กรมการแพทย์ เตือนประชาชนป้องกันตัวเองจาก "โรคไฟลามทุ่ง" โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม พร้อมแนะนำวิธีป้องกันตนเอง

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เราทุกคนมีแบคทีเรียที่ผิวหนังด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งปนเปื้อนมาจากสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไป จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการรักษาความสะอาดของร่างกายในแต่ละบุคคล หากเราดูแลความสะอาดของร่างกายไม่ดี แบคทีเรียที่อยู่ตามผิวหนังก็พร้อมที่จะทำร้ายร่างกายของเราได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะโรคไฟลามทุ่ง ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง

ทั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่ 1 เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียของชั้นหนังแท้ และชนิดที่ 2 เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียลึกลงไปถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนัง โรคไฟลามทุ่งมักจะพบในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้ป่วยที่ได้รับยากินสเตียรอยด์ ยากดภูมิ มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ ในผู้ป่วยเหล่านี้ โรคไฟลามทุ่งมักเป็นที่ขา โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาขาบวมน้ำเหลือง เคยผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ และเคยผ่าตัดเส้นเลือดดำที่ขา เพราะการไหลเวียนเลือดและน้ำเหลืองเสียไป แต่โรคไฟลามทุ่งก็มีโอกาสเป็นในผู้ที่มีสุขภาพปกติได้เช่นกัน โดยมักจะเป็นที่ใบหน้า จากสถิติจะพบในผู้ที่ประวัติทำหัตถการเสริมความงามที่ใบหน้า

ทางด้าน แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้แนะนำวิธีการสังเกตอาการของโรคไฟลามทุ่ง ดังนี้ หากผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นบวมแดง ปวดร้อน ตรงกลางผื่นอาจมีตุ่มน้ำใส หรือตุ่มหนอง บางรายอาจมีไข้ ปวดเมื่อยร่วมด้วย หากพบอาการผิดปกติเหล่านี้ให้สันนิษฐานทันทีว่าอาจจะเป็นโรคไฟลามทุ่ง ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะต้องรีบให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ซึ่งผู้ป่วยขณะรักษาตัวต้องนอนพัก ยกแขนขาหรือส่วนที่เป็นโรคให้สูง เจาะระบายหนอง (ในรายที่มีหนอง) ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือปลอดเชื้อ หากรักษาล่าช้าจะทำให้แบคทีเรียลุกลามเข้ากระแสเลือด อาจทำให้เสียชีวิตได้ หรือรักษาแล้วอาจไม่หายขาด

...

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ยังได้แนะนำวิธีการป้องกัน โรคไฟลามทุ่ง ด้วยวิธีง่ายๆ คือ การอาบน้ำทำความสะอาดใบหน้า และร่างกายอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ถ้าร่างกายสกปรก เช่น เหงื่อออกมาก หมักหมม ลงแช่น้ำสกปรก ตากฝน ต้องรีบอาบน้ำทำความสะอาดทันที ถ้าเท้ามีผื่น แผล เส้นเลือดขอด หรือเป็นเบาหวาน ต้องหมั่นตรวจดูเท้าทุกวัน อย่าให้สัตว์เลี้ยงเลียที่ผิวหนัง ปาก ตา เพราะแบคทีเรียในน้ำลายสัตว์อาจผ่านเข้าไปติดเชื้อเป็นโรคไฟลามทุ่งได้.