การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการให้ประชาชนอยู่ในที่พักอาศัย รวมถึงการทำงานภายในที่พักอาศัย (Work From Home) เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค แต่...การอยู่แต่ในบ้านพัก หรือทำงานจากบ้านพัก นั่นหมายถึงค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยถ้าไม่อยากควักกระเป๋าจ่ายค่าไฟเพิ่มต้องทำอย่างไร “รายงานวันจันทร์” มีคำแนะนำ จากผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) “จาตุรงค์ สุริยาศศิน” ดังนี้...
ถาม-ปี 2563 ความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนเป็นอย่างไร
จาตุรงค์-จากการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงฤดูร้อน เดือน เม.ย.-พ.ค. ปี 2563 พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจำนวน 9,132 ล้านหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง 470 ล้านหน่วย คิดเป็นร้อยละ 4.9 สาเหตุเพราะอุณหภูมิอากาศปีนี้ต่ำกว่าปีก่อน แต่หลังจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโรคโควิค-19 มีประกาศให้ปิดห้างร้าน ตลาด และจุดเสี่ยง และแนะนำให้ประชาชนเก็บตัวและทำงานที่บ้านพักอาศัย พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงฤดูร้อน จำนวน 8,746 ล้านหน่วย ลดลง 857 ล้านหน่วย คิดเป็นร้อยละ 8.9
นอกจากนี้ พบว่าภาคที่อยู่อาศัยมีลูกค้าประมาณ 3.4 ล้านราย มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น โรงงาน ห้าง มีลูกค้าประมาณ 5 แสนราย และภาคธุรกิจขนาดย่อม เช่น บริษัท โรงงานขนาดเล็ก ประมาณ 3 หมื่นราย ซึ่งปกติมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก ต้องหยุดกิจการชั่วคราว ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจลดลง
...
ถาม-ช่วงกักตัวหนีโควิด-19 ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น มีคำแนะนำการใช้ไฟฟ้าอย่างไรให้ประหยัด
จาตุรงค์-ปกติการใช้ไฟฟ้าภาคที่อยู่อาศัย จะเน้นช่วงเย็น และกลางคืน มากกว่าช่วงกลางวัน แต่หลังจากมีมาตรการให้อยู่บ้าน การใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มตามกิจกรรมที่ทำในแต่ละช่วง เช่น ช่วงกลางวันอากาศร้อนก็จะเปิดเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ ถ้าเป็นขนาด 1.5 ตัน หรือขนาด 18,000 BTU จะกินไฟประมาณ 2,000 วัตต์ เฉลี่ยค่าไฟ 8 บาท/ชม. เปิด 10 ชม. เป็นเงิน 80 บาท ช่วง 1 เดือนเฉพาะวันธรรมดาประมาณ 22 วัน×80 เป็นเงิน 1,760 บาท ยังไม่นับรวมช่วงกลางคืนที่เปิดแอร์ตามปกติส่วนทีวีกินไฟ 180 วัตต์ ค่าไฟ 75 สต./ชม. คอมพิวเตอร์กินไฟ 100 วัตต์ ค่าไฟ 50 สต./ชม. ตู้เย็นกินไฟ 600 วัตต์ ค่าไฟ 3 บาท/ชม.ไมโครเวฟกินไฟ 1,200 วัตต์ ค่าไฟ 5 บาท/ชม. รวมถึงการอาบน้ำก็ทำให้เปลืองไฟ เพราะบ้านส่วนใหญ่จะติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในช่วงฤดูร้อนบ้านส่วนใหญ่จะเปิดแอร์ ซึ่งการเปิดแอร์ฤดูร้อนจะต่างกับฤดูอื่น เพราะเครื่องจะทำงานหนักกว่าปกติ และถ้ามีการปรับลดอุณหภูมิลงอีก เครื่องก็จะต้องทำงานหนักขึ้นค่าไฟก็จะสูงตามไปด้วย ขอแนะนำให้เปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 26 องศา เพราะเหมาะสมกับร่างกาย เครื่องไม่ทำงานหนัก และจากการทดสอบพบว่า การเพิ่มอุณหภูมิ จาก 25 เป็น 26 องศา จะช่วยประหยัดค่าไฟได้ถึง 10% และการล้างแอร์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง จะช่วยประหยัดค่าไฟ 5-7%
สำหรับวิธีประหยัดค่าไฟที่ดีที่สุดก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าง่ายๆ เช่น ไม่เปิดพัดลมทิ้งไว้ การเปิดแอร์พร้อมพัดลมจะประหยัดค่าไฟได้มากกว่าการลดอุณหภูมิ หมั่นตรวจสอบสายไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพดี หากชำรุดควรเปลี่ยนใหม่ ควรปิดสวิตช์ หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้งาน เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟ บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้พร้อมใช้งานเพื่อความปลอดภัย.