ในปัจจุบันที่มีการแพร่และเกิดการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 “โควิด-19” อย่างกว้างขวาง การประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ในทางการแพทย์ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยติดเชื้อและป้องกันการติดเชื้อต่อบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างมาก... ลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อที่มีค่อนข้างสูง

ถึงแม้ว่าบุคลากรเหล่านี้จะมีเครื่องมือและอุปกรณ์ป้องกันตัวเองต่างๆ อย่างครบครัน ก็ไม่สามารถรับประกันว่าจะป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม

“หุ่นยนต์แบ่งปัน” หรือ “หุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์ IRAPs SHaRE-aGIVeR” เป็นอีกหนึ่งผลงานสะท้อนความสำเร็จฝีมือคนไทยที่ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาสร้างขึ้นมาใช้งานได้จริง

ว่ากันทางเทคนิค “น้องแบ่งปัน” เป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติขับเคลื่อนด้วยระบบล้อแบบเมคคานัม (Mecanum) ทำให้สามารถเคลื่อนที่ได้แบบอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการหมุนรอบตัวเอง หรือเคลื่อนที่แนวทแยงมุม

เซ็นเซอร์ที่ใช้ประกอบไปด้วย กล้อง lidar และ ultrasonic สามารถสร้างแผนที่ได้ทั้งแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ ทำให้แผนที่มีรายละเอียดของสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ภายในพื้นที่การทำงาน

...

ผู้ใช้สามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้ผ่านคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือว่าแท็บเล็ต และเป็นการควบคุมแบบอัตโนมัติ หรือแบบใช้คนบังคับก็ได้...ทั้งยังมีระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ ทำให้ทีมบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกับผู้ป่วยได้ หรือนำไปใช้เพื่อลดความเครียดให้กับผู้ป่วยโดยการเปิดเพลง หรือเปิดวิดีโอต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีระบบการหลบหลีกสิ่งกีดขวางที่อยู่นิ่ง หรือสิ่งกีดขวางที่กำลังเคลื่อนที่ได้ พร้อมๆกับความสามารถในการนำส่งสิ่งของเวชภัณฑ์ ยา อาหาร หรืออื่นๆ ให้กับผู้ป่วยได้เช่นกัน

เพื่อความปลอดภัย ได้กำหนดความเร็วในการเคลื่อนที่เอาไว้ที่ 0.25 เมตรต่อวินาที แต่สามารถวิ่งได้เร็วสูงสุด 1 เมตรต่อวินาที... ขุมพลังงานมาจากแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนฟอสเฟต โดยแบตเตอรี่ 1 ชุด สามารถทำงานได้ 8 ชั่วโมง

วันนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อและจำนวนผู้ป่วยสะสมทั่วโลกทะลุเกิน 8,000,000 คน ในขณะที่ผู้เสียชีวิตจำนวนเกิน 400,000 คน เหตุการณ์นี้นับเป็นวิกฤตการณ์ที่แพร่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก ทำให้นักวิจัยยังคงมุ่งมั่นในการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้

สำหรับสถานการณ์ใน “ประเทศไทย” ถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่เราทุกคนไม่ควรนิ่งนอนใจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และ กลุ่มบริษัทโปลิโฟม จึงร่วมกันพัฒนาน้องแบ่งปันขึ้นมา

เพื่อให้เป็นหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์...IRAPs SHaRE-aGIVeR (ไอ-ราฟ แชร์-อะ-กิฟ-เวอร์) ส่งมอบให้แก่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ นำไปใช้งานในโรงพยาบาล เพื่อลดการสัมผัส เว้นระยะห่าง ป้องกันการแพร่เชื้อโรค

ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ย้ำว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์ ก็เพื่อนำไปใช้งานในโรงพยาบาล

จุดเด่นของ “หุ่นยนต์แบ่งปัน” สามารถช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ในเรื่องการขนส่งเวชภัณฑ์ต่างๆ และทำให้คุณหมอหรือพยาบาลสามารถสื่อสารทางไกลกับคนไข้ได้

“หุ่นยนต์มีความสามารถในการสร้างแผนที่และจดจำตำแหน่งที่ต้องปฏิบัติงาน...เมื่อได้รับคำสั่งจะเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ พร้อมกับความสามารถในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางในระหว่างการเคลื่อนที่ได้ ไม่ว่าสิ่งกีดขวางนั้นจะเป็นแบบอยู่กับที่ หรือสิ่งกีดขวางที่กำลังเคลื่อน ที่อยู่”

จากภาวะวิกฤติจากสถานการณ์โควิด-19 ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC เสริมว่า ในฐานะภาคเอกชนเราต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความปลอดภัยจึงได้ประสานงานความร่วมมือกับพันธมิตรทั้ง 4 องค์กรร่วมศึกษา พัฒนาอุปกรณ์ให้ตรงกับความต้องการของแพทย์

...

...เป็นที่มาของความร่วมมือในการพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบในครั้งนี้ โดย GC ได้ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติด้วยเม็ดพลาสติกย่อยสลายได้เกรดพิเศษ ทำให้มีความเหมาะสำหรับการขึ้นรูปชิ้นงานที่มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น ไม่แตกหักง่าย มาผลิตเป็นส่วนประกอบของถาดวางเครื่องมือและอาหารของหุ่นยนต์

รวมถึงสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำหุ่นยนต์ นอกจากนี้สถาบันวิทยสิริเมธีก็เป็นผู้สนับสนุนซอฟต์แวร์ออกแบบ สร้างระบบเว็บเพจที่สามารถบันทึกข้อมูลของคนไข้

“ทำให้การสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับคนไข้มีความชัดเจน...ไม่ผิดพลาดในการรักษา การดำเนินงานในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่นำความถนัด ความสามารถที่ตนเองมีออกมาใช้เพื่อช่วยเหลือภาคสังคมร่วมกัน”

รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิบการดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช บอกว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะดีขึ้น แต่ยังคงมีการติดและการแพร่เชื้อจากโรคอื่นๆ อีกมากมายภายในโรงพยาบาล

“ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนยังคงตระหนัก ให้ความสำคัญ และยังคงร่วมมือกันในการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรับมือ เตรียมพร้อมตลอดทุกช่วงเวลา”

หุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์...“น้องแบ่งปัน” ทางมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชจะนำไปใช้ในพื้นที่ของโรงพยาบาลวชิรพยาบาล เพื่อช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient Under Investigation : PUI)

รวมถึงผู้ป่วยภายในโรงพยาบาล...ถือเป็นการแบ่งเบาภารกิจ อำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย โดย “หุ่นยนต์แบ่งปัน” สามารถนำส่งสิ่งของ ยา เวชภัณฑ์ อาหาร แฟ้มทะเบียนประวัติคนไข้ เวลาเดินตรวจ ฯลฯ ไปยังจุดต่างๆที่ได้กำหนดไว้แบบอัตโนมัติ

...

น่าสนใจด้วยว่าน้องแบ่งปันยังมีความสามารถในการลดความเครียดให้กับผู้ป่วยได้ด้วยการเปิดเพลง หรือเปิดวิดีโอต่างๆ นับรวมไปถึงระบบการประชุมทางไกลระหว่างคนไข้กับหมอได้อีกด้วยก็สามารถทำได้

ความสำเร็จการผสานความร่วมมือในวันนี้มาจากภาคการศึกษา ภาคเอกชน ถือเป็นการทำงานเชิงรุกร่วมกัน สะท้อนว่า...“คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก”

และถือเป็นอีกขั้นของความร่วมมือที่มุ่งหวังให้บุคลากรทางการแพทย์ของไทย...คนไทยทุกคนผ่านช่วงวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 และเชื้อโรคต่างๆ ไปด้วยกันอย่างปลอดภัย

“น้องแบ่งปัน หุ่นยนต์ฝีมือคนไทยสู้โควิด-19...100% ไม่มีติดเชื้อ” เป็นอีกหนึ่งตัวช่วย แบ่งเบาภาระ ลดความเสี่ยงสำคัญในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ “นักรบชุดขาว”

ที่สำคัญ...เราทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจมีเป้าหมายหัวใจเดียวกัน “ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก”...ป้องกันตัวเองเท่ากับป้องกันคนอื่น.