พอเข้าเดือนเมษายนไล่ยาวไป จนถึงพฤษภาคม ช่วงนี้ของทุกปีจะมีวันหยุดเทศกาลประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอม ครอบครัวก็จะพาลูกๆหลานๆไปท่องเที่ยว
เที่ยวกันแบบทริปยาวและทริปสั้นๆ สามวันสองคืน โดยเฉพาะพื้นที่แถบชายทะเลฝั่งตะวันออก แถบระยอง จันทบุรี ตราด สิ่งที่มาพร้อม กับอากาศร้อนจัด ก็คือผลไม้หลากชนิด
ตัวเอกของผลไม้ไทยยามนี้หนีไม่พ้นทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง
ทุกปีจะเห็นวางขายกันริมถนนตามแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง บางที่ก็จัดแบบบุฟเฟต์ผลไม้คิดเป็นรายหัว บางที่ก็เหมาขายให้กับล้งผลไม้ที่นักธุรกิจจีนหุ้นกับคนไทย
แต่บางที่กลับคิดต่าง เปิดสวนให้คนเข้ามาเที่ยวเดินดูต้นไม้ แบบให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย ขากลับก็ซื้อผลไม้จากสวนหิ้วกลับไป แต่หลายปีมานี้การขายผลไม้ทางออนไลน์กลับมาแรงแซงโค้ง เพราะคนขาย สามารถเจาะกลุ่มคนซื้อได้ เหมือนเป็นการเลือกระดับของลูกค้านั่นเอง
ท่ามกลางสถานการณ์วันนี้โรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาด จนรัฐบาลไทยประกาศ “ล็อกดาวน์” ใช้มาตรการ “เคอร์ฟิว” แถมห้ามเดินทางข้ามจังหวัดอีกด้วย ปีนี้บรรยากาศจึงแตกต่าง
...
คำถามสำคัญมีว่า ในครานี้ “ชาวสวน” ที่เคยขายผลไม้ให้นักท่องเที่ยวจะปรับตัวรับมือกับมาตรการนี้อย่างไร?
นายอาร์มเปิดแผงขายทุเรียนและผลไม้อื่น ริมถนนสุขุมวิท ใกล้ทางเข้าน้ำตกพลิ้ว อ.ขลุง จ.จันทบุรี เล่าให้ฟังว่า ทุกปีจะเอาผลผลิต ของตัวเองและญาติๆมาวางขาย โดยมีลูกค้าประจำและลูกค้าจรที่ขับรถผ่านไปมาแวะซื้อทั้งวันทั้งคืน แต่ปีนี้ต้องปิดร้านไม่ได้ขายเพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวมาก็ไม่รู้ว่าจะขายให้ใคร
“ต้องยอมให้ล้งมาเหมาตัดไป ถึงจะได้ราคาน้อยกว่าทุกปี แต่ก็ต้องยอมทำใจ หวังว่าปีหน้าสถานการณ์ทุกอย่างจะดีขึ้น”
แน่นอนว่าสวนผลไม้ที่ตัดใจขายผลผลิตให้ล้งจีนก็ไม่มีปัญหาอะไรเท่าใดนัก ทั้งเรื่องราคาและการขนส่ง ผู้สันทัดกรณีในวงการผลไม้ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีให้เหตุผลประกอบไว้ว่า เพราะประเทศจีนกว้างใหญ่ไพศาล ถึงช่วงแรกจะปิดเมืองอู่ฮั่น แต่เมืองอื่นก็ค้าขายตามปกติ ยอดสั่งซื้อทุเรียนจากไทยก็ไม่ได้ลดลง
ผลทำให้ราคาขายปลีกสูงขึ้นตั้งแต่ต้นฤดูกาลด้วยซ้ำ และที่ได้รับผลกระทบพูดกันตรงๆก็คือ “คอทุเรียน” คนไทยที่หวังว่ามีเรื่องโควิดแล้วอาจจะได้กินทุเรียนราคาถูก ก็ผิดหวังไปตามๆกัน
ปิยะ สมัครพงศ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี เสริมว่า เดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่ผลผลิตจะออกมากอาจได้รับผลกระทบด้านราคาได้ เนื่องจากมีหลายปัจจัย เช่น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมไปถึงสภาพอากาศที่ค่อนข้าง “ร้อน” และ “แล้ง” ส่งผลถึงปัญหาแหล่งน้ำบางพื้นที่ไม่เพียงพอในช่วงการดูแลผลผลิต
แม้ว่าผลผลิตทุเรียนของจังหวัดจันทบุรีขณะนี้เกษตรกรทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วกว่าร้อยละ 50 แต่ยังคงขายได้ราคาดีเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งบางช่วงมีการปรับขึ้นลงจากปัจจัยดังกล่าว
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว “ราคาขายส่ง” ปรับลดลงมานิดหน่อยเป็นผลมาจากภาคการขนส่งทางรถที่อาจจะมีความล่าช้าอยู่บ้าง โดย เฉพาะบริเวณชายแดน ที่ในช่วงนี้มีการคัดกรองเรื่องของไวรัสโควิด-19 เป็นพิเศษ แต่ในระยะต่อไปที่จะเริ่มมีการผ่อนปรนมากขึ้น
จะส่งผลให้ราคากลับมาแตะกิโลกรัมละเกิน 100 บาท
“นั่นเป็นเพราะสถานการณ์ของไวรัสโควิดไม่ได้ทำให้ความต้องการของตลาดในจีนลดลง เหมือนที่หลายคนคาดการณ์ก่อนหน้า แต่กลับยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง”
ความจริงที่ต้องบอกกันให้รู้ผลจากความต้องการของจีนในการบริโภคทุเรียนของประเทศไทย และปีนี้สถานการณ์ระบาดของโรคไวรัส แต่ราคาทุเรียนกลับสูงขึ้นยิ่งจูงใจทำให้เกษตรกรเริ่มขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นนับหมื่นไร่ต่อปี ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องจับตา มองปัญหาเรื่องราคาในวันข้างหน้าตามมา
ย้ำว่า “ราคาทุเรียน” ที่บริโภคในประเทศ “แพง” เป็นผลมาจากปริมาณการส่งไปตลาดประเทศจีนเริ่มมีมากขึ้นเมื่อหลายปีที่ผ่านมาจึงทำให้ผลผลิตบริโภคในประเทศลดลง ซึ่งผู้ที่นิยมบริโภคทุเรียนต่างรับได้กับราคาที่สูงขึ้น แต่หันมาเน้นคุณภาพมากขึ้น
...
ลองมาฟังหนึ่งเสียงชาวสวนทุเรียนผู้ที่ยอมเสี่ยงไม่ขายผลผลิตให้ล้ง แต่เปิดเพจเฟซบุ๊กขายตรง ส่งทุเรียนคุณภาพไปยังผู้บริโภค ณรงค์ ศุภผล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.เกวียนหัก อ.ขลุง จ.จันทบุรี เจ้าของ “สวนณรงค์ฟาร์ม” สวนผลไม้ขนาดเล็ก
ผู้ใหญ่ณรงค์ เล่าว่า เดิมทีสวนจะขายส่งทุเรียนให้กับสหกรณ์การเกษตรเมืองขลุงที่ผมเป็นประธานอยู่ แต่เมื่อปี 2560 ผลผลิตมากขึ้น บวกกับมีช่องทางขายทางออนไลน์เลยเริ่มทำการตลาดโดยเริ่มจากคนรู้จักแนะนำกันแบบปากต่อปากควบคู่กับเปิดสวนเป็นแหล่งเรียนรู้ ทางการเกษตร
“ให้คนที่สนใจเข้ามาเดินดูต้นไม้ มาพูดคุยสอบถามตนก็ตอบแบบ ไม่หวงวิชาเลยละเรียกว่าเปิดสวนต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศและเรียนรู้ต้นไม้ในวิถีชาวสวนผลไม้เมืองจันท์ขนานแท้ แถมขากลับยังได้หิ้วผลไม้คุณภาพดีราคายุติธรรมกับคนซื้อและคนขายกลับไปด้วย”
ส่วนปีนี้เราก็ทำตามนโยบายรัฐบาลเรื่อง การเว้นระยะห่างทางสังคม เลยต้อง “ปิดสวน” ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเหมือนทุกปี “ลูกค้าแบบครอบครัวที่เคยมากันทุกปีก็ติดต่อมากัน แต่เราเปิดไม่ได้จริงๆ เลยต้องขายส่งทางออนไลน์ กับส่งให้สหกรณ์การเกษตร ที่ขายตรงให้กับห้างสรรพสินค้าใน กทม.หลายแห่ง”
...
ก็ยอมรับว่ายอดขายตกลงไปบ้าง เพราะสถานการณ์เป็นแบบนี้ ทุกสวนก็หันมาขายออนไลน์กันหมด เลยต้องแข่งขันกันที่คุณภาพ เรียกว่า เป็นยุคของผู้บริโภคที่จะเลือกคัดสรรผลไม้ได้ตามอำเภอใจสุดๆ
ผู้ใหญ่ณรงค์ ให้ข้อแนะนำว่า ทุเรียนดีที่สวนให้กรีดดูเนื้อสีได้ รสชาติหวานหอม เราจะตัดส่งทุกลูกเป็นทุเรียนแก่จัด แต่ต้องรอเวลา ให้สุก จึงจะแกะทานได้
หมายเหตุสุกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าชอบทานแบบไหน ได้รับทุเรียนแล้วให้นำทุเรียนไปวางในบริเวณที่อากาศถ่ายเท ห้ามวางตากแดด ห้ามวางบนพื้นปูน ห้ามวางในห้องแอร์ เพราะจะทำให้สุกช้า
“ใช้ไม้เคาะที่ทางสวนเตรียมไปให้เคาะฟังเสียง ถ้ายังแน่น ทึบๆ แปลว่ายังไม่สุก...ต้องรอให้เสียงโปร่งๆกลวงๆก่อนดมกลิ่นดูขั้วปลิงกรีดเป็นสามเหลี่ยมเล็กๆ ดูเนื้อข้างในว่าได้อย่างที่ลูกค้าต้องการค่อยปอก”
สนใจสั่งจองทุเรียนจากสวนได้โดยตรงที่หมายเลขโทรศัพท์ 06-2598-9962, 08-9462-6629 หรือติดตามข้อมูลทุเรียนอร่อย คุณภาพดีคู่คนไทยได้ที่เฟซบุ๊กเพจ “สวนณรงค์ฟาร์ม” โปรโมชันตัวอย่างเรียกน้ำย่อยเปิดจองหมอนทอง เนื้อดี สีสวย บรรจุกล่องละ 3 ลูก 10 กิโลฯ ราคาพร้อมค่าส่ง 1,990 บาท
...
ร่วมด้วยช่วยกัน ซื้อหาผลไม้ไทยตามฤดูกาล วันนี้สั่งออนไลน์ ส่งสะดวกได้ทั่วประเทศไทย นอกจากจะช่วยเกษตรกรได้โดยตรงแล้ว เรา “คนไทย” ยังได้บริโภคผลไม้คุณภาพดี เจ้าของสวนการันตีผลผลิต
นี่คือโอกาสที่จะได้กินของดีๆ เกรดเอจริงๆถ้าสวนอยู่ได้เราก็จะมีของดีให้กินต่อไป.