ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์สู้รบอย่างรุนแรงกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เมื่อปี 2521 มีตำรวจตระเวนชายแดนบาดเจ็บสาหัสทุพพลภาพจำนวนมาก ต้นสังกัดพิจารณาแล้วว่า หากได้รับการรักษาอาการจนทุเลาควรได้พักฟื้นต่ออีกระยะหนึ่งก่อนกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับผู้ป่วยไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์

กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนจึงสร้างโรงพยาบาลพักฟื้นสำหรับ “นักรบตำรวจชายแดน” ขึ้นบนพื้นที่ 300 ตารางวา เพื่อเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง และอนุมัติเพิ่มเติมอีก 153.40 ตารางวา พร้อมขยายเป็น 50 เตียง ภายในกองบัญชาการ ริมถนนพหลโยธิน แขวงและเขตพญาไท กทม.

ครั้งนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนในการก่อสร้าง ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารโรงพยาบาลในวันที่ 16 ต.ค.2528

การก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลสูง 4 ชั้น เสร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2529 ตามแบบแปลนของโรงพยาบาลดารา-รัศมี อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามโรงพยาบาลว่า “นวุติสมเด็จย่า”

มีความหมายว่า “สมเด็จย่า 90” เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2533 เนื่องจากเป็นปีที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา

จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 50 ปีแล้ว “โรงพยาบาลนวุฒิสมเด็จย่า” กลายเป็น “หน่วยปฐมภูมิ” ตรวจโรคทั่วไปให้แก่ตำรวจตระเวนชายแดน และประชาชนทั่วไป เต็มไปด้วยแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลตำรวจ

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของสมเด็จย่า.

...

สหบาท