20 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันผึ้งโลก (World Bee Day) ตามที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนด

กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งและแมลงช่วยผสมเกสร ได้สนับสนุนวันผึ้งโลกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะส่งเสริมการเลี้ยงทั้งผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่มาตั้งแต่ปี 2560-2563 มีเป้าหมาย 54 แปลง และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้ากลุ่มทางเลือกเพื่อสุขภาพ (แมลงเศรษฐกิจ) ที่มีเป้าหมายส่งเสริมใน 16 จังหวัดทั่วประเทศ

“การเลี้ยงผึ้งให้ประโยชน์ทางอ้อมแก่เกษตรกร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในแปลงใหญ่ไม้ผล เนื่องจากผึ้งช่วยให้การผสมเกสรดีขึ้น ทำให้ลำไยมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 78.78% เงาะโรงเรียน เพิ่มขึ้น 75.09% ลิ้นจี่ เพิ่มขึ้น 42.05% พืชตระกูลแตง เพิ่มขึ้น 39.00% และงา เพิ่มขึ้น 26.70%”

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูล ปัจจุบันไทยเป็นประเทศ ที่มีการเลี้ยงผึ้งในระดับอุตสาหกรรม ผลิตน้ำผึ้งมากเป็นอันดับที่ 36 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากเวียดนาม โดยไทยผลิตน้ำผึ้งได้ 10,110 ตัน มีเกษตรกรผู้เลี้ยง 1,215 ราย ผึ้ง 353,724 รัง เก็บน้ำผึ้งจากดอกลำไย ลิ้นจี่ งา กาแฟ ทานตะวัน และสาบเสือ ได้มากกว่า 12,203 ตัน

มีการส่งออกน้ำผึ้งไปยังไต้หวัน สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย แคนาดา และจีน รวมแล้ว 7,907.95 ตัน คิดเป็นมูลค่า 616.59 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้จากการผลิตไขผึ้ง เกสร และนมผึ้ง อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ผ่านมามีผึ้งจำนวนมากตายเพราะสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช ผนวกกับจำนวนพื้นที่ป่าลดลง มีงานวิจัยชี้ว่า ร้อยละ 40 ของแมลงผสมเกสรทั่วโลกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

...

ทาง FAO จึงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆร่วมกันปกป้องแมลงผสมเกสรพืช โดยเฉพาะผึ้ง เพื่อความร่วมมือดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีนโยบายให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเกษตรที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การทําการเกษตรยั่งยืนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การใช้สารเคมีในการเกษตรอย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ด้วยการส่งเสริมการป้องกันและกําจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM) การกําจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี (Biological Control) เป็นต้น.

สะ–เล–เต