พื้นที่ภาคเหนือบนดอยสูงหลายแห่ง ชาวเขาชาวดอย มีการปลูกพืชผัก มีการใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะขาดการศึกษาหาความรู้ในการใช้สารเคมีที่ถูกต้อง

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงร่วมกับ จังหวัดน่าน จัดงานโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนต้นแบบ (Field Day) การลด ละ เลิก การใช้สารเคมี โดยนำองค์ความรู้จากโครงการหลวงมาใช้ ณ ชุมชนบ้านใหม่ ต.นาไร่หลวง อ.สองแคว จ.น่าน

ให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดแล้วมาปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผลแบบผสมผสาน เน้นปรับระบบปลูกพืช มาใช้สารชีวภัณฑ์ ปุ๋ยหมัก รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สอนให้คนในชุมชนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าไม้ การทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟป่า การใช้ประโยชน์แหล่งน้ำธรรมชาติบนภูเขา เพื่อส่งต่อน้ำบนดอยลงมาใช้ในการเกษตร ทำให้ชุมชนบนพื้นที่สูงมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี

เนื่องจากทางจังหวัดได้เคยประชาสัมพันธ์กับชาวเขาโดยตรงมาแล้ว แต่มักไม่ฟังเพราะฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เลยไม่สนใจ ทำให้การประชาสัมพันธ์เลยไม่ค่อยได้ผล โครงการนี้จึงปรับเปลี่ยนใหม่ เน้นให้ความรู้ไปที่นักเรียน เยาวชน และลูกหลานชาวเขา ให้เข้ามาร่วมกิจกรรมฐานเรียนรู้เริ่มที่การปลูกผักปลอดภัย การปรับปรุงดินและการผลิตปุ๋ย การปลูกพืชไร่บนพื้นที่สูง ศึกษาอุตุนิยมวิทยาเพื่อการพัฒนาบนพื้นที่สูง ลดการใช้สารเคมีหันมาใช้สารชีวภัณฑ์ เรียนรู้มาตรฐานผลผลิตที่มีคุณภาพ ศึกษาชุมชนต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สูง

พร้อมกับพาไปดูตลาดชุมชน ให้นักเรียนลงพื้นที่จริง เพื่อจะได้เรียนรู้ถึงการปรับระบบปลูกพืช เปลี่ยนจากพืชไร่มาสู่การทำสวนไม้ผลแบบผสมผสานของผู้นำเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ในการทำเกษตรแบบผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น

...

ทำให้ลูกหลานของชาวเขาจะได้นำความรู้ไปบอกต่อพ่อแม่ ไปปรับใช้ในพื้นที่สูงของบ้านตัวเองเป็นลำดับแรก จากนั้นแล้วขยายไปสู่บ้านข้างเคียง และชุมชน ส่งผลให้เกิดการตั้งเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในพื้นที่จังหวัดน่าน แล้วขยายผลสำเร็จไปสู่การพัฒนาพื้นที่สูง ตามแนวทางโครงการหลวงในอนาคต.

สะ–เล–เต