การรณรงค์ให้คนไทย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ร่วมกันเดินหน้าฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ...ขณะที่คนอีกส่วนต้องถูกเลิกจ้างจากสถานประกอบการ ส่วนใหญ่มุ่งหน้ากลับสู่บ้านเกิด รายได้ไม่มี งานไม่เข้า อยู่บ้านอย่างเดียวก็เบื่อ ...แล้วจะทำอะไรดีล่ะ??

“ผมมองว่าคำตอบในใจของทุกคนน่าจะไปในทิศทางเดียวกัน คือ ปลูกพืชผัก อย่างน้อยช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้ระดับหนึ่ง ขณะที่บริษัทเมล็ดพันธุ์ก็มีแคมเปญ ปลูกผัก อยู่บ้าน ต้านโควิด เลยทำให้หลายคนเริ่มสนใจปลูกผักกันมากขึ้น ผมเลยจำลองพื้นที่ประมาณ 1 งาน (100 ตารางวา) ว่าทำอะไรได้บ้างในช่วงที่อยู่กับบ้าน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับคนที่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9”

วโรชา จันทโชติ กูรูด้านเกษตรแห่งสวนมะนาววโรชา อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง แนะ...คนต่างจังหวัดจะได้เปรียบกว่าคนกรุงตรงมีที่ดิน แต่คนในเมืองหรือแม้กระทั่งอยู่คอนโดฯ ก็สามารถปลูกพืชผักได้ โดยหากระถาง กล่องโฟม หรือภาชนะที่ไม่ใช้มาปลูกพืชริมระเบียงได้

...

ส่วนคนมีที่ดินให้เริ่มจากแปลงเล็กๆ จะเหมาะกับมือใหม่ และดูแลรักษาง่าย เริ่มที่บำรุงดินโดยอินทรียวัตถุ ใบไม้หรือเศษอาหาร เหลือทิ้ง คลุกเคล้าให้เข้ากับดิน จะปลูกแบบยกแปลงหรือไม่ก็ได้

เริ่มต้นที่ผักสวนครัวที่ตัวเองชอบกินก่อน ข้อดีคือ ปลูกค่อนข้างง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามากนัก ใช้เวลาไม่นานก็ได้ผลผลิต ถ้ามีเวลาหรืออยากให้เปอร์เซ็นต์งอกเมล็ดเยอะ ให้เพาะเมล็ดในถาดเพาะก่อนแล้วค่อยลงปลูกในแปลง ถ้าไม่มีเวลาให้หย่อนเมล็ดลงหลุม ลึกประมาณ 2 ซม. แต่ละหลุมห่างกัน 15-30 ซม. ขึ้นกับชนิดพืช หรือหากเป็นผักที่ปลูกหนาแน่นได้ เช่น ผักบุ้ง หว่านเมล็ดได้เลย หมั่นรดน้ำเช้าเย็น

ปลูกผักหลากหลายชนิด ทั้งลงดิน ในกระถาง ลังโฟม เข่ง ถุงดำ ยางรถยนต์ มีที่ว่างตรงไหนก็ปลูกไม่ให้พื้นที่ว่างเปล่า เน้นหลักการ พืชหลัก พืชรอง พืชเสริม

พืชหลัก ไม้ยืนต้นหรือไม้ผล ปลูกในที่โล่ง ถ้ามีอยู่แล้วก็ให้คงไว้ไม่ต้องตัดโค่น รอเก็บเกี่ยวดอกผลระยะยาว โคนต้นก็ปลูก พืชรอง หรือพืชผักที่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวดอกผลได้ทุกวัน เช่น พริก มะเขือ มะละกอ กล้วย พืชเสริม หรือพืชผักที่เก็บเกี่ยวได้ทุกวัน เช่น สะระแหน่ กะเพรา โหระพา บริเวณรอบแปลงทำรั้วหรือค้างปลูกไม้เลื้อย เช่น ถั่วฝักยาว ฟัก บวบ มะระ

“ทุกอย่างไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นกับพื้นที่ แต่น้ำต้องถึง แสงแดดควรส่องถึงอย่างน้อยครึ่งวัน จึงปลูกผักสวนครัวได้ทุกชนิด ถ้าแดดรำไรส่องไม่ถึงครึ่งวัน ให้ปลูกพืชที่ไม่ต้องการแสงมากบริเวณนั้น เช่น ขึ้นฉ่าย จิงจูฉ่าย ชะพลู ผักชีฝรั่ง ใบเตย สะระแหน่ กะเพรา โหระพา อันดับแรกคิดแค่ปลูกพอกิน เหลือกินก็ขาย อย่างที่นี่ปลูกแค่งานเดียว ถ้ารู้จักทำก็มีรายได้สบายๆ เดือนละหมื่น ขายให้คนในชุมชน ไม่ต้องเสี่ยงโควิดไปซื้อผักในตลาด จนกลายเป็นเสมือนซุปเปอร์มาร์เกตชุมชน อยู่กับบ้าน มีกิน มีใช้ ครอบครัวอบอุ่น บ้านก็ไม่ต้องเช่า แทบไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร”.

กรวัฒน์ วีนิล