มีงานสำคัญงานหนึ่งที่ผมจะอุทิศเนื้อที่อย่างน้อยหนึ่งคอลัมน์เต็มๆ เขียนให้บ่อยครั้ง ในช่วงหลังๆนี้ได้แก่งาน “วันนักประดิษฐ์” ซึ่งจะตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกๆปี ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติไว้

เหตุที่ใช้วันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็น “วันนักประดิษฐ์” สำหรับประเทศไทย ก็เพราะเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2536 ได้มีการจดทะเบียนทูลเกล้าฯถวายสิทธิบัตร “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงประดิษฐ์กังหันน้ำดังกล่าว จนเป็นต้นแบบที่นำไปผลิตเครื่องกลที่ใช้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในสระหรือคูคลองต่างๆนับแต่นั้น

นับเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของประเทศไทย และเป็นครั้งแรกของโลกด้วย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ทุกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวัน “นักประดิษฐ์” และมอบหมายให้สำนักงานวิจัยแห่งชาติ จัดงานขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

และเพื่อเผยแพร่ผลงานด้านประดิษฐ์คิดค้น ตลอดจนงานวิจัยต่างๆของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ให้ประชาชนได้รับทราบนับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา

สำหรับปีนี้สำนักงานวิจัยแห่งชาติก็ได้จัดขึ้นเป็นงานใหญ่อีกครั้ง โดยใช้อีเวนต์ฮอลล์ 102-104 ของ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ (วันนี้) เป็นวันสุดท้าย

น่าเสียดายที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ส่งข่าวมาให้ผมล่าช้ามาก กว่าเอกสารข้อมูลจะมาถึงโต๊ะผมก็วันที่ 4 กุมภาพันธ์ งานจะเลิกอยู่แล้ว และเมื่อหยิบมาเขียนให้ก็จะลงได้เพียงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานเข้าไปแล้ว

...

แต่ก็เอาเถอะครับ อย่างน้อยก็ยังทัน 2 วัน เพราะหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมีกรอบล่วงหน้าด้วย ท่านที่อ่านคอลัมน์ผมทั้งฉบับล่วงหน้าและฉบับประจำวันรีบกระโดดขึ้น บีทีเอส ไปสถานีบางนาแวะเข้าชมงานเลยก็ยังทันครับ

ภายในงานจะมีการแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจหลายอย่าง อาทิ สิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สิ่งประดิษฐ์จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อุปกรณ์ทางการแพทย์ นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน, การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ, การเสวนา, กิจกรรมบนเวที, นิทรรศการต่างๆ,ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์รางวัลดีเด่นประจำปี 2563 ฯลฯ เป็นต้น

ทราบว่าในวันแรกๆของงานได้มีการมอบรางวัลให้แก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ดีเด่นไปแล้ว ผมอ่านรายชื่อผลงานแล้วชอบใจหลายหัวข้อ เกิดความคาดหวังว่าจะนำไปต่อยอดไปพัฒนาเป็นผลผลิตต่างๆ นำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยไม่กลายเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง หรือประดับห้องสมุดเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ขอแสดงความยินดีย้อนหลังแก่นักวิจัยดีเด่นและนักประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลทุกๆท่านด้วยนะครับ

ผมเคยเขียนไว้แล้วว่าประเทศไทยเราจะเอาตัวรอดได้หรือจะแข่งขันกับคนอื่นเขาได้เราจะต้องทุ่มเททางด้านงานวิจัย และการพัฒนาตลอดจนการประดิษฐ์คิดค้นต่างๆให้มากกว่านี้

เคยตำหนิรัฐบาลไทยในอดีตที่จัดงบประมาณวิจัยน้อยไป คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อ GDP แล้วต่ำมาก ผ่านคอลัมน์นี้ก็หลายครั้ง

ผมไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้จะดีขึ้นหรือยังเพราะไม่มีเวลาไปตรวจสอบด้วยตนเอง...หวังว่าคงจะดีขึ้นนะครับ ท่านนายกฯบิ๊กตู่ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาตลอด

ผมขอยํ้าอีกครั้งว่านักประดิษฐ์และนักวิจัยในทุกเรื่องมีความสำคัญแก่ประเทศไทยของเราอย่างมาก แต่ก็ทราบดีว่างานวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นเป็นงานที่ยากเย็นแสนเข็ญ กว่าจะเกิดผลสำเร็จแต่ละชิ้นต้องใช้ทั้งเงินทั้งสมองและเวลา ตลอดจนความอดทนอย่างสูงยิ่ง

จึงขอให้กำลังใจแก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งขอเชิญชวนท่านผู้อ่านไปเที่ยวงาน วันนักประดิษฐ์ 2563 ในวันนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

โดยเฉพาะน้องๆ เยาวชนยกโรงเรียนไปเลยนะครับ เผื่อจะเกิดแรงบันดาลใจหันมาสนใจงานวิจัยและงานประดิษฐ์คิดค้นมากขึ้นเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยของเราต่อไป.

“ซูม”