ผู้ป่วยชายอายุ 35 ปี ไม่มีโรคประจำตัว แข็งแรงดีทำงานเป็นพนักงานส่งเสริมการขาย...วันที่ 25 มกราคม มีอาการไข้ เจ็บคอ...วันที่ 28 มกราคม ได้ไปตรวจที่คลินิกของจุฬารัตน์แปดให้การวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ให้รักษาตัวที่บ้าน...วันที่ 29 มกราคมอาการไม่ดีขึ้นกลับไปที่จุฬารัตน์แปด

วันที่ 30 มกราคม ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์เก้า ...ผลการตรวจไข้หวัดใหญ่ ไม่พบ ผลการตรวจเลือดไข้เลือดออก dengue...บวก IgG IgM

เกล็ดเลือดต่ำสุด 137,000 และล่าสุด 140,000...เอกซเรย์ปอดพบปอดอักเสบ reticular infiltration ยาปฏิชีวนะ Cef 3...วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ ยาปฏิชีวนะ ceftazidime levofloxacin tamiflu

วันที่ 4 กุมภาพันธ์...เพิ่มขนาดยา tamiflu และตอนเย็นเริ่มให้ยา kaletra (ควรจะได้รับผลตรวจ Covid-19)...อาการไม่ดีขึ้น ไข้สูงหายใจเร็วมากกว่า 40 ครั้ง รวมทั้งปอดอักเสบรุนแรงขึ้น

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ รับเข้าโรงพยาบาลบำราศนราดูร โดยใส่ท่อหายใจมาก่อน...วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ได้รับยากลุ่มผสม ที่มี favipiravir ไวรัส Covid-19 หาย แต่เนื่องจากปอดถูกทำลายเสียหายอย่างรุนแรงโดยเสียชีวิตในวันที่ 29 กุมภาพันธ์

อนึ่งการตรวจไวรัสไข้เลือดออกไม่เคยเจอเลยทั้ง antigen และ PCR

...

พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยรายนี้...30 มกราคม เข้าไปเจาะเลือด...วันที่ 4 กุมภาพันธ์ มีไข้ ปวดเมื่อย...วันที่ 6 กุมภาพันธ์ เก็บตัวอย่างส่งตรวจ ...8 กุมภาพันธ์ ผลตรวจพบ covid-19...วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พบปอดอักเสบที่กลีบล่างของปอดซ้าย...วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปอดอักเสบลุกลามสองข้างและส่งตัวไปที่บำราศนราดูร และได้ยากลุ่มผสมในวันเดียวกัน...ดีขึ้นเร็วโดยไม่พบเชื้อ กลับบ้านได้ในที่สุดโดยมีปอดเสียหายอยู่ระดับหนึ่ง

“การที่ออกข่าวว่าต้องสูงอายุและมีโรคประจำตัว ทำให้ลดความระมัดระวังเมื่อเจอกับผู้ป่วยแข็งแรงไม่มีโรคและเมื่อเสียชีวิตต้องไม่ใช่ไข้เลือดออกที่เคยเป็นมาก่อนและไม่มีส่วนร่วมใดๆมาควบรวม จะทำให้สับสน”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย บอกอีกว่า กระบวนการในการรับมือตอบโต้ในเชิงรุกของโรค “Covid-19” จะเห็นได้ชัดโดยที่ประเทศไทยต้องเรียนรู้จากที่ประเทศจีนใช้ ในการปรับเปลี่ยนข้อด้อย ที่แม้จะยอมรับว่าเป็นมาตรฐานก็ตาม

เช่น การตรวจโดยวิธีอณูชีววิทยา (PCR) ซึ่งพบว่ามีข้อจำกัดในการเอาเสมหะโดยเฉพาะที่มาจากปอดลึกๆ หรือน้ำจากจมูกหรือลำคอ ซึ่งผู้ป่วยจำนวนมากเชื้อกลับหลบไปที่ปอดแทนกระบวนการเหล่านี้

หนึ่ง...ปรับตัวทันทีตั้งแต่เดือนธันวาคม ทั้งนี้ โดยที่โรคตั้งต้นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยเป็นการใช้ CT สแกน ในการดูความผิดปกติของเนื้อปอด

สอง...แม้ว่าผลทางอณูชีววิทยาจะได้ผลลบก็ตาม แต่ถ้าประวัติอาการการดำเนินโรคเข้าได้ ก็ทำการกักตัว กันแพร่ และเมื่ออาการมากขึ้นก็ทำการรักษาได้เลย

สาม...ความผิดปกติที่เห็นยังสามารถจำแนกได้ว่าเป็นระยะเริ่มต้นสุดๆ ultra early และระยะต่อมาซึ่งแสดงลักษณะการรุกรานของเนื้อปอดมาก รวมกระทั่งถึงทำให้มีของเหลวรั่วจากหลอดเลือดในปอดเข้ามาท่วมปอด

รวมกระทั่งถึงมีการอักเสบอย่างรุนแรงและในระยะถัดมามีการสร้างเนื้อเยื่อพังผืด ทำให้เนื้อปอดแข็งขยายตัวหดตัวลำบากหรือไม่มีความยืดหยุ่น นอกจากนี้แล้วยังมีมาตรการเข้มข้นเฉียบขาดของจีน... “ปิดประเทศ ปิดบ้านหาผู้ติดเชื้อ” ไม่ว่าจะด้วยวิธีการทำคอมพิวเตอร์ CT ปอด ตรวจด้วยวิธี PCR วิธีการทำความสะอาดในพื้นที่สาธารณะทำให้โรงพยาบาลเริ่มร้าง...

คำถามสำคัญมีว่า “ประเทศไทย” จะเข้มข้นเฉียบขาดตั้งแต่เดี๋ยวนี้ หรือจะรอให้ลุกลามใหญ่โตไปก่อนแล้วค่อยทำ

“มาตรการต้องมีวิธีการและปฏิบัติ...เฟส 2... 3...4...5... 6 ไม่ได้มีความหมายเท่ากับคนไทยทุกคนร่วมใจกันและกระบวนการสาธารณะทำพร้อมกัน ...น้องเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเสียสละให้เรามามากพอแล้ว”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ แปลเรียบเรียงการพิเคราะห์ลักษณะอาการของผู้ป่วย Covid-19 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 50,466 ราย (meta-analysis) วารสาร ORCID iD. ข้อมูลถึงกุมภาพันธ์ 2020

ไข้พบได้ 89.1% ไอ 72.2% ปวดกล้ามเนื้ออ่อนเพลีย 42.5%

...

“ARDS” หรือ...ภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลันมีการรั่วของของเหลวจากเส้นเลือดเข้าสู่ถุงลม มีถุงลมปอดผิดปกติ 14.8%

CT คอมพิวเตอร์ของปอดผิดปกติ 96.6%

เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยอาการรุนแรง 18.1%

อัตราตาย case fatality 4.3%

ถัดมา JAMA กุมภาพันธ์ 24,2020 รวมข้อมูลจากผู้ป่วย 72,314 ราย จาก Chinese CDC จนกระทั่งถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์...44,672 ราย ยืนยันจากการตรวจพีซีอาร์ (62%)

16,186 ราย (22%) น่าจะเป็นโดยที่ไม่ได้ทำแล็บยืนยันเนื่องจาก ตรวจไม่ทันไม่ใช่ลักษณะของอาการและการสัมผัส...10,567 ราย (15%) วินิจฉัยจากลักษณะทางคลินิก (ใน Hubei) โดยอาศัยอาการลักษณะการสัมผัส และความผิดปกติของปอดจากซีทีคอมพิวเตอร์

889 ราย (1%) ไม่มีอาการใดๆ ไม่มีไข้หรืออ่อนเพลีย แต่การตรวจพีซีอาร์ยืนยัน

อัปเดตสถานการณ์ “โควิด-19” จากองค์การอนามัยโลก (WHO) วันที่ 2 มีนาคม 2563 ประเทศที่พบรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 62 ประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด 88,913 คน

...

โดยผู้ติดเชื้อจากอิตาลีพุ่งทะลุเป็นอันดับที่ 3 รองจากจีนและเกาหลีใต้ ส่วนในทวีปอเมริกา จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯอยู่ที่ 62 คน แคนาดา 19 คน เม็กซิโกและบราซิลประเทศละ 2 คน

น่าสนใจว่า...ยังไม่มีสัญญาณว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงเลย

อีกหนึ่งประเด็นปัญหาเฉพาะหน้าวันนี้คือ...การที่จะมีผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายออกมาพูดว่าคนปกติไม่ต้องใส่หน้ากากก็ได้เพราะไม่ได้กันอะไร...เรียกว่าตอบอย่างกำปั้นทุบดินง่ายๆ

“ต้องถามกลับครับ หน้ากากอนามัยที่หมอและพยาบาลใส่ในโรงพยาบาลเพื่อกันละอองฝอยจากผู้ป่วยมาเข้าตัวเรา ก็ต้องใส่ถือว่าเป็นมาตรฐาน...ดังนั้น หมายความว่าถ้าประชาชนที่ไม่ได้เป็นหมอหรือพยาบาลแต่ต้องอยู่ในที่สาธารณะและมีคนอยู่หนาแน่นมีโอกาสที่จะได้รับละอองฝอยจากผู้ที่อยู่ข้างเคียง...”

เข้าเยื่อบุปาก จมูก โดยที่ต้องระวังเยื่อบุตาด้วย ทั้งนี้ โดยที่คนที่อยู่ข้างเคียงเราในระยะ 1-2 เมตร อาจมีติดเชื้อและแพร่ได้ ดังนั้น จะไม่ให้ใส่หรืออย่างไร?

“แต่ในกรณีของประชาชนนั้นใส่หน้ากากผ้าหนาๆ ได้ เพื่อซักใช้ซ้ำ ยกเว้นตนเองไม่สบายต้องใส่หน้ากากอนามัยแบบมีชาติตระกูลหน่อย”

ท่ามกลางสถานการณ์อันผกผันประหวั่นใจ ท่องจำกันไว้ให้ขึ้นใจ “ตื่นตัว แต่อย่าตื่นตูม”...ยังเป็นคาถาสำคัญในการสู้โรคระบาดร้ายแรงได้ผลมาทุกยุคสมัย.