นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยถึงความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์กล้วยเล็บมือนางพันธุ์ใหม่ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ชุมพร ที่ได้รวบรวมพันธุ์กล้วยเล็บมือนางสายต้นที่ผลผลิตสูง คุณภาพผลผลิตดี เป็นที่ต้องการของตลาดจากแปลงเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน จำนวน 21 สายต้น มาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อนำมาปลูกเปรียบเทียบและคัดเลือกสายต้นที่เจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง เหมาะสำหรับแปรรูปและรับประทานผลสด
จนได้ 5 สายต้น นำมาปลูกขยายหน่อพันธุ์ และปลูกทดสอบในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยใช้สายต้นพันธุ์พื้นเมืองเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ในที่สุดได้สายต้นดีเด่น ผ่านการประเมินการยอมรับพันธุ์จากเกษตรกร ร้านค้า และผู้บริโภคผ่านการรับรองเป็นพันธุ์แนะนำจากกรมวิชาการเกษตร ในปี 2562 ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “กล้วยเล็บมือนางพันธุ์ชุมพร 1”
ลักษณะเด่น เครือใหญ่ น้ำหนักเครือ 5.7 กก. ในขณะที่พันธุ์พื้นเมือง มีน้ำหนักเฉลี่ย เครือละ 4.9 กก. น้ำหนักหวี 664 กรัม (พันธุ์พื้นเมืองหนักหวีละ 631 กรัม) ผลมีขนาดใหญ่น้ำหนักผล 33.8 กรัม (พันธุ์พื้นเมืองหนักผลละ 32.8 กรัม)
...
เนื้อแน่นเหมาะสำหรับการแปรรูปทั้งทำกล้วยอบและฉาบและบริโภคผลสุก รวมทั้งการจัดเรียงของผลในหวีเป็นระเบียบเหมาะแก่การบรรจุหีบห่อในการขนส่งหรือส่งออก ในขณะที่กล้วยเล็บมือนางพันธุ์อื่นๆ ส่วนใหญ่การจัดเรียงของผลในหวีไม่เป็นระเบียบทำให้ยากต่อการบรรจุหีบห่อ
ด้วยลักษณะเครือและหวีขนาด ใหญ่ ทำให้มองดูสวยงามเป็นจุด สนใจน่าซื้อ เป็นที่ต้องการของผู้ขาย และผู้บริโภค และผลมีขนาดใหญ่ทำให้ง่ายต่อการแปรรูปโดยเฉพาะการทำกล้วยฉาบเพราะทำได้ง่ายกว่าพันธุ์พื้นเมือง เพราะสะดวกในการหั่น เมื่อทอดเสร็จแล้วแผ่นกล้วยฉาบ มีขนาดใหญ่มองดูน่ารับประทาน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร ได้ทำแปลงหน่อพันธุ์ภายในพื้นที่ 2 ไร่ จำนวน 800 กอ และ เพาะเลี้ยงต้นกล้าด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไว้ 10,000 ต้น เกษตรกรสนใจสอบถามได้ที่ 0-7761-1025.