สรุปความเป็นคำตอบของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า เมื่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือผู้มีอำนาจ คัดเลือกแต่งตั้งดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์และมีมติเป็นคำสั่งออกมาแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือผู้เกี่ยวข้องย่อมปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น

ไม่สามารถใช้สิทธิโต้แย้งการแต่งตั้งในทางอื่นได้

ถึงกระนั้น ประเด็น “ความเป็นที่สุด” ของคำสั่งไม่ใช่ข้อถกเถียง เพราะเคยมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 657/2558 วางบรรทัดฐานเอาไว้อยู่แล้ว

หัวใจสำคัญของเรื่องอยู่ที่ว่า การที่คำสั่งแต่งตั้งจะชอบด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญนั้น คำสั่ง คสช.ที่ 20/2561 วางหลักเอาไว้ว่า การออกคำสั่งต้องเป็นการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติ เพื่อให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งบุคคลที่มีศักยภาพรองรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทนโยบายสำคัญของรัฐบาลนำไปสู่แผนการปฏิรูปประเทศ

อย่างไรก็ตาม ความในมาตรา 258 ง ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้วางหลักประกันว่า “ข้าราชการตำรวจจะต้องได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรม”

การจะได้รับความคุ้มครองจาก “ความเป็นที่สุด” จะต้องครบถ้วนทั้ง “การกระทำ” และ “เจตนารมณ์” ประกอบกัน

ส่วนกรณีที่คณะอนุ ก.ตร.เกี่ยวกับการร้องทุกข์ได้เคยมีมติให้เยียวยาผู้ร้องทุกข์ก่อนที่คำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้น ให้ดำเนินการเยียวยาต่อไปได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันของผู้ได้รับการแต่งตั้ง

...

แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะสอบถามว่า คณะอนุ ก.ตร.มีอำนาจพิจารณาเรื่องได้หรือไม่ และข้าราชการตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจะมีสิทธิร้องทุกข์ได้หรือไม่

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ตอบ แต่เปิดทางออกไว้อยู่แล้ว.

สหบาท