สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจและผมเชื่อว่าในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีแบบนี้ น่าจะมีคนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเป็นจำนวนมาก เรื่องมีอยู่ว่า มีผู้ชายคนหนึ่งมีความจำเป็นอยากจะใช้เงินสด จำนวน 50,000 บาท พอดีเห็นเพื่อนใน Facebook อ้างว่าเป็นนายทุน โพสต์ในทำนองว่า ต้องการปล่อยเงินกู้ ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ไม่ต้องมีหลักประกัน เห็นใจคนลำบากช่วงโรคระบาดโควิด-19 ผู้สนใจกู้เงินใช้แค่สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สมุดเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็มเท่านั้น
ผู้ชายคนนี้หลงเชื่อครับ จึงนัดเจอกับนายทุน พร้อมกับนำเอกสารสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สมุดเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็ม ไปมอบให้แก่นายทุน ตามที่ตกลงกัน และนัดวันที่จะมาเซ็นสัญญาพร้อมส่งมอบเงินกันอีก 7 วัน
เมื่อถึงเวลานัดหมายปรากฏว่า นายทุนแจ้งว่ากำลังเดินทางไปแถวบ้านของเหยื่อรายนี้ครับ บ่ายเบี่ยงอ้างว่า หลงทางบ้าง ไม่รับสายบ้าง สุดท้ายปิดกั้นการติดต่อทุกช่องทางครับ
ประเด็นปัญหา คือ ถ้านายทุนเป็นมิจฉาชีพจริง สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สมุดเงินฝาก และบัตรเอทีเอ็ม จะเอาไปทำอะไรก็ได้บ้าง
สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านมีรายละเอียดข้อมูลของบุคคลทั้งหมด เช่น ชื่อนามสกุล เลขที่บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ วันทำบัตรประชาชนและวันหมดอายุ
ส่วนทะเบียนบ้านจะมีเลขรหัสประจำบ้าน เลขที่บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ รวมถึงชื่อพ่อแม่ รวมถึง เลขที่บัตรประชาชนของพ่อแม่ ด้วย ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้สามารถนำไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลในบัตรเครดิต หรือเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลในระบบออนไลน์ เช่น อีเมล Facebook หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ เป็นต้น
ส่วนสมุดเงินฝากและบัตรเอทีเอ็ม มิจฉาชีพสามารถนำไปใช้ในการหลอกเงินคนอื่น แล้วนำเงินที่หลอกได้นั้น โอนผ่านบัญชีเงินฝากและใช้บัตรเอทีเอ็มดังกล่าว เบิกถอนออกมา ซึ่งอาจจะทำให้เจ้าของบัตรเอทีเอ็มและสมุดบัญชีเงินฝากได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากอาจจะต้องไปเป็นพยาน ในกรณีที่มีการฉ้อโกงเงินกัน และโอนเงินผ่านบัญชีเงินฝากของเหยื่อ และกดเงินออกไปด้วยบัตรเอทีเอ็มของเหยื่อ
...
หากท่านเจอสถานการณ์แบบนี้ให้รวบรวมหลักฐาน ตั้งแต่ข้อมูลที่ปรากฏใน Facebook ของมิจฉาชีพ การโพสต์ข้อความเชิญชวน การสนทนาผ่าน Facebook รวมไปถึงการสนทนาผ่านแอปพลิเคชันอื่นๆ (ถ้ามี) และแคปหน้าจอในส่วนของการโทรศัพท์ติดต่อกับมิจฉาชีพ
มีตัวอย่างคดีหลอกเอาบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายไปกดเงินเจอแล้วนะครับ
คำพิพากษาฎีกา 671/2539
จำเลยอาสานำบัตรบริการเงินด่วนของผู้เสียหายไปตรวจสอบยอดเงินในบัญชีเงินฝาก แต่กลับนำบัตรไปเบิกถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารไป ถือว่าจำเลยหลอกเอาบัตรบริการเงินด่วนของผู้เสียหายไป เพื่อเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากในธนาคารของผู้เสียหายจากตู้เอทีเอ็มของธนาคาร เงินที่เบิกถอนนั้นเป็นของผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงเงินของผู้เสียหาย แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลก็ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิด เอาไปเสีย ซึ่งเอกสารของผู้อื่น และนำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นไปใช้ ก็ต้องรับโทษหนักขึ้นอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 , มาตรา 269 / 5 , มาตรา 269 / 7 แล้วแต่กรณี
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 188 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 269/7 ถ้าการกระทำในหมวดนี้ เป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง
สุดท้ายนี้ อยากให้ทุกท่านพิจารณารายละเอียดต่างๆ ให้ดีก่อนมอบเอกสารสำคัญครับ เอกสารที่จะมอบให้ใครไปนั้น ก็ควรจะเขียนข้อความกำกับให้ชัดเจนว่า เอาไปใช้เพื่อการใด หากไว้ใจไม่ได้จริงๆ ก็อย่าส่งมอบให้ใคร จนกว่าจะได้รับมอบเงินครับ
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK
Instagram: james.lk