ปัญหา “ฝุ่นพิษ PM 2.5” เป็นปัญหาร่วมของคนไทยทั่วประเทศ โดยมีสองปรากฏการณ์สำคัญที่ทำให้สังคมไทยตื่นตัวกับปัญหานี้ คือ...ปรากฏการณ์ฝุ่นในกรุงเทพฯ และหมอกควันในภาคเหนือ
“สมุดปกขาว อากาศสะอาด” จัดทำโดยเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย บันทึกเชิงตั้งคำถามเอาไว้ว่า ที่ผ่านมามาตรการสร้างความตระหนักรู้เรื่องผลกระทบเชิงลบจากฝุ่น PM 2.5 เพียงพอหรือไม่?...มาตรฐานไอเสียและน้ำมัน ยูโร 3 และ ยูโร 4 ที่ใช้ในรถบรรทุกขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เพียงพอหรือไม่?
มาตรการสั่งห้าม “เผา” สามารถใช้ได้ผลหรือไม่?
เหตุใดการจัดการปัญหาที่ผ่านมาจึงไม่ได้ผล?
ปลูกจิตสำนึกรัก...หวงแหน...ดูแลสิ่งแวดล้อม แคมเปญ “Waste This Way #รักษ์โลกให้ถูกทาง”...อีกแรงผลักดันการจัดการขยะในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นานนี้
“GC” ได้ร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน สอดคล้องกับแนวคิด GC Circular Living และความมุ่งมั่นในการสร้าง Solution for Everyone หรือ...การสร้างโซลูชันเพื่อรองรับความต้องการของทุกคน
ที่สำคัญยังเป็นการส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติ
มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา “ขยะ”...โดยเริ่มต้นจากนิสิตนักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัย
...
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC (บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด มหาชน) บอกว่า ในงานฟุตบอลประเพณีครั้งนี้เราสนับสนุนคณะผู้จัดงาน ซึ่งเป็นนิสิตนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัยในการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการให้คำแนะนำเรื่องการออกแบบกิจกรรมจากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะ รวมถึงสนับสนุนบรรจุภัณฑ์จาก “พลาสติกชีวภาพ” ที่มีฉลาก “GC Compostable”
สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพลาสติกใช้แล้ว ผ่านกระบวนการ Upcycling เช่น เสื้อ และถุงยังชีพ
“เสื้อสตาฟฟ์เชียร์...ถุงผ้าในงานนี้...ก็มาจากขยะพลาสติก เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
อย่างที่พอๆจะรู้กันมาบ้างแล้วว่า กระบวนการอัปไซคลิง (Upcycling) ...เป็นการแปรรูปเป็นเส้นใยรีไซเคิล ก่อนที่จะนำมาถักทอผสมผสานกับเส้นใยเรยอนโพลีเอสเตอร์ (Polyester Rayon), เส้นใยฝ้าย และเส้นใยซิงก์โพลีเอสเตอร์ต้านแบคทีเรีย (Antibacterial Polyester Zinc) ที่ช่วยลดกลิ่นอับเวลาสวมใส่
...เป็นผ้าเนื้อดี เย็นสบาย แต่หากในอากาศเย็นจะมีความอุ่น แห้งเร็ว ไม่ยับง่าย เหมือนอย่างโครงการในวันวานที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว “จีวรรีไซเคิล” สีพระราชนิยมที่ตัดเย็บด้วยฝีมือชาวบ้านชุมชนคุ้งบางกะเจ้า
ย้ำว่า กระบวนการอัปไซคลิง (Upcycling) เพื่อส่งเสริมการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง โดยคาดหวังว่า...นิสิตนักศึกษาจะนำแนวทางการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนในชีวิตประจำวันไปปรับใช้ พร้อมกับสร้างการตระหนักรู้ให้ผู้คนในสังคมใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าต่อไป
น่าสนใจว่า...กิจกรรมที่ทำในงานฟุตบอลประเพณีต้องวัดผลได้ โดยหลังจบงานจะมีการคำนวณ CO2 เทียบเท่า ที่สามารถลดได้จากการจัดงาน
ลงลึกในรายละเอียดปฏิบัติ...ก้าวแรก “จัดการขยะอย่างไรใน Waste This Way”
ดร.คงกระพัน ย้ำว่า แคมเปญ Waste This Way ส่งเสริมให้สังคมใส่ใจกับการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด...“ลด เปลี่ยน แยก” ที่นำมาปรับใช้ในกิจกรรมทุกส่วนของงานฟุตบอลประเพณีครั้งนี้
...
“จิตสำนึกรักดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จะจุดประกายความคิดให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้แนวทางในการจัดการขยะอย่างถูกต้อง อันเป็นก้าวแรกในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา”
“ลด” คือ ลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณการสร้างขยะ...คัดแยกขยะภายในงาน และนำไปคำนวณเพื่อหาปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากงานนี้...คิดเทียบเท่าการปลูกต้นไม้
“เปลี่ยน”...เปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือพลาสติกชีวภาพ โดยนิสิตนักศึกษาบนแสตนด์แปรอักษรจะรับประทานอาหารจากกล่องบรรจุอาหารเคลือบพลาสติกชีวภาพ และใช้ถุงใส่อุปกรณ์ที่อัปไซคลิงจากขยะขวดพลาสติก
“แยก” แยกขยะประเภทต่างๆออกจากกัน โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ขยะเศษอาหาร, ขยะแห้ง, ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก, ขยะทั่วไป และขยะพลาสติกชีวภาพ เพื่อนำไปบริหารจัดการต่อไป
รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ โดยเราจะนำขยะขวดพลาสติกประเภท PET ไปผ่านกระบวนการอัปไซคลิงเป็นรองเท้า...นำไปบริจาคให้กับสถานศึกษาที่ขาดแคลน ไวนิลจากอีเวนต์ก่อนงานมาทำกระเป๋า Upcycling สำหรับมอบให้น้องๆนักเรียนผ่านค่ายอาสาของมหาวิทยาลัย ส่งเสริมให้เกิดการรับรู้คุณค่า
...
อีกทั้งการแยกขยะแบบ “เท ทิ้ง เท ทิ้ง” ผู้ชมซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการรักษ์โลกได้ง่ายๆ ด้วยการแยกขยะ...เทน้ำ...เศษอาหารแยกออกจากขยะรีไซเคิลและขยะทั่วไป เพื่อลดการปนเปื้อน...
เพิ่มความสะดวกในการขนส่งไปจัดการต่ออย่างเหมาะสม ซึ่งบนถังจะมีคำอธิบายการแยกขยะที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้เข้าใจง่าย มองเห็นได้ชัดเจน รวมถึงมีสตาฟฟ์คอยให้คำอธิบายเรื่องการแยกขยะอีกด้วย
ทั้งหมดเหล่านี้มุ่งหวังสร้างพลังของคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิด ที่จะส่งต่อความรู้ ความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เพื่อเผยแพร่สู่สังคมวงกว้าง ก่อให้เกิดมูลค่า...ประโยชน์สูงสุด
มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ต่อเนื่องไปถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมในเรื่องอื่นๆต่อไป
นับรวมไปถึงกิจกรรมภาคพื้นสนาม...ขบวนพาเหรดในงานนี้ก็มีการจัดเตรียมโดยคำนึงถึงหลักการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง เพื่อลดขยะที่จะต้องถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบ โดยวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้หลังจบงานจะมีการคัดแยกเพื่อนำวัสดุที่ยังใช้ได้ มาหมุนเวียนใช้ใหม่ด้วยการ Reuse...ใช้ซ้ำ, Recycle...นำกลับมาใช้ใหม่ และ Upcycle
...
เพื่อให้ทุกวัสดุเกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ ในขั้นเตรียมงานไม้เก่าจากละครเวทีทั้งสองมหาวิทยาลัยจะถูกนำมา Reuse เป็นไม้โครงในขบวนพาเหรด และผ้าดิบที่ใช้ในขบวนพาเหรดจะถูกนำไปผ่านกระบวนการ Upcycling เป็น กระเป๋าผ้า...สำหรับมอบให้น้องๆนักเรียนที่ขาดแคลน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
การจัดการ “ขยะ” ที่ดีที่สุดคือการ “ลดขยะ” ตั้งแต่ต้นทาง Tag : #WasteThisWay #รักษ์โลกให้ถูกทาง #GCCircularLiving #ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก...“สิ่งแวดล้อมที่ดียั่งยืน” เป็นเรื่องที่ “ทุกคน” ต้องร่วมมือกัน
ปัญหา “ฝุ่นพิษ PM 2.5” ก็เช่นกัน รากปัญหาที่อยู่ “ใต้ภูเขาน้ำแข็ง” คือกระบวนทัศน์การพัฒนาของรัฐที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน...เรียกว่าเป็น “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” ที่คนยากจน...คนชายขอบที่ไม่มีอำนาจต่อรอง เลือกไม่ได้...จะต้องเผชิญแบกรับอย่างทุกข์ทน
การคลี่คลายอย่างยั่งยืน...ต้องเริ่มด้วยความเข้าใจสำคัญที่ว่า “มนุษย์ทุกคนต่างอยากใช้ชีวิต หายใจรับอากาศสะอาด”...อยู่ในอากาศเดียวกัน โดยปราศจากความเหลื่อมล้ำใดๆทั้งสิ้น.