ตร.แจงหลักฐานเพียบ

ป.แถลงข้อเท็จจริง จับสาวโพสต์ขายของออนไลน์ อ้างหาเงินไป รักษาลูกชายวัย 2 ขวบ ที่ป่วยเป็นโรคประหลาด จนมีคนแห่ช่วยเหลือ ได้ไปกว่า 10 ล้านบาท เริ่มจากมีผู้เสียหายร้องเรียนว่าโอนเงินซื้อของแล้วไม่ได้สินค้า เลยเรียกสาวเจ้าของบัญชีมาสอบปากคำ ปฏิเสธไม่รู้เห็น แต่ยอมรับว่า ให้เอกสารกับผู้ต้องหาที่มาขอ อ้างว่าจะเอาไปทำ ประกันให้ลูกสาววัย 4 ขวบ ที่ยกให้ไปดูแลก่อนเสียชีวิต เผยอีกบาดแผลรอยไหม้ที่ปากเด็ก แพทย์ชี้ เป็นการรับสารพิษเข้าทางปาก พร้อมยึดของเหลวต้องสงสัยในบ้าน ผู้ต้องหา ไปตรวจสอบ ด้านเด็กชายวัย 2 ขวบ อาการปลอดภัยแล้ว อยู่ในความดูแลของ กรมกิจการเด็กและเยาวชน

กรณีกองปราบฯจับกุม น.ส.นิษฐา หรือปุ๊ก วงวาล อายุ 29 ปี หลังอุปถัมภ์ ด.ช.วัย 3 ขวบมาดูแลและป่วยอ้างเป็นโรคประหลาด ก่อนโพสต์ขายของและประกาศขอรับเงินบริจาคอ้างนำไปรักษาเด็กป่วยด้วยอาการประหลาด ได้เงินไปกว่า 10 ล้านบาท แพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติรับตัวเด็กไปรักษา พบสารเคมีส่วนผสมน้ำยาล้างห้องน้ำในตัวเด็ก ตรวจประวัติพบเปลี่ยนชื่อแล้ว 4 ครั้ง ซ้ำเคยรับเด็กหญิงอายุ 4 ขวบมาดูแลแต่ป่วยด้วยอาการประหลาดคล้ายกันจนเสียชีวิตเมื่อเดือน ธ.ค.62 สอบสวนรับสารภาพเรื่องฉ้อโกง แต่ปฏิเสธไม่ได้มีส่วนทำให้เด็กทั้ง 2 ตายและป่วยนอนโรงพยาบาล รวมทั้งอ้างว่าเด็กที่ป่วยนั้นเป็นลูกแท้ๆ ขณะที่กองปราบฯเตรียมโอนคดีเด็กหญิงวัย 4 ขวบเสียชีวิตจาก สภ.คลองหลวง ปทุมธานี มาสอบสวนเอง พร้อมตั้งประเด็นคลี่คลายกว่า 20 ข้อ โดยเฉพาะกรณีเด็กชายวัย 3 ขวบที่ป่วยอยู่เป็นลูกชายจริงหรือไม่ เหตุผู้ต้องหาอ้างเป็นลูกแท้ๆที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด เร่งเจ้าหน้าที่ดูผลดีเอ็นเอ.พิสูจน์ความเป็นแม่ลูกสัปดาห์นี้ เพราะถ้าไม่ใช่ น้ำหนักในคดีทำร้ายเด็กจะมีน้ำหนักมากขึ้น

...

ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 24 พ.ค. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา ผกก.4 บก.ป. พ.ต.ท.เอกสิทธิ์ ปานสีทา รอง ผกก.4 บก.ป. พ.ต.ท.ณัฐพงษ์ เกิดเอี่ยม รอง ผกก.4 บก.ป.ร่วมแถลงผลการจับกุม น.ส.นิษฐา หรือแม่ปุ๊ก วงวาล ข้อหา “รับไว้ซึ่งเด็กโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ, พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย, ฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น, ฉ้อโกงประชาชน” ที่ก่อเหตุหลอกลวงชาวเน็ตให้สั่งซื้อสินค้าต่างๆผ่านเฟซบุ๊ก อ้างว่าต้องการนำเงินไปรักษาน้องอมยิ้ม อายุ 4 ขวบ ที่ป่วยเป็นโรคประหลาดก่อนจะเสียชีวิตไปเมื่อปลายปี 62 ต่อมาแม่ปุ๊กอ้างว่าน้องอิ่มบุญ อายุ 2 ขวบ น้องชายคนเล็กป่วยแบบเดียวกัน แต่เมื่อแพทย์ตรวจสอบอาการเด็กแล้วพบว่า เด็กอาจถูกสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนทำลายร่างกาย ขณะที่ตัวแม่ปุ๊กได้เงินช่วยเหลือไปร่วม 20 ล้านบาท

พ.ต.ท.เอกสิทธิ์กล่าวว่า คดีนี้กองปราบฯเริ่มจากกรณีมีผู้เสียหายจำนวนมากเข้าร้องเรียนเรื่องถูกแม่ปุ๊ก ผู้ต้องหาหลอกซื้อสินค้าทางออนไลน์ อ้างว่าเงินส่วนหนึ่งจะนำไปรักษาลูกที่ป่วย ผู้เสียหายได้โอนเงินซื้อสินค้าเพื่อช่วยเหลือแต่กลับไม่ได้สินค้านำเรื่องเข้าแจ้งความ ตำรวจได้สืบสวนเส้นทางการเงินจนพบว่าผู้เสียหายทั้งหมดโอนเงินเข้าบัญชีชื่อแม่เอม ได้ออกหมายเรียกเข้ามาให้ปากคำ เจ้าตัวเข้ามาชี้แจงว่า ถูกแม่ปุ๊ก ผู้ต้องหานำเอกสารส่วนตัวไปใช้เปิดบัญชีอ้างจะนำไปทำประกันสุขภาพให้น้องอมยิ้ม ผู้ตาย ลูกสาวที่ผู้ต้องหาขอนำไปอุปถัมภ์ รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับก่อนจับกุมได้ สำหรับเงินที่หมุนเวียนในบัญชีดังกล่าวมี 5 บัญชี เป็นชื่อของแม่เอม 3 บัญชี ที่แม่ปุ๊กนำเอกสารใช้ไปเปิดบัญชีเอง และเป็นบัญชีของแม่ปุ๊ก 2 บัญชี รวมยอดเงินกว่า 20 ล้านบาทแต่ยังไม่พบหลักฐานเงินบริจาคว่าเชื่อมโยงไปถึงแม่เอม

ด้าน พ.ต.ท.ณัฐพงษ์กล่าวว่า ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าโรคประหลาดที่แม่ปุ๊กอ้างว่าลูกทั้งสองป่วยไม่มีอยู่จริง ส่วนอาการเจ็บป่วยของเด็กที่มีร่องรอยแผลไหม้ที่ปากนั้น ชัดเจนว่าเป็นการรับสารพิษเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานเข้าไป ไม่ใช่โรคทางพันธุกรรมตามคำกล่าวอ้างของผู้ต้องหา แพทย์ได้ยืนยันข้อเท็จจริงมาแล้ว ในวันที่จับกุมผู้ต้องหา ได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้นบ้าน พบสารเคมีเป็นของเหลวต้องสงสัยบางอย่างอยู่ในขวดภาชนะ ได้ตรวจยึดเพื่อนำส่งเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นสารที่ออกฤทธิ์ตรงกับที่แพทย์ให้ข้อมูลเรื่องอาการของเด็กหรือไม่

พ.ต.ท.ณัฐพงษ์กล่าวต่ออีกว่า คดียังอยู่ระหว่างขั้นตอนสืบสวนสอบสวน ยืนยันว่าตำรวจมีหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดจริง หากมีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่ามีบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกดำเนินคดีด้วย ส่วนประเด็นที่ว่า น.ส.นิษฐา เคยเรียนเภสัชกรนั้นจะเกี่ยวข้องกับการนำสารเคมีมาใช้หรือไม่ เป็นข้อมูลสำคัญที่กำลังสืบสวนอยู่ ขณะที่ในส่วนของยอดเงินบริจาคที่ได้รับจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ายอดไม่สอดคล้องกับค่ารักษาอาการเด็กอย่างมีนัยสำคัญ แต่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะอาจมีการใช้สิทธิ์เบิกประกันอย่างไรหรือไม่

รอง ผกก.4.บก.ป. กล่าวอีกว่า สำหรับการที่ แม่เอมยกน้องอมยิ้มให้แม่ปุ๊กรับไปดูแลนั้น เพราะเจ้าตัวไม่พร้อมจะมีบุตร โดยไปรู้จักกันผ่านโซเชียล แม่ปุ๊กอ้างว่า จบเภสัชกร แม่เอมจึงเชื่อว่าเด็กจะมีอนาคต ที่ดีกว่า ทั้งนี้ ขอฝากว่าการมีบุตรในสภาพไม่พร้อมนั้น ยังมีหน่วยงานรัฐที่พร้อมให้การช่วยเหลือ การนำบุตร ไปยกให้คนอื่น อาจไม่ปลอดภัยต่อสวัสดิภาพของเด็ก อย่างที่ควรจะเป็น และกลายเป็นบ่อเกิดปัญหาสังคม ขอเตือนด้วยว่า การให้เอกสารส่วนตัวกับคนอื่นนั้นไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ ฝากประชาชนที่ได้รู้เห็นพฤติกรรมใดๆที่เกี่ยวข้องกับ น้องอิ่มบุญน้องอมยิ้ม ขอให้ติดต่อ กก.4 บก.ป. เพื่อให้ข้อมูลประกอบการทำคดีต่อไป

...

ด้านนางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็ก และเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า น้องอิ่มบุญ วัย 2 ขวบ อาการดีขึ้น และได้ออกจากโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. ขณะนี้อยู่ในความดูแลคุ้มครองสวัสดิภาพของ ดย. อยู่ในที่ที่ปลอดภัย ตามคำสั่งศาล ที่สั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามที่ทีมสหวิชาชีพยื่นขอ เพราะเห็นว่าเด็กอาจได้รับอันตรายหากอยู่ในความดูแลของมารดา ขณะนี้เด็กมีสุขภาพดี กินได้ปกติ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม ดย.จะประชุมร่วมกับทีมสหวิชาชีพในเร็วๆนี้ เพื่อร่วมกันประเมินอาการด้านร่างกาย รวมถึงสภาพจิตใจของเด็ก รวมถึง การดูแลเลี้ยงดูหลังจากนี้ ซึ่งผลการตรวจดีเอ็นเอที่อยู่ระหว่างพิสูจน์ว่าเด็กเป็นลูกของผู้ต้องหาจริงหรือไม่ เป็นอีกองค์ประกอบที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย หากผลตรวจระบุว่าเป็นลูกจริงต้องดูว่าเด็กจะอยู่ในความเลี้ยงดูของใครในขณะที่แม่กำลังถูกดำเนินการคดี ต้องประเมินว่าตายายมีความพร้อมและมีความผูกพันที่จะเลี้ยงดูเด็กหรือไม่ และหากไม่ใช่เป็นลูกจริงก็ต้อง พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

อธิบดี ดย.กล่าวด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นทำให้เห็นถึงปัญหาของการเปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือบุคคลต่างๆ บางเหตุการณ์อาจจะเป็นช่องโหว่ให้เกิด การแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบของบุคคลที่ไม่หวังดี ที่ผ่านมา ดย.จะติดตามประเด็นที่เด็กถูกละเมิด ถูกกระทำความรุนแรง จะเร่งประสานเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่เข้าไปดูแลช่วยเหลือ แต่เรื่องการบริจาคเงิน ที่ผิดปกติทำให้เป็นอีกประเด็นให้ฉุกคิดว่า คงต้อง ติดตาม ตรวจสอบการบริจาคผ่านช่องทางต่างๆที่ดู ผิดสังเกตเช่นกัน ในส่วนของ ดย. ก็คงดูในกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นเด็กและเยาวชน ส่วนกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ ก็เป็นภาพรวมของ พม.ที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็คงต้องมีการติดตามเช่นกัน นอกจากนี้ การยกบุตรให้ผู้อื่นดูแล เป็นอีกประเด็นที่อยากย้ำเตือนว่า ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายในการยกบุตรเป็นบุตรบุญธรรม สามารถติดต่อที่ ดย. เพื่อป้องกันไม่ให้ ผู้ไม่หวังดีนำเด็กไปแสวงหาผลประโยชน์ หรือเกิดการซื้อขายเด็กซึ่งผิดกฎหมาย

...