กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือน ช่วงเดือนมีนาคมนี้ ประเทศ ไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจจะมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกร ควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย โดยเฉพาะสวนไม้ผลหลังปลูกใช้เวลานานกว่าจะให้ผลผลิต แต่เป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้หลายปี ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ส่วนภาคเหนือ เช่น ลำไย และลิ้นจี่ ดังนั้นจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งภัยแล้ง ลมพายุ และน้ำท่วม
“ก่อนจะเกิดพายุฤดูร้อน ขอให้ชาวสวนผลไม้ระวังผลผลิตที่อยู่ในระยะพัฒนาจากผลอ่อนใกล้จะเป็นผลแก่ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวอาจได้รับความเสียหายได้ ควรปลูกต้นไม้บังลม เช่น ไม้ไผ่ กระถินณรงค์ ขี้เหล็กบ้าน และสะเดาอินเดีย ควรตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลมเป็นการหลบพายุ ส่วนต้นไม้ผลที่อายุมาก ลำต้นสูง อาจตัดทอนส่วนยอดให้ต่ำลง ใช้เชือกโยงกิ่งและต้น เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่ง และค้ำต้นเพื่อช่วยพยุงไม่ให้โค่นลงได้ง่าย”
...
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร บอกอีกว่า หลังเกิดพายุฤดูร้อน สวนไม้ผลที่ได้รับผลกระทบจากพายุ สามารถฟื้นฟูได้ โดยตัดแต่งกิ่งที่ฉีกหัก ที่โค่นล้มออกทันทีหลังสวนแห้ง อีกทั้งในขณะที่ดินยังเปียกชื้นชุ่มน้ำอยู่ ไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปในสวน เพราะจะทำให้โครงสร้างดินถูกทำลาย หากต้นไม้เอนลง ให้ใช้เชือกหรือลวดดึงลำต้นให้ตั้งตรง พร้อมตัดแต่งกิ่งออก 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น ควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนจะทำให้รากแตกใหม่ได้ดี ควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ กับใส่ปุ๋ยบำรุงต้น
ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัยเท่านั้น ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละ 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ 1,148 บาทต่อไร่ และพืชสวน และอื่นๆไร่ละ 1,690 บาท ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เกษตรกรต้องยื่นแบบขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) ให้ผู้นำท้องถิ่นรับรองพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอน.