“ประเทศไทย”...ได้ชื่อว่าเป็น “อู่ข้าวอู่นํ้า” แม้ว่าโลกจะพัฒนาขึ้น แปรเปลี่ยนไปอย่างไร การทำนา...เกษตรกรรมจะยังคงเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยที่สืบทอดจากรุ่นต่อรุ่นกันมาช้านาน...เป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจประเทศในทุกยุคสมัย

ตอกย้ำประโยคคุ้นหู “เงินทองของมายา...ข้าวปลาสิของจริง”

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รู้จักการปลูกข้าวมานานหลายพันปีแล้ว และใช้ผลผลิตข้าวที่ปลูกเป็นอาหารหลัก หล่อเลี้ยงชีวิต สืบสานเผ่าพันธุ์มาจนถึง ทุกวันนี้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีพันธุ์ข้าวดีเด่นเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง

นอกจากจะผลิตเพื่อบริโภคเองภายในประเทศแล้ว ยังได้มีการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศปีละนับแสนล้านบาท จึงถือได้ว่า “ข้าว” คือพืชที่สำคัญอย่างยิ่ง

และ “ชาวนา” ก็เป็นกลุ่มคนที่ประเทศจะขาดไม่ได้

...

ด้วยเหตุผลนี้เมื่อปี 2522 รัฐบาลจึงได้กำหนดให้มี “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” เพื่อให้ประชาชนได้รำลึกนึกถึงความสำคัญของข้าวใน ฐานะของพืชอาหารหลักของประชาชนทั้งประเทศ และเชิดชูเกียรติชาวนาที่ทุ่มเทเสียสละแรงกาย แรงใจ ปลูกข้าวให้ประชาชนได้มีอาหารบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดมา

กำหนดวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ”

เหตุผลที่เลือกวันนี้ก็เนื่องจาก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 พร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการทำนาและกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

และทั้งสองพระองค์ก็ได้ทรงหว่านข้าวในแปลงนาของมหาวิทยาลัย จึงถือเป็นวันที่เป็นสิริมงคล

“ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าว จะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อยๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไรประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก”

ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านโคกกูแวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส พ.ศ.2536

ในโอกาสที่วันข้าวและชาวนาแห่งชาติได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องข้าวและชาวนามาตั้งแต่แรก เพราะถือว่าชาวนาคือกลุ่มคนที่เป็นผู้ผลิตอาหารหลักเลี้ยงประชากรทั้งประเทศ

ที่สำคัญ...ผลผลิตข้าวที่ได้นั้นยังสร้างรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาล

“รัฐบาล” จึงมุ่งมั่นที่จะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาให้ดีขึ้น โดยสนับสนุนให้ทำการเกษตรสมัยใหม่ ใช้นวัตกรรมที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง เป็นรากฐานที่มั่นคงยั่งยืนให้แก่ชาวนา นอกจากนั้น ในช่วงเวลาที่ชาวนา ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ นาข้าวได้รับความเสียหาย...ก็พยายาม เร่งหามาตรการต่างๆเพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที

...

เพราะตระหนักอยู่เสมอว่า “ชาวนา” คือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ถ้าชาวนาไม่มีความสุข ประเทศโดยภาพรวมก็คงจะมีความสุขไปไม่ได้ ปัจจุบัน “ชาวนา” เดือดร้อนมากจากภัยพิบัติที่ผ่านมา เจอทั้ง “ฝนแล้ง” และ “น้ำท่วม” รวมทั้งบางแห่งมีโรคระบาด สร้างความเสียหายให้กับนาข้าวกว่า 4 ล้านไร่ ใน 34 จังหวัด

กระทบเกษตรกรมากกว่า 4 แสน 5 หมื่นครัวเรือน

ประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานของกรมการข้าว ซึ่งก็คือดูแล งานด้านข้าวและชาวนา ตระหนักถึงปัญหานี้ ยืนยันว่า กระทรวงได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ นับตั้งแต่จัดซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวไปแจกจ่ายเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ขณะนี้ก็ได้แจกจ่ายให้กับชาวนาที่ได้รับความเสียหายไปเกือบเสร็จสิ้นแล้ว นอกจากนี้ยังวางแผนระยะยาวที่จะสร้างระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอกับความต้องการทั้งชนิดพันธุ์และปริมาณ และที่ขาดไม่ได้คือความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการหาแหล่งน้ำให้กับชาวนาในพื้นที่ต่างๆ

...

สุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว บอกว่า กรมการข้าวมีความพร้อมที่จะสนองนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องการช่วยเหลือชาวนา การดำเนินงานโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับชาวนา โดยเฉพาะโครงการ...“นาแปลงใหญ่” ถือเป็น โครงการสำคัญอย่างยิ่ง

ถึงวันนี้ได้ดำเนินการทั้งสิ้น 3,087 แปลง รวมพื้นที่ 3,355,968 ไร่ และเกษตรกรเข้าร่วม 240,657 ราย

ประเด็นที่คนไทย ชาวนาไทยชวนติดตามมีอีกว่า “กรมการข้าว” ยัง คงมีภารกิจที่กำลังเร่งรัดดำเนินการอีกหลายโครงการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับชาวนาทั้งสิ้น เช่น การปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับชาวนาในแต่ละพื้นที่ได้เลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเอง

ที่สำคัญ...เป็นสายพันธุ์ข้าวที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น พันธุ์ข้าวพื้นนุ่ม ซึ่งวันนี้ตลาดต้องการมาก โดยเฉพาะประเทศจีน ฮ่องกง ตลาดอาเซียน รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมในประเทศต่างๆ

เนื่องจากเป็นข้าวที่มีความนุ่ม ราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิ คาดว่า...ในอนาคตจะมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น รวมไปถึงกลุ่มผู้บริโภคข้าวเจ้าพื้นนุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการซื้อ...ตลาดมีโอกาสขยายตัวสูง

“พันธุ์ข้าว กข79” เป็นตัวอย่างที่โดดเด่น กรมการข้าวได้รับรองพันธุ์เมื่อต้นปี 2562 และจากการประเมินโดยผู้ประกอบการค้าข้าวและผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์ข้าวมีความเห็นว่าเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ สามารถปลูกได้ตลอดปี ให้ผลผลิตสูง ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคไหม้ที่สำคัญ...คุณภาพการสีดีมาก

นับรวมไปถึงเร่งรัดส่งเสริมให้ชาวนาทำนา “ข้าวอินทรีย์” และ “ข้าวตลาดเฉพาะ” ชนิดอื่นๆด้วย

...

ที่ขาดไม่ได้ก็คือการเสริมสร้างศักยภาพของชาวนาให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าว

ประเด็นเรื่องของการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้เพียงพอกับความต้องการของชาวนาในแต่ละปีนั้น อธิบดีกรมการข้าวมองว่า ได้มีการ วางแผนการผลิตไว้อย่างชัดเจน มั่นใจได้ว่าชาวนาจะมีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีใช้กันอย่างทั่วถึง ส่วนงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติประจำปี 2563 นี้ เนื่องจากสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้จัดงานได้

“แต่ปีนี้เราก็ยังคงจัดให้มีกิจกรรมบางอย่าง เพื่อเป็นในเชิงสัญลักษณ์ให้ได้รำลึกถึงความสำคัญของข้าวและเชิดชูเกียรติชาวนา อาทิ กิจกรรมการอ่านสารวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ การนำผู้นำชาวนาเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อเยี่ยมคารวะ...รับฟังนโยบายด้านข้าว การประกอบพิธีบูชาแม่โพสพ สู่ขวัญข้าวและรับขวัญชาวนา”

ตอกย้ำ “ประเทศไทย”...ประเทศเกษตรกรรม เมือง “อู่ข้าวอู่น้ำ” นอกจากไม่ทิ้งวิถีชีวิตชาวนาเกษตรกรนับเนื่องจากในอดีตที่สืบทอดกันมาแต่โบราณแล้ว ยังต้องสานต่อไม่ให้แปรเปลี่ยนจนเลือนหายไป

แนวโน้มความต้องการข้าวในตลาดโลกปัจจุบัน มีความต้องการข้าวคุณภาพ ประเทศไทย...ชาวนาไทย ต้องทวงคืนความเป็นแชมป์ของ “ข้าวไทย”...ดี เด่น ดัง ไม่แพ้ชาติใดในโลก.