ป้อมลงพื้นที่แล้ง
วิกฤติฝุ่นจิ๋วมีพื้นที่สีแดงที่ลำปางและแพร่ เร่งฉีดละอองน้ำลดฝุ่น ส่วนตำรวจ บช.น.เตรียมมาตรการเข้มลดฝุ่นในเมืองกรุง ตั้งจุดตรวจวัดรถควันดำ 33 จุดรอบพื้นที่ ภาคอีสานเกิดพายุลูกเห็บถล่มหลังคาเป็นรูโหว่ เสาไฟฟ้าล้มระเนระนาด นอกจากนี้ ภัยแล้งส่งผลกระทบหลายพื้นที่ “ประวิตร” ลงพื้นที่ตรวจเชียงใหม่ สั่งแก้ปัญหาเร่งด่วน ขณะที่กรมชลฯ เพิ่มระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาผลักดันน้ำทะเลหนุนสูง
วิกฤติฝุ่นละอองส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายพื้นที่ โดยเมื่อวันที่ 25 ม.ค. นายปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย เปิดเผยว่า จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.นาอาน อ.เมืองเลย พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) มีค่าเท่ากับ 62 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ขอให้ประชาชนควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน และออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ที่ จ.แพร่ ตรวจพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐาน มีจุดความร้อนมากถึง 149 จุด ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ อ.สอง และอ.ลอง ทำให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ PM 2.5 วัดได้ 121 มคก./ลบ.ม.และ PM 10 มีปริมาณ 143 มคก./ลบ.ม. เจ้าหน้าที่ ปภ.แพร่ นำรถน้ำฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่กำแพงเมือง และสวนสาธารณะ
ด้าน พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร.และโฆษก ตร.กล่าวว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด บช.น. เพื่อร่วมกำหนดมาตรการในการป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ในเขตกรุงเทพฯ เนื่องจากปริมาณ PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มากกว่า 72.5 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุมาจากการขนส่งทางถนน บช.น.กวดขันตั้งจุดตรวจวัดควันดำรถยนต์ที่เกินมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมามีผลการจับกุม 341,760 คดี มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 8,027 คดี คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ และเฉพาะในเดือน ม.ค.2563 ถึงปัจจุบัน จับกุมดำเนินคดีแล้วจำนวน 8,284 คดี มากกว่าเดือน ธ.ค.2562 มีผลการจับกุม 7,880 คดี
...
ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งเกาะพญาไท แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. พล.ต.ต.สำเริง สวนทอง ผบก.น.1 และ พ.ต.อ.บวรภพ สุนทรเรขา ผกก.สน.พญาไท นำข้าราชการตำรวจ ร่วมแจกหน้ากากกันฝุ่น PM 2.5 พร้อมติดตั้งเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษ และฝุ่นละอองจิ๋วจำนวน 4 ตัว มาทดลองใช้เป็นเวลา 15 วัน
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า มอบแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นมลภาวะ 2 ข้อ คือ 1.การบังคับใช้กฎหมาย สั่งตั้งจุดตรวจวัดควันรถยนต์รวม 33 จุด รอบพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00น. และการรณรงค์ให้ประชาชนรับรู้ปัญหาร่วมกัน จัดบริการตรวจสอบรถยนต์และรถ จยย.ทุกชนิด พร้อมตั้งจุดบริการตรวจวัดควันฟรี 3 จุด และมอบหมายให้กองกำลังอารักขาและควบคุมฝูงชน (อคฝ.) นำรถฉีดน้ำแรงดันสูง 4 คัน ระดมฉีดน้ำตามสถานที่ที่มีมลภาวะฝุ่นละอองสูงในเวลา 04.00-05.00 น. และ 14.00-15.00 น. เพื่อไม่ให้กระทบการจราจร และเนื่องในวันตรุษจีน ตำรวจห่วงใยสุขภาพประชาชน นำหน้ากากอนามัยมาแจกจ่ายรอบบริเวณอนุสาวรีย์ฯ
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ตรวจวัดค่าได้ 14-46 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม) ปริมาณฝุ่นละอองลดลงจากช่วงเช้าวันที่ 24 ม.ค. และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ เนื่องจากการจราจรคล่องตัว ประกอบกับมีลมแรงความเร็วสูงสุด 20.4 กม./ชม. ทำให้ฝุ่นกระจายตัวได้ดีและมีปริมาณลดลง อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ พบเกินมาตรฐานในระดับวิกฤติสีแดง 3 พื้นที่ ได้แก่ ต.นาจักร อ.เมืองแพร่ 117 มคก./ลบ.ม. ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 109 มคก./ลบ.ม. ต.พระบาท อ.แม่เมาะ 97 มคก./ลบ.ม. และเกินมาตรฐานระดับสีส้ม 4 พื้นที่
กรุงเทพโพล ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “วิกฤตการณ์ฝุ่นเกินค่า...ต้องฝ่าไปด้วยกัน” เก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,180 คน เมื่อวันที่ 21-23 ม.ค.พบว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในประเทศไทย ขณะนี้ประชาชนร้อยละ 33.5 ระบุว่าได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ ร้อยละ 33.3 ระบุว่ามีอาการไอ จาม มีน้ำมูก รองลงมาร้อยละ 32.4 ระบุว่ามีอาการหายใจไม่สะดวก หายใจได้ไม่เต็มปอด และร้อยละ 18.2 ระบุว่ามีอาการแสบตา ตาอักเสบ ตาแดง ส่วนความเห็นที่มีต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าควรมีมาตรการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในช่วงเร่งด่วนนี้อย่างไร ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.6 ระบุว่า ควรงดปล่อยควันจากโรงงาน การเผา รถควันดำในช่วงนี้อย่างจริงจัง รองลงมาร้อยละ 54.1 ระบุว่าควรแจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายกระจายทุกพื้นที่ และร้อยละ 53.6 ระบุว่า ควรตั้งหน่วยเฉพาะกิจมาบริหารจัดการ แก้ปัญหาฝุ่นอย่างเร่งด่วน และมีอำนาจสั่งการจริงจัง
...
ขณะเดียวกัน จากสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้เกิดพายุลูกเห็บและฝนตกหนักนานกว่า 1 ชั่วโมง ในพื้นที่บ้านศรีเวินชัย และบ้านสามผง ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม บ้านเรือนได้รับความเสียหายกว่า 60 หลัง ต้นไม้ขนาดใหญ่ หักโค่นทับเสาไฟฟ้าหลายจุด เช่นเดียวกับที่วิทยาลัยการอาชีพคำม่วง อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เกิดฝนถล่มและมีลูกเห็บตก ทำให้หลังคาทะลุเป็นรูโหว่และรถยนต์ได้รับความเสียหาย ส่วนที่ จ.อุดรธานี เกิดพายุฝนตกหนักที่ อ.โนนสะอาด และ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เสาไฟฟ้าโค่น 35 ต้น ทำให้ไฟดับ เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเร่งดำเนินการแก้ไข
นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งชาวบ้านยังเดือดร้อนหลายพื้นที่ เมื่อเวลา 09.45 น. วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นำคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่วัดสีมาราม ต.สันกลาง อ.สันกลาง จ.เชียงใหม่ พร้อมฟังบรรยายสรุปแนวทางแก้ปัญหาในภาพรวมจากสำนักงานชลประทานที่ 1 และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล และการขุดลอกสันดอนในลำน้ำปิง บริเวณพื้นที่ ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ สนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภค การผลิตน้ำประปา และเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำให้ฝายต่างๆ รองรับพื้นที่กว่า 23,000 ไร่ ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรกำชับหัวหน้าส่วนราชการต้องถือเป็นหน้าที่สำคัญ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาภัยแล้งต่อเนื่อง และให้แก้ปัญหาเร่งด่วน พร้อมย้ำให้บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องไม่ให้ทุกหมู่บ้านประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค และขอให้มีแผนสำรองน้ำเพื่อการประปาในเขตเมือง จากนั้น พล.อ.ประวิตรเดินทางไปร่วมส่งมอบบ่อบาดาล ที่หน่วยบัญชาการทหารพัฒนากำลังเร่งขุดเจาะตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลจำนวน 57 บ่อ ให้ประชาชนในชุมชน 15 อำเภอ
...
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่ ติดตามการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้งที่สถานีสูบน้ำดิบแม่น้ำสงคราม บ้านดอนหญ้านาง หมู่ 1 ต.ดอนหญ้านาง อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ พร้อมเปิดเผยว่า การประปาส่วนภูมิภาคบึงกาฬ เตรียมความพร้อม และการวางแผนบริหารจัดการน้ำ เตรียมแหล่งน้ำสำรองเอาไว้แล้ว ขอให้มั่นใจประชาชนในพื้นที่ จะไม่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้งนี้
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำ จ.เชียงใหม่ ขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำใช้การในอ่างฯ คิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์ และอ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล ปริมาณน้ำใช้การ 24 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง 2 อ่างฯ จัดสรรน้ำตามแผน ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสนับสนุน เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้
นายประยูร อรัญรุท นายอำเภอวังสะพุง จ.เลย พร้อมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และจิตอาสาร่วม 100 คน วางกระสอบทรายทำฝายชะลอน้ำที่แม่น้ำเลย ต.ทราย–ขาว อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อกักเก็บน้ำนำไปผลิตเป็นน้ำประปาในการอุปโภคบริโภคในหมู่บ้าน แทนระบบประปาเดิมที่น้ำเริ่มหมดแล้ว มีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 3 หมู่บ้าน ประมาณ 1,200 ครัวเรือน
ขณะที่นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า วันที่ 25 ม.ค.น้ำทะเลหนุนสูงสุดอีกครั้งของเดือน ม.ค. แต่ระดับน้ำทะเลจะไม่สูงเท่าช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เตรียมป้องกันและเฝ้าระวังค่าความเค็มของน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาจาก 75 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 90 ลบ.ม.ต่อวินาที สิ้นสุดเวลา 06.00 น. วันที่ 26 ม.ค.จากนั้นจะลดการระบายลงเหลือ 80 ลบ.ม.ต่อวินาที ไปจนถึงเวลา 06.00 น. วันที่ 28 ม.ค. ก่อนที่จะลดการระบายลงเหลือ 75 ลบ.ม.ต่อวินาทีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้
...