นับตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. 2563 ที่ยังมีเกิด

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศทางตะวันตก เริ่มมี “เด็กติดเชื้อไวรัสนี้” ด้วย อาการประหลาด ทั้งมีป่วยไข้สูง ผื่นที่ผิวหนัง และหัวใจอักเสบ ลักษณะคล้ายกับ “โรคคาวาซากิ” จนมีอาการแทรกซ้อนให้ “ช็อกเสียชีวิต” ในเวลาต่อมา...

ปัญหาแทรกซ้อนของโรคนี้...ที่กำลัง “ลบข้อมูล” ของความเชื่อที่ว่า “เด็ก” มีความเสี่ยงติดโควิด-19 อันตรายถึงชีวิตน้อยกว่า “ผู้สูงอายุ” กลาย เป็นเรื่องสร้างความกังวลใจให้ครอบครัว ที่มีเด็กเล็กไปแล้วในขณะนี้...

แม้แต่...“วงการแพทย์” ก็ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่า...“มีความเกี่ยวกับโควิด-19 หรือไม่” ทำให้เป็นที่มาของคำแนะนำว่า...หากอาการเด็กน่าสงสัยเข้าลักษณะกลุ่มอาการ “โรคคาวาซากิ” หรือ “ภาวะช็อก” ที่อธิบายสาเหตุไม่ได้ ต้องให้เฝ้าระวังความสัมพันธ์กับการติดเชื้อโควิด-19 ในการตรวจหาเชื้อนี้ร่วมไปด้วย...

...

รายงานเด็กเสียชีวิตด้วยอาการโรคคาวาซากิ ที่อาจเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับการติดเชื้อโควิด-19 นี้ ดร.สิทธิพร ภัทรดิลกรัตน์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานโครงการสนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกด้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สกสว. ให้ข้อมูลว่า...

สำหรับ “โรคคาวาซากิ” (Kawazaki disease) เป็นโรคที่มีสาเหตุ การเกิดไม่ทราบแน่ชัด เมื่อมีการติดเชื้อในผู้ป่วยเกิดขึ้น มักทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานดีมากจนเกินไป กลายเป็นการทำร้ายตัวเอง จนสุดท้าย ส่งผลต่อหลอดเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจ และเกิดการโป่งพอง ในอดีตโรคนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก มีอัตราเพียง 1 ต่อ 1 แสนด้วยซ้ำ

ทว่า...นับตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 มีรายงานในหลายประเทศ ทั้งในประเทศ สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในทวีปยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน กลับมีอุบัติการณ์ของ “โรคคาวาซากิ” ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเพิ่มสูงขึ้น เมื่อมีการตรวจสอบในผู้ป่วยนี้มีบางรายพบว่ามีการติดโรคโควิด-19 ด้วย

กระทั่ง...“ทั่วโลก” ตระหนักถึงผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กเพิ่มขึ้นอีก จนมีรายงานในประเทศอิตาลี ที่เป็นประเทศรับผลกระทบจากโรคโควิด-19 มีตัวเลขผู้ป่วยสูงอยู่ ที่มีการเปรียบเทียบข้อมูลอัตราการพบโรคคาวาซากิในเด็ก 2 ช่วง คือ...

ช่วงที่หนึ่ง...ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2015 จนถึงวันที่ 17 ก.พ.2020 ระยะเวลา 5 ปี ที่เป็นช่วงก่อนมีการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศอิตาลี พบว่า มีผู้ป่วย “โรคคาวาซากิ” ในเด็กจำนวน 19 ราย จำนวนนี้ผู้ป่วย มีอายุเฉลี่ย 3 ขวบ และในช่วงที่สอง...ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.2020 จนถึงวันที่ 20 เม.ย.2020

ระยะเวลา 2 เดือนนี้ ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก ปรากฏว่า...ผู้ป่วยจำนวน 10 ราย ที่เป็นผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ย 3 ขวบ เมื่อตรวจ วินิจฉัยโรคโควิด-19 ในเด็กช่วงที่สอง พบว่าผู้ป่วยจำนวน 8 ใน 10 รายนี้ มีแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2

ในผู้ป่วย 2 ราย ตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 ถ้าเปรียบเทียบโอกาสในการเกิดโรคของ 2 ช่วงนี้ พบว่าช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 มีการระบาดของโรคคาวาซากิในเด็กเพิ่มสูงขึ้น 30 เท่า แสดงให้เห็นว่าการระบาดของโรคโควิด-19 น่าจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดโรคคาวาซากิได้

...

อย่างไรก็ดี... “โรคคาวาซากิ” ยังเป็นโรคไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แพทย์วินิจฉัยจากอาการ เช่น เด็กมีไข้สูงเกิน 38-40 องศาฯ นานกว่า 5 วัน นอกจากนี้อาจพบอาการอื่น เช่น ตาแดง ริมฝีปากแห้ง ลิ้นแดง ฝ่ามือและเท้าบวมแดง ในบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนการเกิดการอักเสบของหัวใจ และหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ

อาจทำให้หลอดเลือดหัวใจมีลักษณะโป่งพอง ตีบหรือแคบได้ ในรายที่หลอดเลือดตีบแคบมาก อาจเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้...

ทั้งนี้ ภาวะแทรกซ้อนมีโอกาสเกิดเพียง 5% หาก “เด็ก” ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ โรคคาวาซากิยังสามารถรักษาหายได้ โดยการให้ยาแกมมา โกลบูลิน (Intravenous immunoglobulin, IVIG) และในช่วงระยะเฉียบพลัน แพทย์จะให้ยาแอสไพริน เพื่อลดอาการอักเสบ

ไม่นานต่อมาก็มีรายงานต่ออีก...ในวารสาร Hospital Pediatrics มีผู้ป่วยเป็นเด็กอายุ 6 เดือน จำนวน 1 ราย ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีไข้สูงเกิน 38 องศาฯ ไม่อยากอาหาร แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีการไอ น้ำมูกไหล หรือคัดจมูก ต่อมามีผื่นแดงตามตัว ตาแดง และมือบวม ซึ่งเป็นอาการคล้ายกับอาการของโรคคาวาซากิ

เมื่อผู้ป่วยรายนี้ตรวจพบเชื้อ SARS-CoV-2 แม้ว่าจะไม่ได้แสดงอาการ ป่วยโรคโควิด-19 หลังผู้ป่วยรับการรักษาด้วยแกมมา โกลบูลิน ขนาด 2 g/kg 1 โดส เพื่อลดโอกาสการเกิดหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโป่งพอง ร่วมกับ acetylsalicylic acid หรือ ASA ขนาด 20 mg/kg 4 ครั้ง

ภายใน 1 วัน อาการไข้ก็ลดลง และผู้ป่วยถูกกักตัว 14 วัน จนปลอดภัยไม่มีภาวะแทรกซ้อน...

ต่อมาก็มีรายงานเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ...ของผู้ป่วยโรคคาวาซากิในผู้ป่วยเด็ก ในนครนิวยอร์ก 15 ราย และเสียชีวิต 3 ราย อีกทั้งในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็มีการรายงานในวารสาร Lancet ว่า พบเด็กอายุ 4-14 ปี ในจำนวน 8 ราย มีภาวะ Hyperinflammatory shock คล้ายกับอาการของโรคคาวาซากิเช่นกัน

...

ผู้ป่วยมีไข้สูงมากถึง 38-40 องศาฯ มากกว่า 4-5 วัน มีการแสดงอาการ ปวดหัว ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง ตาแดง และมีผื่นขึ้นตามตัว บวมตามลำตัว มือ เมื่อตรวจระดับโปรตีนในเลือด พบว่า โปรตีนมีค่าสูง ได้แก่ CRP (C-reactive protein) ESR (erythrocyte sedimentation rate) และ ferritin สูงเกินมาตรฐาน

สิ่งที่น่าสนใจ...มีสมาชิกในครอบครัวของเด็ก 4 ใน 8 ราย เคยติด โรคโควิด-19 แม้ว่าเด็กจะตรวจไม่พบเชื้อ SARS-CoV-2 ก็ตาม และผู้ป่วย เด็กเหล่านี้ได้รับการรักษา โดยให้ IVIG ในช่วงเวลา 24 ชม. ที่ได้รับ ยาปฏิชีวนะ (ceftriaxone และ clindamycin) การรักษาได้ผลดีเด็กมีอาการดีขึ้นในเวลา 4–6 วัน

สำหรับโรคคาวาซากิ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลอดเลือดแดงที่ เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบโป่งพอง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ในสภาวะแทรกซ้อนนี้อาจเป็นสาเหตุเสียชีวิตได้ แม้ไม่เสียชีวิตก็อาจจะเป็นโรคนี้ไปตลอดชีวิตของเด็กคนนั้นก็ได้

และมีคำถามว่า...“โควิด-19” เป็นสาเหตุนำของ “โรคคาวาซากิ” หรือไม่ ในเรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปสาเหตุชัดเจน เพราะยังไม่มีผู้ป่วย “โรคคาวาซากิ” นำไปสู่การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกราย แต่มีแนวโน้มของโรคทั้ง 2 โรคนี้มีความสัมพันธ์ร่วมกันอยู่...

โชคดี...“เมืองไทย” ยังไม่มีรายงานว่า “เด็กติดเชื้อโรคโควิด-19” และนำมาสู่การเป็น “โรคคาวาซากิ” แต่เพื่อความไม่ประมาท...บุคลากรทางการแพทย์ หากพบว่า...มีเด็กป่วยด้วยอาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ควรต้องวินิจฉัย “โรคคาวาซากิ” ควบคู่ไปพร้อมด้วยเลย

...

มองว่า...สาเหตุ “ในประเทศ” มีรายงานเกิดโรคคาวาซากิสูงนี้มาจาก การระบาดโควิด-19 ที่มีตัวเลขสูงอยู่ ตามปกติ...ผู้ป่วยติดเชื้อเป็นอันตราย คือ “ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ” ส่วน “เด็ก” ติดเชื้อเพียงราวร้อยละ 2 ที่มีประวัติสัมผัสคนในครอบครัวติดเชื้อมาก่อน ลักษณะในเด็กติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มักไม่มีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดทั่วไป

นับว่าเป็นเรื่องดีที่ไม่ส่งผลให้ถึงเสียชีวิต ยกเว้นมีการระบาดเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้ยิ่งมีโอกาสเกิด “โรคคาวาซากิ” เพิ่มตามมา ทำให้มีโรคแทรกซ้อนควบคู่กัน จนอาการป่วยเด็กแย่ลงมากกว่าเดิม ฉะนั้นการค้นพบของ “โรคคาวาซากิ” ในเด็กที่สูงขึ้น 30 เท่านี้ มักเกิดอยู่ในประเทศที่มีการระบาดโรคโควิด-19 อย่างหนัก

ส่วนประเทศไทยมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังน้อยมาก ที่มาจากบุคคล 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มคนต่างชาติติดเชื้อแล้วนำเข้ามาในประเทศ 2.กลุ่มแรงงานต่างด้าว และกลุ่มคนไทยกลับเข้ามาในประเทศ

ถ้ารัฐบาลไทยยึดมาตรการตามหลักสาธารณสุขอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะ “สเตตควอรันทีน” ที่ให้ผู้มีความเสี่ยงเกิดโรค “แยกตัว” ออกจากชุมชนเพื่อสังเกตอาการของตัวเอง และป้องกันคนอื่นติดเชื้อจากผู้ที่มีความเสี่ยงด้วย “ทุกคน” ต้องมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลประกาศไว้นี้แล้วด้วย...

ถ้าเช่นนี้มั่นใจว่า...สามารถควบคุมไม่ให้มีการระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 2 หรือระลอกที่ 3 ขึ้นได้ นั่นหมายความว่า...โอกาสเกิด “โรคคาวาซากิ” เข้ามาแทรกซ้อนซ้ำเติมก็น้อยลงด้วยเช่นกัน.