา

พัฒนาไปสู่ความยั่งยืน.

...

สหบาท