การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคมกระทบต่อรายได้เกษตรกร เนื่องจากความไม่สะดวกในการกระจายสินค้า ขายสินค้าได้ในจำนวนไม่มาก แต่เกษตรกรที่ทำด้วยศาสตร์พระราชา ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถพึ่งพาตนเองได้

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงการประเมินผลโครงการเกษตรผสมผสานในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร (ระยะ 4 ปี 2561-2564) ในพื้นที่ 23 จังหวัด สมาชิก 1,500 ราย ที่ได้ดำเนินการเป็นปีแรก พบว่าการดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย เกษตรกรได้รับความรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีพื้นที่
ทำการเกษตรผสมผสาน 23,486 ไร่

เกษตรกรส่วนใหญ่ ได้นำความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำปุ๋ยหมัก การปรับปรุงบำรุงดิน การทำบัญชีครัวเรือน หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การลดต้นทุนการผลิตมาปรับใช้ในการทำการเกษตร รวมทั้งมีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยนำมูลสัตว์มาทำปุ๋ย นำพืชผักและฟางข้าว มาเป็นอาหารสัตว์น้ำ

ด้านรายได้พบว่า เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไร่ละ 8,100 บาท และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการพึ่งพาตนเองได้ รวม 2,579 บาท แบ่งเป็นลดต้นทุนจากการบริโภคผลผลิตของตนเอง 1,104 บาท และลดต้นทุนจากการผลิตปัจจัยการผลิตของตนเอง 1,475 บาท

เกษตรกรถึงร้อยละ 94 มีการพัฒนาแปลงผสมผสานอย่างต่อเนื่อง และร้อยละ 66 ได้ต่อยอดโดยมีการขยายผลการทำเกษตรผสมผสานสู่เกษตรกรรายอื่นต่อไปอีกด้วย

นับได้ว่าการทำเกษตรผสมผสานก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกรอย่างชัดเจน นอกจากจะมีแหล่งอาหารที่ผลิตได้เอง ช่วยลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงอาหารได้แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกด้วย

...

เป็นสิ่งยืนยันได้ว่า เกษตรผสมผสานจากศาสตร์พระราชา ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ สังคม สามารถสู้กับวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างดี.

สะ–เล–เต