วันก่อน มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก กับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พัฒนางานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาแบบจำลองปอดโดยแบบจำลองการเลี้ยงเซลล์สามมิติเพื่อการทดสอบยาในการรักษาโรค COVID-19”
ผมบังเอิญได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของงานวิจัยชิ้นนี้โดยตรง คือ คุณหมอเขตต์ ศรีประทักษ์ ซึ่งพยายามเล่าให้ผมฟังแบบง่ายๆ ซึ่งฟังแล้วก็ยังยากอยู่
หมอเขตต์ บอกผมว่า แม้สถานการณ์วันนี้ดูเหมือนจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างถาวร และต้องจำไว้อย่างหนึ่งครับว่า ปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดยืนยันได้ชัดเจนว่ามีประสิทธิผลสูงในการรักษา COVID-19
ยาหลายชนิดที่ใช้รักษากันอยู่ตอนนี้ ส่วนใหญ่เป็นยารักษาโรคอื่นที่มีอยู่แล้ว เช่น ยาในกลุ่มต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคเอดส์ โรคเมอร์ส ซาร์ส ซึ่งเป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ COVID-19 และการพัฒนาวัคซีนที่เป็นความร่วมมือวิจัยในระดับโลก หรือการใช้น้ำเลือดที่มีภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยที่หายแล้ว แต่ยาที่จะใช้รักษาโรคโดยตรงจริงๆยังไม่มี การพัฒนายาต้านไวรัสจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสให้ได้
หมอเขตต์ พยายามอธิบายให้คนที่ไม่รู้เรื่องการแพทย์อย่างผมฟังว่า การจะพัฒนายาต้านไวรัสได้นั้น ต้องมีการสร้างแบบจำลองปอดเสมือนจริงเพื่อจำลองการแสดงออกของโปรตีน เนื่องจากไวรัส COVID-19 อาศัยโปรตีนชนิดหนึ่งเป็นตัวรับเป้าหมายชนิด ACE2 ในการเข้าสู่เซลล์ ซึ่งพบมากในเซลล์ปอด และเซลล์อื่นๆในอวัยวะสำคัญ
และการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เกือบ 100% มักเกิดจากอาการปอดอักเสบรุนแรง...!!
...
งานวิจัยการพัฒนาแบบจำลองปอดโดยแบบจำลองการเลี้ยงเซลล์สามมิติเพื่อการทดสอบยาในการรักษาโรค COVID-19 จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นโครงการต้นแบบที่จะทดสอบยาที่ใช้ในการรักษาโรค COVID-19 โดยยาที่จะใช้ทดสอบจะมีคุณสมบัติลดการออกฤทธิ์กระตุ้นการอักเสบที่ปอด รวมถึงสารที่เข้าไปแย่งจับกับเชื้อ SARS-COV2 เพื่อลดโอกาสการผ่านของเชื้อ SARS-COV2 เข้าสู่เซลล์ปอด ซึ่งแบบจำลองการเลี้ยงเซลล์แบบสามมิติในลักษณะนี้ สามารถจำลองรูปแบบการแสดงออกของโปรตีน รวมถึงสภาวะต่างๆที่คล้ายกับปอดมนุษย์มากที่สุด
เป้าหมายของงานวิจัยคราวนี้ หมอเขตต์ บอกว่า เพื่อพัฒนารูปแบบการรักษาอาการปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ COVID-19 และเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะนำยาหรือสารที่ยับยั้งการติดเชื้อที่ปอด มาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ตลอดจนช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย COVID-19
สำคัญตรงประโยคสุดท้ายนี่ละครับ...ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งตอนนี้ อเมริกาซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ ผลิตยา วัคซีน ส่งขายทั่วโลก ยังไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงของโรคนี้ได้ ถ้าไทยเราทำสำเร็จจะเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติทีเดียวครับ ไม่ใช่แค่เฉพาะคนไทยเท่านั้น รอลุ้นกันนะครับ...!!!
Aroon