สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประเด็นที่เชื่อว่าหลายท่านกำลังเผชิญปัญหานี้ เกี่ยวกับเรื่องของเจ้าหนี้รายหนึ่ง ไปทวงหนี้กับลูกหนี้ ย่านอาร์ซีเอ ซึ่งลูกหนี้รายนี้เป็นนางแบบ และมีชื่อเสียงในวงการบันเทิง แต่เมื่อไปถึงกลับมีปากเสียงกัน และเพื่อนของเจ้าหนี้จึงได้อัดคลิปไว้เป็นหลักฐาน ต่อมามีการเผยแพร่คลิปดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์นางแบบในสื่อสังคมออนไลน์

ในส่วนของเจ้าหนี้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนางแบบรายดังกล่าว โดยอ้างว่านางแบบได้เดินเข้ามาพยายามจะทำร้าย ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน ซึ่งนางแบบจะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร อยู่ที่พยานหลักฐาน รวมถึงพฤติการณ์ที่แสดงออกขณะเกิดเหตุ

ปัญหาที่ตามมา คือ เมื่อมีการโพสต์ภาพ ข้อความ หรือภาพเคลื่อนไหว อันมีลักษณะทำให้ลูกหนี้เสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ลูกหนี้มักจะดำเนินการคดีกับเจ้าหนี้หลายข้อหา เรียกว่า ลูกหนี้มักจะจัดชุดใหญ่ไฟกะพริบไว้ก่อน ยิ่งสร้างความทุกข์ใจให้กับเจ้าหนี้เป็นอย่างมาก เงินก็ไม่ได้คืน แถมจะถูกดำเนินคดีอาญาอีกต่างหาก

เรื่องนี้มีประเด็นน่าสนใจหลายเรื่องครับ

การโพสต์ข้อความ ภาพ หรือคลิป ทวงหนี้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แม้จะเป็นเรื่องจริงก็ทำให้ผู้อื่นเสียหาย จึงเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท แม้เจ้าหนี้จะได้ลบข้อความ ภาพ หรือคลิป ไปแล้วก็ตาม กรณีนี้ถือว่า ความผิดสำเร็จตั้งแต่ได้โพสต์ข้อความลงสื่อสังคมออนไลน์แล้ว ดังนั้นการลบโพสต์จึงไม่สามารถลบล้างความผิดที่ได้ลงมือกระทำไปแล้ว แต่อาจจะเป็นเหตุบรรเทาโทษ ทำให้ศาลลงโทษสถานเบาเท่านั้น

...

  • การโพสต์ข้อความทวงหนี้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีการแก้ไขกฎหมายใหม่แล้ว โดยมาตรา 14 (1) แก้ไขเพิ่มเติมระบุชัดเจนว่าความผิด “อันมิใช่การกระทำความผิดหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

  • การโพสต์ทวงถามหนี้ในลักษณะประจานลูกหนี้ หรือทำให้ลูกหนี้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หากเจ้าหนี้มิได้มีอาชีพปล่อยเงินกู้เป็นปกติธุระ ก็ไม่มีความผิด ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ เนื่องจากไม่ใช่ “ผู้ให้สินเชื่อ” และ “ผู้ทวงถามหนี้” ตามคำนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้

  • การใช้สิทธิตามกฎหมายจึงเป็นทางออกสุดท้ายของเจ้าหนี้ ไม่ต้องเสี่ยงกับคดีอาญาด้วย และถ้าจะดีที่สุด คือ ไม่ต้องให้ใครยืมเงินเลยครับ

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมล์มาหาผมที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ หรือ Facebook: ทนายเจมส์ LK
หรือ Instagram : james.lk