รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลก ฉบับที่ 40 เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของไทยและนโยบายเพื่อการพัฒนาของประเทศไทยในช่วงปีที่ผ่านมา

ระบุชัดเจน หากไทยต้องการบรรลุเป้าหมาย เปลี่ยนผ่านสู่ประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2580 จำเป็นต้องมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าร้อยละ 5 อย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2568

ที่สำคัญต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเกษตร เพราะมีการจ้างแรงงานในสัดส่วนสูงถึง 30% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศไทย

ขณะที่แรงงานในภาคเกษตรไทยมีประสิทธิภาพแทบทุกด้านไม่สูงนัก การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจึงยังไม่สมบูรณ์

ฉะนั้นทางที่ดีไทยควรเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน และการลงทุนในภาคการเกษตร ควบคู่กับการดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพ อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนของการลงทุนด้านชลประทาน เพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัย และโครงการส่งเสริมเกษตรกรรม

แม้ที่ผ่านมานโยบายต่างๆของกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่เวิลด์แบงก์เสนอ แต่หลายนโยบายจากเบื้องบน เหมือนเตะตัดขาเกษตรกร ทำให้ภาคเกษตรและประเทศเดินหน้าไปไม่ถึงไหน

การทุ่มงบมหาศาลละลายแม่น้ำ หวังให้เป็นเกษตรอินทรีย์กันทั้งประเทศ ทั้งที่ตลาดโลกเกือบ 100% ต้องการอาหารจากเกษตรปลอดภัย ตรงนี้จีเอพีคือคำตอบสุดท้าย ที่น่าจะทุ่มงบสนับสนุนลงไปมากกว่า

การไล่ล่าแบนสารเคมี ปัจจัยการผลิตที่จำเป็นสำหรับเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ที่เป็นขาหนึ่งของจีดีพีทำเงินเข้าประเทศ

ตลอดจนการตัดงบกรมวิชาการเกษตร 40% ที่มีภาระหน้าที่เกี่ยวพันกับเกษตรกรอย่างลึกซึ้งในทุกมิติ จนทำให้งานของกรมแทบทุกอย่างหยุดชะงัก งานวิจัยขาดตอน สุดท้ายหวยมาออกที่ลูกจ้างนับพันถูกเลิกจ้าง

...

แบบนี้อย่าว่าแต่เขยิบเป็นประเทศที่มีรายได้สูงเลย...แค่ครัวโลกที่คุยนักคุยหนา เอาให้ได้สักทีเหอะ.

สะ–เล–เต