มาว่ากันต่อเรื่อง CPTPP ที่โลกโซเชียลประโคมจนทำผู้คนหวาดกลัว...ขืนเข้าร่วม ต่อไปเกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อไม่ได้ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์แพง เกษตรกรต้องเป็นทาสบริษัทข้ามชาติ
เพราะเข้าร่วม CPTPP ไทยต้องเข้าไปเป็นสมาชิกสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือภาคีในอนุสัญญา UPOV1991 ว่าด้วยพันธุ์พืชโดยอัตโนมัติ
เป็นแล้วจะเป็นยังไง เกษตรกรจะเดือดร้อนเหมือนที่เอ็นจีโออ้างมั้ย
ข้อมูลจาก ผอ.กลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ในเวทีสัมมนา “CPTPP : เกษตรไทยเสียเปรียบจริงหรือ?”...UPOV1991 คุ้มครองแต่เฉพาะพืชพันธุ์ใหม่เท่านั้น
พันธุ์พืชของรัฐ พันธุ์พืชนำเข้า พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ท้องถิ่น พืชป่า สมุนไพร พันธุ์พืชที่มีการขายมาแล้วเกินกว่า 1 ปี...ไม่คุ้มครอง
นี่เป็นเรื่องเก่า แถมบ้านเรามี พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 บังคับในทำนองเดียวกันอยู่แล้ว ไม่เห็นจะมีเกษตรกรตกอยู่ในสภาพเหมือนที่
เอ็นจีโอว่าแต่อย่างใด
ยิ่งถ้าเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP จะยิ่งเป็นผลดีมากกว่า เพราะ UPOV1991 จะคุ้มครองทุกส่วนของพันธุ์พืชไปยันพันธุกรรมสำคัญจากพันธุ์พืช (EDV)
ในขณะที่ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชของบ้านเราคุ้มครองแค่ส่วนขยายพันธุ์ เมล็ด กิ่ง หน่อ เท่านั้น
มันเลยทำให้ทุกวันนี้ พันธุ์พืชของบ้านเราหลายตัวถูกประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าลักลอบนำไปปรับปรุงพันธุ์ได้อย่างหน้าตาเฉย แล้วเอาไปจดทะเบียนพันธุ์เป็นของตัวเองอีกต่างหาก
แต่ถ้าเราเป็นสมาชิก UPOV1991 เรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น พันธุ์พืชของไทยจะได้รับการคุ้มครองมากขึ้น...นอกจากนั้นยังมีผลดีต่อการส่งออกอีกด้วย
เพราะการเป็นสมาชิกจะทำให้พืชผักผลไม้ไทยที่ส่งไปขายต่างประเทศจะได้รับการคุ้มครอง ไม่ให้ประเทศอื่นนำไปปรับปรุงพันธุ์ได้ด้วย เพียงแต่เราต้องไปจดทะเบียนคุ้มครองในประเทศนั้นๆ เหมือนกับการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญานั่นแหละ
...
จะไม่เหมือนปัจจุบัน ที่ประเทศไหนๆเอาพันธุ์ของเราไปปรับปรุงเป็นพันธุ์ของตัวเองได้.
สะ–เล–เต