โรคใบจุดวงแหวน.
1 ใน 7 พืชใช้น้ำน้อยที่บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด แนะนำให้ปลูกในหน้าแล้ง...พริกเป็นพืชทำกำไรได้มากที่สุด ไร่ละ 62,150 บาท แต่ต้องแลกด้วยเวลาปลูกนาน 90 วัน และดูแลรักษาให้พ้นจากโรค
วิธีการปลูกให้ประสบความสำเร็จ...ปลูกห่างกัน 50 ซม. และเพาะกล้าทิ้งไว้ 25-28 วัน พร้อมทั้งควรปักค้างให้ต้นพริกเพื่อให้ต้นได้ยึดเป็นแนว เพื่อความสะดวกในการเก็บผลผลิต
การเตรียมดินก่อนลงมือปลูก...หว่านปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 60 กรัม และปุ๋ยคอก 3 กก. คลุกเคล้ากับดินทุก 2 เมตร หลังย้ายกล้าลงปลูกได้ วันที่ 14, 28 และ 42 ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปริมาณ 2 กรัม และยูเรีย 2.5 กรัม ตรงปลายรากบริเวณโคนต้น ลึกประมาณ 2.5 ซม.
วันที่ 56, 70, 84 เปลี่ยนจากยูเรียมาเป็นปุ๋ยสูตร 0-0-60 ปริมาณ 2.5 กรัม ควบคู่กับสูตรเสมอปริมาณเท่าเดิม...วันที่ 98, 112 และ 126 ให้ใส่แต่ปุ๋ยสูตรเสมอเท่าเดิม
โรคที่พบบ่อย แอนแทรกโนส (กุ้งแห้งพริก)...เกิดได้ทั้งผล ขั้วผล ใบ ก้านใบ โดยจะเป็นแผลสีน้ำตาล แผลบนผลพริกจะลึกลงไปในผิว และมีผงสีดำติดอยู่ ผลพริกจะแห้งงอคล้ายกุ้งแห้ง ถ้าเกิดที่ก้านใบและก้านผล ใบและผลจะร่วง ป้องกันและควบคุมได้โดยฉีดพ่นด้วย ซิเนบ หรือ แมนโคเซบ อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าอาการหนัก ให้เปลี่ยนมาใช้ บีโนมิล และ คาร์เบนดาซิม ฉีดพ่นสลับกัน
โรคใบจุดวงแหวน...ใบพริกจะด่างเป็นจุดวงแหวนซ้อนกัน เนื้อเยื่อตาย ผลพริกด่างเป็นสีแดงเข้มสลับกับเหลือง แก้ไขโดยกำจัดต้นที่แสดงอาการทิ้ง และควบคุมเพลี้ยไฟพาหะนำโรค โดยใช้สาร อิมิดาโคลพริด
โรคเหี่ยวเขียว...อาการใบเหี่ยวเกิดได้แม้ว่าต้นพริกจะยังเขียวอยู่ แต่ถ้าตัดโคนต้นไปจุ่มน้ำจะพบเมือกแบคทีเรียไหลออกมา แก้ไขโดยขุดต้นที่เป็นโรคทั้งราก วางตากแดดเมื่อแห้งแล้วให้เผาทำลาย จะปลูกครั้งต่อไป ให้ขุดดินมาตากแดดจนดินแห้ง ก่อนปลูกใส่ปุ๋ยมูลสัตว์แห้งทุบให้ละเอียดผสมดินรองก้นหลุม
...
โรคใบจุดแบคทีเรีย...ใบเกิดแผลสีน้ำตาลปนเทา ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม กลางแผลมีจุดสีน้ำตาลหลายแผลต่อกัน ทำให้แผลขนาดใหญ่กระจายไปทั่ว แผลคล้ายฉ่ำน้ำ แต่นานไปจะแห้งคล้ายเชื้อรา ป้องกันและควบคุม โดยฉีดพ่น คอปเปอร์ซัลเฟต, คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์, บอร์โดมิซ์เจอร์ หรือใช้สารปฏิชีวนะผสมคอปเปอร์คลอไรด์ไฮดรอกไซด์.
สะ–เล–เต