ตั้งการ์ดสู้... 3 เพชฌฆาตร้าย
การ์ดต้องอย่าตก...!
คำพูดที่ทุกวันนี้คนไทยได้ยินจนคุ้นชินในการประพฤติปฏิบัติตัวเพื่อสกัดกั้น หรือหยุดยั้งโรคโควิด-19 ที่กำลังคุกคามมนุษยชาติ
และด้วยความที่ทุกคนพุ่งความสนใจกับ โรคโควิด–19 จึงอาจหลงลืมหรือละเลย ที่จะนึกถึงโรคซึ่งมักจะมีการระบาดในช่วงปลายร้อนต้นฝน นั่นคือ ไข้หวัดใหญ่ และ ไข้เลือดออก
3 โรค...อันตราย!!!
ที่พร้อมจะเป็นเพชฌฆาตร้าย...คร่าชีวิตมวลมนุษยชาติได้ตลอดเวลา จึงกลายเป็นประเด็นร้อนแรงแซงสภาพอากาศเมืองไทยไปแล้ว โดย โรคโควิด–19 หากเจาะลึกลงไป ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.-26 เม.ย.2563 พบผู้ป่วย 2,922 ราย เสียชีวิต 51 ราย โรคไข้หวัด ใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-20 เม.ย. พบผู้ป่วย 97,398 ราย เสียชีวิต 3 ราย และ โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-20 เม.ย. พบผู้ป่วย 8,746 ราย และเสียชีวิต 6 ราย
...
โรคโควิด–19 นั้น ถึงแม้ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยจะลดลง แต่คนไทยทุกคนก็ไม่ควรประมาทการ์ดต้องไม่ตก และต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากทุกครั้งเมื่อออก นอกบ้าน และหมั่นล้างมือบ่อยๆ เพื่อร่วมกันกดตัวเลขทั้งผู้ป่วยและเสียชีวิต ชะลอเวลาให้มวลมนุษยชาติสามารถผลิตยาที่ใช้รักษาโรค รวมทั้งผลิตวัคซีนเพิ่มภูมิป้องกันความรุนแรงของโรคลงได้ นั่นถึงจะเป็นเวลาที่ทุกคนสามารถวางใจได้เปราะหนึ่ง
ขณะที่ อีก 2 โรค ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น โรคเจ้าถิ่น คือ โรคไข้เลือดออก ก็ยังเป็นโรคที่ไม่อาจมองข้าม ยิ่งขณะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน บางพื้นที่ฝนตกมีน้ำขังในภาชนะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก รวมทั้งในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด–19 หากป่วยเป็นไข้เลือดออกร่วมด้วยจะทำให้การรักษายุ่งยากอาการรุนแรงมากขึ้น การป้องกันโรคไข้เลือดออก โดย เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ จึงสำคัญเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ที่เมื่อสภาพอากาศชื้นก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย
ทั้งอีกปัจจัยที่น่าเป็นห่วง คงหนีไม่พ้นเรื่องอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งมักจะมีอาการไข้ ไอ และเจ็บคอ ที่มีอาการคล้ายกับโรคโควิด–19 ดังนั้น เมื่อป่วยแล้วอาจทำให้ยากต่อการวินิจฉัยโรค
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ทั้ง 3 โรค ว่า โรคไข้เลือดออกจะมาเร็วกว่าปกติ เพราะฝนเริ่มตกเร็วตั้งแต่หน้าร้อนและอีกปัจจัยคือ โรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้คนไทยอยู่บ้านมากขึ้น ขณะที่ยุงลายเป็นยุงบ้านการอยู่บ้านมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยที่มีโอกาสถูกกัดและป่วยมากขึ้น ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออก เมื่อมาในช่วงที่มีโรคโควิด-19 ระบาด ก็ยังไม่น่ากังวลเรื่องการวินิจฉัยโรคเพราะแพทย์สามารถแยกได้พอสมควร เพราะไข้ เลือดออกปกติเป็นในเด็กโต อายุระหว่าง 8-15 ปี ส่วนใหญ่มาด้วยไข้สูงมาก ไม่ค่อยมีอาการหวัด ไอ เด็กหลายคนป่วยหน้าแดงเพราะพิษไข้ ทำให้พอแยกได้ ส่วนโรคโควิด-19 จะเป็นทุกอายุและมักพบในหนุ่มสาว อาการส่วนใหญ่เหมือนไข้หวัด จึงต่างจากไข้เลือดออก
“ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มาทุกปี โดยเฉพาะช่วงนักเรียนเปิดเทอม นักเรียนเล่นกันติดเชื้อนำมาติดคนในครอบครัวเหมือนที่มีความกังวลในโรคโควิด-19 ซึ่งเด็กๆติดแล้วอาการไม่รุนแรง แต่พอติดคนแก่อาจโจมตีถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้หาก ไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ช่วงการระบาด คือ ปลายเดือน พ.ค. ซึ่งหากมาบรรจบโรคโควิด–19 เมื่อไหร่ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะ 2 โรคนี้อาการคล้ายกันเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องจัดสรรงบจัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วเร่งฉีดให้กลุ่มเสี่ยงเร็วกว่าทุกปี เพราะถึงจะป้องกันโควิด–19 ไม่ได้ แต่ป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการป่วยซ้ำซ้อน” นพ.ทวี ขยายภาพความน่ากังวลในการวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19
...
นพ.ทวี ยังเล่าด้วยว่า สำหรับโรคโควิด–19 ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยังไม่มี
ยารักษาจำเพาะ ไม่เหมือน โรคไข้หวัด ใหญ่ที่จะมียารักษาจำเพาะ ทั้งนี้ โรค
โควิด–19 เท่าที่มีการศึกษาพบว่ามีความ รุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่ 3 เท่าและอัตราการเสียชีวิตภาพรวมสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ 10 เท่า ดังนั้น ถึงต้องเร่งมือทำวิจัยวัคซีนโควิด–19
“โรคไข้เลือดออกและโรคระบบทางเดินหายใจจะพบการระบาดจำนวนมากในเดือน พ.ค.จึงเป็นความเสี่ยงที่คนป่วยจะเกิดการเจ็บป่วยซ้ำซ้อนซึ่งการป่วย 2 โรค ทำให้การรักษายากขึ้น อาการรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ในยุคนี้เรารู้ว่าแต่ละโรคมีความเสี่ยงมาจากอะไรก็ป้องกันตัวเสีย โรคระบบทางเดินหายใจ ต้องหลีกเลี่ยงการไปพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ส่วนไข้ เลือดออก ป้องกันได้ตั้งแต่ตอนนี้คือ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำความสะอาดบ้านเรือนอย่าให้มีมุมอับและระวังตัวเองอย่าให้ยุงกัด” นพ.ทวี กล่าวถึงมาตรการป้องกันโรคก่อนเข้าสู่ฤดูการระบาด
...
ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่า โรคภัยไข้เจ็บ คือเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนควรระมัดระวัง ซึ่งหมอคนแรกที่ดีที่สุดก็คือตัวเราเอง โดยเริ่มต้นได้ตั้งแต่ ทำให้ร่างกายแข็งแรงด้วยการออก กำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นล้างมือ ใส่หน้ากาก เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ที่ทุกคนควร “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”
ก็น่าจะเปลี่ยนช่วงเวลาที่หลายคนอาจจะเบื่อๆ เหงาๆ เซ็งๆ ไปทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ร่วมกับการทำให้สภาพแวดล้อมรอบๆบ้านสะอาดไม่ปล่อยให้น้ำขังในภาชนะต่างๆ เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยป้องกันโรคได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งขอฝากภาครัฐให้เอาจริงเอาจังกับการควบคุมโรค การพัฒนายาและวัคซีน เพราะเมื่อใดที่สุขภาพของประชาชนถูกคุกคาม จากโรคภัยไข้เจ็บ นั่นย่อมหมายถึงไม่ใช่เฉพาะแค่ตัวผู้ป่วยเท่านั้น ที่จะต้องทนทุกข์ทรมานกับโรค แต่ยังหมายรวมไปถึงครอบครัวที่โชคร้ายถึงขั้นต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป
คงน่าเศร้าหากคนไทยยังต้องสังเวยชีวิตไม่ว่าจะเป็นจากโรคอุบัติใหม่หรือโรคประจำถิ่นซ้ำซาก!!!
ทีมข่าวสาธารณสุข