เพื่อนทนายฮือฮาในกลุ่มไลน์ว่ามีอยู่วันหนึ่ง ขณะนั่งให้คำปรึกษาอยู่บนสถานีตำรวจนครบาลแห่งหนึ่ง อดีตนักโทษชายคนหนึ่งเข้ามายกมือไหว้ ขอคำปรึกษาว่าเขาทำ “ใบบริสุทธิ์” หาย?
ไอ้ใบนี้มันไม่เหมือนเอกสารหายธรรมดา ที่เสมียนเวรช่วยจดแจ้งในบันทึกประจำวันได้ แต่มันมีความสำคัญแบบเอาเป็นเอาตาย เพราะถ้าตำรวจขอดูแล้วไม่มีจะซวยเอา...
เพื่อนทนายความถึงกับงง ไอ้ใบนี่มันคืออะไร?
เรื่องนี้ว่าที่ พ.ต.ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา อธิบายผ่าน “ส่องตำรวจ” มาว่า...หลายท่านเมื่อได้ยินคำว่า “ใบบริสุทธิ์” จะรู้สึกแปลกใจ มีคำถามว่า มีด้วยหรือ?
ใบบริสุทธิ์เป็นคำเรียกเอกสารราชการในกลุ่มคนเรือนจำ เป็นเอกสารที่ทุกคนอยากได้ แต่ไม่อยากโชว์?!
พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ 2560 มาตรา 67 บัญญัติว่า เมื่อจะปล่อยตัวผู้ต้องขังให้ปฏิบัติดังนี้
1.เรียกคืนทรัพย์สินที่เป็นของราชการ
2.จ่ายเครื่องแต่งกายตามที่กรมราชทัณฑ์กำหนด สําหรับผู้ต้องขังที่ไม่มีเครื่องแต่งกายออกจากเรือนจำ
3.ทําหลักฐานการปล่อยตัว
4.คืนทรัพย์สินของผู้ต้องขัง รวมทั้งเงินรางวัลและเงินทําขวัญ
และ 5.ออกใบสำคัญการปล่อยนักโทษเด็ดขาดที่พ้นโทษ
ดูแล้วไม่เห็นมีตรงไหนบอกว่า ต้องออกใบบริสุทธิ์?
ต้องไปดูกฎกระทรวงมหาดไทย มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ 2479 ข้อ 132 กำหนดไว้ว่า เมื่อจะปล่อยผู้ต้องขัง นอกจากทำตามข้อ 1-4 แล้ว ข้อ 5 ต้องออกใบสุทธิด้วย
ใบสุทธิเป็นหลักฐานการปล่อยตัว วงการคนในเรือนจำเรียกกันจนชินว่า “ใบบริสุทธิ์” ทำให้ผู้พ้นโทษรู้สึกเหมือนตัวเองได้เป็นคนที่บริสุทธิ์ ได้รับการปล่อยตัวอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
...
บ้างเปรียบเปรยว่า ใบสุทธิหรือใบบริสุทธิ์คือ ใบประกาศแสดงว่าผู้ต้องขังสำเร็จหลักสูตรการติดคุกมาแล้ว!
แม้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ฉบับปัจจุบัน ยกเลิกคำว่าใบสุทธิแล้ว แต่วงการเรือนจำยังเรียกติดปาก
หนังสือสำคัญฉบับนี้ หากไม่จำเป็น คงไม่มีใครใส่กรอบ แขวนโชว์แน่?
ถ้าทำหายระหว่างพักโทษ ต้องไปรายงานตัวกับเจ้าพนักงานคุมประพฤติขอใบแทน
แต่ถ้าหายเมื่อพ้นโทษแล้ว ต้องไปขอให้กรมราชทัณฑ์ออกให้ใหม่!
สหบาท