อำนาจนิยม-ระเบียบเอื้อคนผิด-จริยธรรมอ่อนด้อย จี้แก้ต้นตอปัญหา
จากกรณีนักเรียนถูกล่วงละเมิดทางเพศจากครูและผู้บริหารโรงเรียน เกิดขึ้นหลายกรณีในขณะนี้นั้น ศ.ดร. สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์ว่า แม้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเปิดศูนย์ร้องเรียนขึ้น โดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นความตั้งใจดีที่เอาใจใส่ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เนื่องจากระบบการศึกษาไทย 3 วงจรเป็นต้นเหตุที่เปิดโอกาสให้ครูและผู้บริหารละเมิดเด็ก จึงต้องแก้ไขวงจรดังกล่าวนี้ โดยวงจรแรก ได้แก่ โครงสร้างและระบบการศึกษา ซึ่งเปิดทางให้ครูผู้ชายสามารถแสดงอำนาจเหนือนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนในช่วงอายุ 12-16 ปี เช่น การบังคับส่งการบ้านในห้องพักครูหรือบ้านพักครูตามลำพัง โดยใช้คะแนนสอบมาเป็นตัวบังคับ ซึ่งนักเรียนไม่สามารถต่อสู้กับอำนาจการบังคับของครูได้เลย
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า วงจรที่สอง ได้แก่ กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆที่กำหนดขึ้นมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือผู้กระทำผิดมากกว่าปกป้องนักเรียนที่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งผู้ปกครองบางคนที่เห็นว่า เมื่อเด็กเสียท่าไปแล้วและไม่มีความเข้มแข็งมากพอ หรือต้องต่อสู้กับอำนาจและอิทธิพลของผู้กระทำผิด ทำให้ต้องสมยอมและรับเงินชดเชยแทนเพื่อยุติคดี วงจรที่สามคือ สถาบันการผลิตครู ไม่ได้มีการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมากพอให้เกิดขึ้นกับครู ขณะที่หน่วยงานที่ดูแลใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก็สอบใบประกอบวิชาชีพโดยเน้นด้านวิชาการ วิชาเอก ไม่ได้ดูเรื่องคุณธรรมจริยธรรมความเป็นครู และเมื่อเกิดปัญหาก็ทำได้เพียงแค่พักใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และยึดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น หากไม่มีการแก้ปัญหาทั้ง 3 วงจรดังกล่าว ศธ.ก็คงต้องวิ่งไล่แก้ปัญหาละเมิดทางเพศเด็กเป็นรายกรณี ไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้
...
ด้านนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่าโรงเรียนควรเป็นสถานที่ปลอดภัยคุ้มครองเด็กแต่กลับเป็นที่ล่วงละเมิดเด็ก สาเหตุเกิดจากระบบอำนาจนิยมในสถานศึกษาที่บ่มเพาะให้ครูมีอำนาจเหนือกว่าเด็ก รวมถึงอำนาจชายเป็นใหญ่ ระบบอุปถัมภ์ และครูถูกวางบทบาทให้เป็นผู้ที่เคารพนับถือของคนในชุมชน เมื่อเกิดปัญหาก็ไกลเกลี่ยยอมความจบกันไป ฝากข้อเสนอให้ ศธ.สร้างกลไกคุ้มครองเยียวยาเด็ก มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ มีกลไกตรวจสอบจริยธรรมครูโดยให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วม กระจายอำนาจบริหารจัดการโรงเรียนสู่ท้องถิ่น มีหลักสูตรความเท่าเทียมทางเพศ และกระบวนการยุติธรรมต้องตระหนักว่าคดีล่วงละเมิดทางเพศนั้นไกล่เกลี่ยไม่ได้.