สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ยังคงส่งผลกระทบต่อระบบ “การเรียนการสอน” นักเรียนไม่สามารถไปโรงเรียนตามปกติ ต้องขยายการเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม...

ในระหว่างนี้ “กระทรวงศึกษาธิการ” ได้มีนโยบายให้โรงเรียนต่างๆ ทั้งสังกัดของภาครัฐ และภาคเอกชน จัดการเรียนการสอนออนไลน์ไว้ และตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.2563...ได้มีการทดลองเผยแพร่บทเรียนออนไลน์ผ่านทีวีดิจิทัลให้เด็กได้เรียนรู้กันแล้ว...

มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผ่านทางช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด 17 ช่อง แบ่งเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ช่อง สำหรับการเรียนการสอนนักเรียนระดับอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 1 ช่อง

สำนักงานการคณะกรรมการการศึกษานอกโรงเรียน 1 ช่อง ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จะเรียนผ่านระบบออนไลน์ โดยระบบมีศักยภาพในการสอนที่ดี มีครูสอนที่เชี่ยวชาญ หลักสูตรทันสมัย ซึ่งต้องเรียนเช่นนี้จนกว่าเปิดภาคเรียน หากสถานการณ์คลี่คลาย สามารถเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประจำของตัวเองตามปกติได้

แต่ความพร้อมของนักเรียนในการเรียนรู้ออนไลน์นี้ ไม่ได้มีความพร้อมเท่าเทียมกันทุกคน โดยเฉพาะ “โรงเรียนตามชนบทพื้นที่ห่างไกล” ที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์และอินเตอร์เน็ต กลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการเรียนรู้ที่ยังไม่พร้อมเป็นห้องเรียน แล้วนักเรียนกลุ่มนี้จะทำอย่างไร...?

ปัญหาการศึกษาต้องเปลี่ยนการเรียนผ่านระบบออนไลน์ยุควิกฤติโควิด-19 ดร.วิสุทธิ์ เวียงสมุทร ผอ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี บอกว่า การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ในวงการศึกษาไทยเกิดขึ้นมานานแล้ว มีความคุ้นเคยกันในนามที่เรียกกันว่า “ครูตู้” มีหลักสูตรการสอนดีมาก

...

เพื่อสนับสนุนพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ

ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เช่นนี้ กำลังส่งผลต่อ “การเรียนการสอน” ต้องเลื่อนเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ออกไป ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ด้วยการยกห้องเรียนจากโรงเรียนไปไว้ที่บ้าน “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” เพื่อไม่ให้การเรียนต้องหยุดชะงักลง

แน่นอนว่า...การเปลี่ยนการเรียนที่บ้านผ่านออนไลน์ “แบบฉุกละหุก” ซึ่งไม่ได้วางแผนล่วงหน้าเช่นนี้ ย่อมมีปัญหากับ “นักเรียนในโรงเรียนชนบท” อาจได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวยากจน ต้องเผชิญปัญหาความไม่พร้อมมากมายหลายๆด้าน ทำให้เกิดเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขึ้น

ตามการสำรวจปัญหาหลัก 3 ส่วน คือ ประการแรก...“เด็กขาดอุปกรณ์” ทั้งไม่มีโทรทัศน์ จานดาวเทียม ไม่มีโทรศัพท์ ขาดอุปกรณ์เชื่อมระบบออนไลน์ เพราะเด็กทุกคนไม่ได้รับโอกาสในชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนใหญ่ครอบครัวต้องออกทำงานหาเช้ากินค่ำ จนไม่มีรายได้เพียงพอซื้ออุปกรณ์ราคาแพงได้

ประการที่สอง...เรื่องความไม่พร้อมของคน คือ “นักเรียน” และ “ผู้ปกครอง” ในส่วนของ “ผู้ปกครอง” ต้องยอมรับว่า...เด็กนักเรียนตามชนบท พ่อแม่ต้องออกไปทำงานจังหวัดอื่น มักนำลูกมาเลี้ยงอาศัยอยู่กับ “ปู่ย่า ตายาย” สูงกว่า 80% ส่งผลให้ขาดการดูแลเอาใจใส่ที่ดี

หากมีการ “เรียนอยู่บ้าน” จะขาดคนมีศักยภาพให้คำแนะนำพัฒนาทักษะ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการเรียนการสอนที่ดีขึ้นก็ได้ อีกราว 20% แม้ว่า “อาศัยอยู่กับพ่อแม่” ก็ยังขาดคนคอยดูแลแนะนำการเรียนผ่านออนไลน์เช่นเดิม เพราะผู้ปกครองไม่มีเวลาเอาใจใส่ ต้องออกทำงานหารายได้รับจ้างทั่วไปตั้งแต่เช้ามืด...

ส่วนความไม่พร้อม “เด็กนักเรียน” ในบางคนติดนิสัย...“รอครูมาบอก ลอกตามครูสั่ง เชื่อฟังครูสอน ต้องนั่งนิ่งตามครู” ต้องได้รับคำแนะนำจากครูอยู่ตลอดเวลา หากเด็กกลุ่มนี้ศึกษาเรียนรู้เองอาจเป็นไปได้ยาก

ประการที่สาม...“เรื่องงบประมาณ” ตอนนี้ “กระทรวงศึกษาธิการ” มอบหมายให้โรงเรียนสำรวจความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการบริหารจัดการการเรียนการสอน ซึ่งบางโรงเรียนมีการเสนอจัดซื้อไปแล้ว...ก็ยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจนใดๆ

จริงๆแล้ว...หากอยากให้เด็กเรียน “รัฐบาล” กำหนดสเปกเด็กนักเรียนให้ชัดเจน และปล่อย “เขตการศึกษา” ดำเนินการจัดการเรียนการสอนเอง มี “ส่วนกลาง” คอยตรวจสอบผลว่า เป็นไปตามสเปกต้องการหรือไม่

...

ที่ผ่านมา มักมีคำสั่งออกมาจาก “ส่วนกลาง” ในการปฏิบัติให้เป็นแบบเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ ทำให้มักเกิดปัญหาขึ้นมาตลอด...เพราะแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา มีปัญหาอุปสรรคแตกต่างกันออกไปของพื้นที่ และผู้รับรู้รับทราบปัญหาสามารถแก้ตรงจุดดีที่สุดคือ ผู้ปฏิบัติในพื้นที่นั้น...

สำหรับการศึกษาแนวใหม่...“ยึดชีวิตผู้เรียน” เป็นตัวตั้งสำคัญ เพราะในอดีตนักเรียนสอบได้เกรด 4 วิชาสุขศึกษา กลับสุขภาพไม่ดี จากการไม่รักออกกำลังกาย หรือเรียนจบวิทยาลัยเกษตร แต่ทำนาหาเลี้ยงชีพไม่ได้ รอคนอื่นจ้างงานแทน ในอนาคตต่อไปโรงเรียนต้องเป็นแหล่งสร้างคนให้รู้สร้างงาน สร้างอาชีพ

อีกมุมมองเปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงเรียนนี้ ครูต้อย ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่ง ใน จ.กาญจนบุรี เล่าว่า นโยบายเรียนผ่านออนไลน์ต้องยอมรับถึงปัญหาของบางพื้นที่ยังไม่มีความพร้อมหลายด้าน เพราะในชุมชนตามชนบท “ต่างหา เช้ากินค่ำ ต้องปากกัดตีนถีบ” จากรายได้ไม่พอค่าครองชีพแต่ละวัน

ในการเรียนการสอนตามปกติ บางคนยังต้องเค้นตามมาเรียนหนังสืออยู่บ่อยๆ เพราะเด็กต้องออกไปช่วยพ่อแม่ทำงาน ขายของ เลี้ยงดูแลน้อง เช่น มีนักเรียนคนหนึ่งชั้น ป.6 หยุดเรียนบ่อย ทำให้ครูต้องออกไปตามมาเรียนเกือบทุกวัน ปรากฏว่า เด็กคนนี้ออกไปขุดมันสำปะหลังช่วยพ่อแม่อยู่กลางป่าไร่ เพราะเขาต้องเลี้ยงปากท้องก่อน

...

ดังนั้น การเรียนที่บ้านผ่านออนไลน์นี้ อาจไม่ตอบโจทย์ได้ผลมากนัก สาเหตุจากความไม่พร้อมของครอบครัวของเด็กนักเรียนแต่ละคน แต่ละพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความเป็นอยู่ลำบากเดิมอยู่แล้ว

เพราะตามการสำรวจ...นักเรียนบางคนไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม หรือมีอยู่แต่สภาพเก่าเปิดดูไม่ได้ ในบางบ้านยังไม่มีไฟฟ้าด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเด็กอาศัยบนพื้นที่ภูเขาสูง ห่างไกล และทุรกันดาร บางแห่งยังใช้ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ไม่มีแดดก็ไม่มีไฟฟ้าใช้

ปัจจุบันโรงเรียนมีการเรียนการสอนผ่านดาวเทียมอยู่ ที่ได้รับความรู้จากครูสอนผู้เชี่ยวชาญ มีหลักสูตรดีทันสมัย แต่ปัญหาพบกันบ่อยอยู่ว่า... เด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้น ป.2 มักไม่มีสมาธิในการนั่งเรียน สามารถบังคับนั่งเรียนได้ไม่นาน

เมื่อครูเดินออกนอกห้องก็ไม่สนใจเรียน จะเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาเล่นกันทันที

ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นในการเปลี่ยนบ้านเป็นห้องเรียนนั้น หากปล่อยให้นักเรียนอยู่บ้านเพียงลำพัง ที่ไม่มีผู้ปกครองคอยแนะนำในการเรียนการสอนผ่านดาวเทียม ถือว่าเป็นเรื่องยากให้นักเรียนมีสมาธิตั้งใจเรียน แม้ว่า “ครู” มีใบงานให้ฝึกปฏิบัติก็ตาม แต่ไม่สามารถเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา ส่วนนักเรียนจะทำใบงานหรือไม่ก็ไม่มีใครรู้ได้...

แม้แต่ “นักเรียนโต” ถ้าไม่สนใจเรียน...เขาก็จะไม่รับสิ่งนั้น ในส่วนตัวเน้นการเรียนการสอนให้นักเรียน มีคุณธรรมดี อ่านออกเขียนได้ สามารถเป็นคนดี อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข แตกต่างจากในระดับผู้บังคับบัญชา มักเน้นความเป็นหลักวิชาการ หรือความเป็นเลิศโดดเด่นทางวิชาการ

...

เรื่องนี้กลับไม่สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียนในพื้นที่ เพราะคนกำหนดนโยบายได้รับการเรียนจากต่างประเทศ “มักฝันหวาน” ลักษณะประเทศไทยมีความพร้อมแบบนั้น

สุดท้ายวงการทุกอาชีพมี “นิ้วดีและไม่ดี” แต่คนดีตั้งใจทำงานเยอะมากกว่าคนไม่ดี ฉะนั้นอยากได้กำลังใจจากสังคม ไม่ใช่เอะอะก็ครูผิดอีกแล้ว ส่วนเรื่อง “กระจายอำนาจ” ควรให้โรงเรียนตัดสินใจจริงจัง...และงบประมาณ “ครุภัณฑ์” ตอนนี้ยังไม่มีใครได้รับกัน ในบางโรงเรียนรื้อถอนอาคาร ก็รองบมาสร้างอาคารใหม่ไม่ได้สักที

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นอีกบทสะท้อนถึง “ความตั้งใจของครู”...ที่มีจุดมุ่งหมายให้ “นักเรียน” ได้รับความรู้อย่างเสมอภาค เพื่อเป็นคนดีอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข.