ปภ.กำหนดเขต! ช่วยแค่ 14 จังหวัด ‘มะขามเฒ่า’ แห้ง เตือนโรคระบาด บิ๊กตู่ชักชวนคน แปรงฟัน-ปิดนํ้า

รัฐบาลประกาศชัดให้วิกฤติน้ำเป็นวาระแห่งชาติพร้อมอนุมัติงบกลาง 3 พันกว่าล้านบาท ใช้บรรเทาภัยแล้ง “บิ๊กป้อม” สั่งลุยเจาะบ่อบาดาลทันที ขณะที่นายกฯขอเป็นต้นแบบประหยัดน้ำ ชวนปิดก๊อกน้ำตอนแปรงฟัน ด้าน ปภ.ประกาศพื้นที่ภัยแล้งแค่ 14 จว. เร่งจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่าย โดยหลายหน่วยงานต่างเร่งหาน้ำจืดพร้อมไปกับการแก้น้ำทะเลรุกคืบ และเตือนให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยให้ดี ขณะที่ภาคใต้ก็เริ่มขาดน้ำ ข้าวยืนต้นตายหลายพื้นที่

ความคืบหน้าของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในการระดมแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนค่อนประเทศจากสภาวะขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรและใช้ในการอุปโภคบริโภค รวมถึงปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้น้ำมีค่าความเค็มเกินมาตรฐาน กระทบต่อการทำน้ำประปาและภาคการเกษตรนั้น

ประกาศเรื่องน้ำเป็นวาระแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 7 ม.ค.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ประกาศเรื่องน้ำเป็นวาระแห่งชาติ โดย ครม.เห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอกำหนดโครงสร้างตามระดับสาธารณภัยด้านน้ำที่เกิดขึ้น 3 ระดับ คือ 1.ภาวะสถานการณ์มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 10 2.ภาวะรุนแรง (หรือคาดว่าจะรุนแรง) และมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้นในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 30 และ 3.ภาวะวิกฤติ (หรือคาดว่าจะเกิดวิกฤติ) มีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้นในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 60 นอกจากนี้ในที่ประชุม พล.อ.ประวิตรรายงานสถานการณ์น้ำให้ ครม.รับทราบพร้อมระบุว่าสถานการณ์น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ปลูกข้าวนาปี และขณะนี้มีน้ำเค็มรุกเข้ามาแม่เจ้าพระยา ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแผนมาตรการการจัดการน้ำ การกระจายน้ำ และมาตรการรณรงค์ประหยัดน้ำอย่างเคร่งครัด สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย และงดปลูกพืชตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ พร้อมเร่งรัดการขุดบ่อและขุดลอกพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ ได้เน้นย้ำเรื่องการกักเก็บน้ำตามโครงการแก้มลิงเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายในปี 2563 ด้วย โดยนายกฯได้กล่าวเสริมว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างยิ่ง และนายกฯ ถือว่าเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

...

ครม.ไฟเขียว 3 พันล้านบรรเทาภัยแล้ง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขออนุมัติงบกลาง 3,079,472,482 บาท เป็นงบกลางในปี 2562 โดยจะใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งแบ่งใช้ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 57 จังหวัด รวม 2,011 โครงการ ของ 5 หน่วยงาน คือ การประปา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองทัพบก กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตร โดยโครงการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายใน 120 วัน เนื่องจากเป็นแผนการเร่งด่วน ทั้งนี้ โครงการที่จะนำเสนอ เป็นโครงการขุดเจาะบ่อบาดาล การวางท่อส่งน้ำ การก่อสร้างโรงสูบน้ำ และการติดตั้งท่อส่งน้ำดิบ การดูแลโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวแบ่งเป็น การขุดเจาะบ่อบาดาล 1,100 แห่ง การจัดหาแหล่งผิวน้ำดิบ 230 โครงการ และการซ่อมแซมระบบน้ำประปา 654 โครงการ เป็นต้น

“ประวิตร” สั่งลุยเจาะบาดาลทันที

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำว่า นายกฯ มอบหมายให้ตนเตรียมการแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเตรียมการทั้งหาน้ำใต้ดินและบนดินไว้แล้ว โดยเฉพาะการขุดบ่อน้ำบาดาลเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านทั่วประเทศจำนวน 500 กว่าบ่อ มีการอนุมัติงบกลางประมาณ 3,079 ล้านบาท และจะดำเนินการทันทีในวันที่ 8 ม.ค.โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งกระทรวงมหาดไทย ทหาร และกรมทรัพยากรน้ำ

เล็งให้ รง.ปันน้ำทิ้งช่วยพื้นที่เกษตร

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่าได้รับการรายงานจาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)ว่าผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งของปีนี้ตามที่หลายฝ่ายกังวล เนื่องจากมีกระบวนการนำน้ำเสียกลับมาใช้ในการผลิตอีกครั้ง ขณะนี้จึงไม่มีมาตรการลดการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมแต่อย่างใด แต่หากมีผู้ประกอบการรายใดที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบ น้ำไม่เพียงพอ กรอ.จะออกมาตรการช่วยเหลือทันที นอกจากนี้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรรอบพื้นที่ตั้งกิจการ ในเดือน ม.ค.นี้ กรอ.เตรียมออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขโรงงานที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ว่ามีจำนวนเท่าใดและในพื้นที่ใดเป็นต้น

นายกฯ ชวนปิดก๊อกน้ำตอนแปรงฟัน

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้กล่าวก่อนการประชุม ครม.ว่า ขอให้กระทรวงมหาดไทย เร่งชี้แจงทำความเข้าใจถึงปัญหาภัยแล้งและสถานการณ์น้ำประปาว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามแก้ไขปัญหา เนื่องจากขณะนี้ประชาชนไม่เข้าใจว่าทำไมน้ำประปาจึงมีรสกร่อย การทำการเกษตรที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำ รวมถึงขอความร่วมมือช่วงที่การแก้ไขน้ำประปารสกร่อย ประชาชนอาจใช้วิธีการต้มไปก่อนและขอร้องให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ ใช้น้ำให้น้อยลง ระหว่างการปฏิบัติภารกิจ เช่น แปรงฟัน ปิดก๊อกน้ำก่อน เพราะแค่ประหยัดน้ำคนละ 1 นาทีต่อวันต่อคน ประหยัดได้ถึง 9 ลิตร หากคำนวณจากประชาชนใน กทม.10 ล้านคน สามารถประหยัดน้ำได้ถึง 100 ล้านลิตร ซึ่งช่วยประหยัดน้ำแล้วยังลดต้นทุนผลิตน้ำประปาด้วย

จากนั้นนายกฯได้เป็นต้นแบบ ปิดก๊อกน้ำ ประปาที่ไม่ใช้ และรับมอบแก้วเพื่อช่วยลดโลกร้อน โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นการใช้ภาชนะต่างๆ อย่างตนมีกระบอกน้ำของตัวเอง ช่วยกันประหยัดลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังรักษาความสะอาดลดการใช้พลาสติกไปในตัว หากช่วยกันแบบนี้ แล้งนี้คนไทยต้องรอด

...

บุกศาลากลางทวงเงินภัยแล้ง

สำหรับความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ลุกลามไปทั่วประเทศขณะนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อบ่ายวันเดียวกัน ชาวนากว่า 200 คน จาก 3 อำเภอใน จ.ขอนแก่น เดินทางมารวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัด เรียกร้องเงินเยียวยาภัยแล้งปี 2562 จากรัฐบาล ผ่านทางจังหวัดโดยมีนายสุเทพ มณีโชติ รอง ผวจ.และเกษตรจังหวัดขอนแก่น มารับเรื่อง นายสวาท อุปฮาด อายุ 60 ปี ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า จังหวัดประกาศให้ 19 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบภัยฝนทิ้งช่วง ฝนแล้ง แต่ในพื้นที่ 3 ตำบล ใน 3 อำเภอนั้น มีการสำรวจตามแบบ กษ.01 เรียบร้อยแล้ว แต่มีการยกเลิก โดยแบ่งเกษตรกรทำนาออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เก็บเกี่ยวได้บ้าง และกลุ่มที่ข้าวตาย ไม่ได้ผลผลิตเลย เจ้าหน้าที่มีการลงพื้นที่สำรวจแล้ว แต่ไม่นานก็มีพายุโพดุลพัดถล่ม จึงมีการยกเลิกประกาศ ชาวบ้านประสานงานไปที่อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไข กลับไม่ได้รับการเหลียวแล จึงเดินทางมาทวงถามดังกล่าว

ชลประทานอีสานจัดสำรองน้ำ

ส่วนสำรองน้ำในพื้นที่ชลประทานนั้น ที่ จ.บึงกาฬ มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.โซ่พิสัย อ.ปากคาด อ.พรเจริญ และ อ.เมืองบึงกาฬ รวมทั้งสิ้น 238 หมู่บ้าน โดยนายประชา เกษลี ผอ.โครงการชลประทานบึงกาฬ กล่าวว่า ในพื้นที่รับผิดชอบมีอ่างเก็บน้ำอยู่ 53 แห่ง มีปริมาณน้ำเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 75 ถือว่าค่อนข้างดี คาดว่าน้ำจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝน ขณะที่นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผอ.สนง.ชลประทานที่ 6 ขอนแก่น เผยว่า กรมชลฯ มีเป้าหมายลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ระบายลงลำน้ำพอง ผ่านฝายหนองหวายไหลลงแม่น้ำชี ผ่านเขื่อนมหาสารคาม เป็นแหล่งน้ำต้นทุนส่งไปสนับสนุนการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ อ.เมืองมหาสารคาม ประมาณวันละ 50,000 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยวันละ 1-2 ซม.ขณะที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ จะระบายน้ำลงลำปาว ลงแม่น้ำชี เหนือเขื่อนร้อยเอ็ด พร้อมกับควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ให้อยู่ที่ระดับ +131 ม.รทก. (เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพื่อให้ระดับน้ำบริเวณหน้าเขื่อนวังยางอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

...

ขุดลอกคลองส่งน้ำ “หนองงูเห่า”

ขณะที่นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม นำเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบความพร้อมการดำเนินโครงการขุดลอกคลองส่งน้ำหนองงูเห่า บ้านบะหว้า ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า เนื่องจากเดิมเป็นพื้นที่การเกษตรกว่า 1,200 ไร่ แต่ช่วงฤดูแล้งทำการเกษตรไม่ได้ ทางจังหวัดประสานงาน กับ อ.นาหว้า เสนอของบประมาณ 3.8 แสนบาท นำมาพัฒนาขุดลอกหนองงูเห่า รับน้ำมาจากลำน้ำอูน เพื่อระบายน้ำลงคลองส่งน้ำหนองงูเห่า ไปยังพื้นที่การเกษตร สามารถทำนาปรังได้ในฤดูแล้งหลังดำเนิน การแล้วเสร็จ

ชาวเมืองน้ำดำแห่เจาะบาดาล

ขณะที่ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำต่างขวนขวายหาน้ำใช้กันทุกทาง โดยนายไพรินทร์ มาดสอาด อยู่บ้านเลขที่ 62 หมู่ 7 บ้านโนนขี้ตุ่น ต.หลักเหลี่ยม อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ช่วงหน้าแล้งระบบน้ำประปาภายในหมู่บ้านมีปัญหาน้ำไม่ไหล หรือไหลช้า แทบไม่มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการในครัวเรือน ต้องลงทุนจ้างช่างเจาะบาดาลนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ โดยค่าจ้างรวมปั๊มตกประมาณ 1 หมื่นบาท หากมีน้ำขึ้นมาใช้ถือว่าคุ้ม เพราะหากรอระบบน้ำประปา มีไม่เพียงพอแน่นอน เกือบทุกหลังคาเรือนแห่ขุดเจาะบาดาลกันหมดแล้ว บางครอบครัวที่เป็นเครือญาติกันก็ขุด 1 บ่อ แบ่งกันใช้น้ำและช่วยกันหารค่าไฟถือเป็นการลดต้นทุน

...

ครูเดินป่าหาน้ำให้นักเรียนใช้

ด้านนายสายันห์ ขิใสยา หรือครูตู่ ครูประจำชั้น ม.3 ร.ร.ห้วยหาน เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ที่โพสต์ข้อความพร้อมภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัว ขณะแต่งชุดข้าราชการครูเดินป่าหาแหล่งน้ำให้นักเรียนและครูใช้ในห้องน้ำ หลังประสบภัยแล้งอย่างหนักเปิดเผยว่า โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงใกล้จุดชมวิวภูชี้ฟ้า ภูชี้ดาว ทางฝั่งพื้นที่ อ.เวียงแก่น นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง วันที่เข้าป่าเป็นวันเปิดเรียนวันแรกหลังหยุดเทศกาลปีใหม่ ปกตินักเรียนทุกคนจะมีหน้าที่ รับผิดชอบ เตรียมความพร้อมห้องเรียน ห้องอาหาร ห้องน้ำ ต้องมีความสะอาดเรียบร้อย แต่วันดังกล่าวก่อนเคารพธงชาติ มีกลุ่มนักเรียนวิ่งมาหา พร้อมแจ้งปัญหาให้ทราบ ปกติโรงเรียนใช้น้ำประปาภูเขาที่ต่อมาจากต้นน้ำบนเชิงเขาที่สูงใกล้เคียง เป็นต้นน้ำไหลลงสู่พื้นล่าง ลงสู่แม่น้ำโขง ใช้มาหลายสิบปีไม่มีเคยปัญหา แต่ปีนี้ระดับน้ำมีน้อยกว่าทุกปีเนื่องจากมีฝนตกน้อย และมีความแห้งแล้งต่อเนื่อง ทำให้น้ำไม่พอใช้ ทางผู้บริหารโรงเรียนจึงมอบหมายให้ครูและภารโรงขึ้นไปช่วยแก้ไขปัญหา ย้ายจุดแหล่งน้ำประปา แก้ปัญหาน้ำไม่พอใช้ และแจ้งให้นักเรียนร่วมกันตระหนักการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า

ภัยแล้งลาม “อุตรดิตถ์-นครสวรรค์”

นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผวจ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งของจังหวัดขณะนี้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่เข้าข่ายแล้งรุนแรง ขณะนี้มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้งแล้ว 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ตรอน อ.ท่าปลา อ.น้ำปาด อ.บ้านโคก อ.พิชัย อ.ฟากท่า และ อ.เมืองอุตรดิตถ์ เนื่องจากแหล่งกักเก็บน้ำที่มีอยู่เกือบทั้งหมดมีระดับปริมาณน้ำเหลืออยู่ไม่มาก พร้อมประกาศเตือนให้เกษตรกรหันมาประหยัดน้ำ น้ำที่มีอยู่ให้ใช้เพื่อการอุปโภคเป็นหลักก่อน ขอฝากไปถึงประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้มีน้ำพอเพียงในช่วงหน้าแล้งด้วย เช่นเดียวกับที่ อบต.ท่าไม้ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ประกาศให้ชาวบ้านงดใช้น้ำในแม่น้ำยมไปทำการเกษตร เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคเท่านั้น หลังแม่น้ำยมที่ไหลผ่านพื้นที่แห้งขอด อีกทั้งยังมีแนวโน้มรุนแรงยาวนาน รวมถึงขอให้ชาวบ้านในพื้นที่ใช้น้ำกันอย่างประหยัด เนื่องจากหากน้ำในแม่น้ำยมหมดลงไป ก็จะไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนอื่นอีกเลย

สตูล-สงขลาครวญแล้งข้าวลีบ

ในส่วนภาคใต้ ก็เจอความแห้งแล้งเช่นกัน โดยนายมอฮำหมัดกอรี หลังเกตุ ชาวบ้านหมู่ 7 ต.ย่านซื่อ อ.ควนโดน จ.สตูล เปิดเผยปลูกข้าวไว้ 1.5 ไร่ ทุกปีจะได้ข้าวไร่ละ 25 กระสอบ แต่ปีนี้ได้ข้าวไม่ถึง 5 กระสอบ เพราะฝนทิ้งช่วงเร็ว ข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์อัลฮัมดุลิลลาห์ เป็นข้าวหนัก 5 เดือน ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงข้าวกำลังตั้งท้อง ปกติจะเก็บเกี่ยวราวเดือน ก.พ.แต่ปีนี้เก็บเกี่ยวก่อนทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามเป้า ข้าวเมล็ดลีบ รวงซีดขาว รวมถึงพื้นที่ห่างจากริมคลองที่ปลูกข้าวหนัก ก็ล้วนประสบปัญหาข้าวลีบแบบไม่มีเมล็ดเหมือนกันหมด ปีนี้ถือว่าขาดทุนหนัก เช่นเดียวกับที่ อ.สทิงพระ อ.ระโนด อ.สิงหนคร และ อ.กระแสสินธุ์ ที่ฝนทิ้งช่วงนาน ทำเอาชาวนาได้รับความเดือดร้อนหนัก โดยนางสมคิด หิรัญกูล อยู่บ้านเลขที่ 2/3 หมู่ 3 ต.คลองรี อ.สทิงพระ กล่าวว่า ตนทำนากว่า 15 ไร่ตอนนี้ข้าวกำลังออกรวง ถ้าอีกไม่เกินเดือนยังหาน้ำมาเติมในนาข้าวไม่ได้เสียหายแน่ ตอนนี้ชาวนารอน้ำฝนอย่างเดียวแต่ฝนไม่ตกหลายเดือนแล้ว น้ำจากคลองอาทิตย์นำมาใช้ไม่ได้เพราะระยะทางไกล 2 กม. ตนและชาวบ้านที่เหลือต้องทำใจขาดทุนยับแน่ ลงทุนประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ ทั้งค่าไถ่ ค่าปลูก ค่าปุ๋ย ยังไม่รวมค่าแรงอีก ปีนี้แล้งหนักในรอบสิบปี

แล้งคันบ่อกุ้งก้ามกรามพังถล่ม

ส่วนที่ จ.ฉะเชิงเทรา นายปิยะพงษ์ ปิติจะ ปลัดอำเภอบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา นายพิทยา ฤากิจ หน.ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 (ท่าถั่ว) ลงพื้นที่ตรวจสอบถนนเลียบคลองประเวศบุรีรมย์ บริเวณบ่อกุ้งของนายเสนอ ป้อมนาค อายุ 69 ปี หมู่ 1 ต.คลองประเวศ เกิดดินถนนและคันบ่อกุ้งสไลด์ลงคลองเป็นทางยาว 100 เมตร ลึก 7 เมตร รถไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ทำให้กุ้งก้ามกรามของนายเสนอที่เลี้ยงในบ่อ 10 ไร่ ไหลออกจากบ่อลงคลองทั้งหมดทำเอาขาดทุนหนัก จึงประสานกรมประมงเข้าให้การช่วยเหลือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ่อกุ้ง และเตรียมประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เนื่องจากตอนนี้น้ำแห้งใกล้หมดคลองแล้ว พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางป้องกัน ทั้งนี้ นายพิทยา เผยว่า น้ำในแม่น้ำบางปะกงตอนนี้มีน้ำทะเลหนุนสูงไม่สามารถปล่อยน้ำเข้าสู่คลองประเวศบุรีรมย์ได้ จะเตรียมแผนป้องกันรับมือกับการสไลด์ของตลิ่งในพื้นที่ใกล้กับคลอง โดยชาวบ้านที่เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ตอนนี้มีความเสี่ยงหมด เนื่องจากน้ำในคลองไม่มี ทำให้ตลิ่งพังลงคลองได้ตลอดเวลา

คลองมะขามเฒ่าแห้งสนิท

ขณะที่คลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท ที่เชื่อมจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่งน้ำไปยัง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี พบว่าขณะนี้สภาพที่แห้งขอด เหลือเพียงดินโคลนติดก้นคลองและมีน้ำเหลือเป็นแอ่งเล็กๆประปรายเท่านั้น จากสภาพดังกล่าวทำให้สัตว์น้ำที่อยู่ในคลองแห่งนี้แห้งตายเกลื่อน จนเป็นแหล่งหาอาหารชั้นดีของนก โดยเฉพาะหอยกาบ 3 เหลี่ยม เป็นสัตว์น้ำประจำถิ่นที่มีอยู่มากในคลองมะขามเฒ่า พากันแห้งตายเกยตื้นบนดินที่แห้งแตกระแหงจำนวนมาก

ประกาศเขตช่วยภัยแล้ง 14 จังหวัด

ทั้งนี้ วันเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 14 จังหวัด รวม 69 อำเภอ 420 ตำบล 3,785 หมู่บ้าน ชุมชน แยกเป็น ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ รวม 22 อำเภอ 125 ตำบล 965 หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา รวม 31 อำเภอ 215 ตำบล 2,151 หมู่บ้าน 20 ชุมชน ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา และอุทัยธานี รวม 16 อำเภอ 80 ตำบล 649 หมู่บ้าน โดยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

มท.1 สั่งปล่อยน้ำแก้ประปาเค็ม

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงแผนการรับมือภัยแล้งว่ามีการประกาศพื้นที่ภัยแล้งขณะนี้ 14 จังหวัด ในส่วนของน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่มีความเสี่ยงจำนวน 22 จังหวัด ส่วนนอกพื้นที่ของ กปภ.ที่มีความเสี่ยงปัญหาเรื่องประปาท้องถิ่นและประปาหมู่บ้าน มี 43 จังหวัด โดย กปภ. เตรียมการมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2562 แล้ว ในส่วนของการประปานครหลวง (กปน.) ก็มีปัญหาน้ำกร่อย มีปริมาณเกลือในน้ำมาก จะมีผลต่อสุขภาพผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน เรื่องนี้มอบหมายให้ กปน. ทำงานประสานงานกับกรมชลประทาน ซึ่งได้ปล่อยน้ำจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำป่าสักฯ ลงมา โดยปล่อยน้ำจากเขื่อนชัยนาท 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปล่อยน้ำจากแม่น้ำแม่กลองออกมาอีก 20 กว่าลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำขนาดนี้ จะสามารถดันน้ำเค็มไม่ให้ขึ้นมาถึงสถานีสูบน้ำประปาสำแล จ.ปทุมธานี สิ่งที่อยากจะสื่อสารประชาชนคือกรมชลประทานได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆ เพื่อให้อยู่ได้ถึงเดือนกรกฎาคม โดยเน้นเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ฉะนั้นเกษตรกรต้องช่วยกันอย่าสูบน้ำขึ้นมา โดยเฉพาะการนำน้ำไปทำนา

“ธรรมนัส” สั่งอธิบดีฝนหลวงช่วยเติมน้ำ

ส่วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาภัยแล้งว่าได้สั่งการแล้วในการช่วยเหลือประชาชน จะเริ่มปฏิบัติการเดือนหน้าในทุกภาค โดยได้สั่งการให้อธิบดีกรมฝนหลวงวางยุทธศาสตร์ในการดำเนินการฝนหลวงว่าจะต้องทำอย่างไรสำหรับแผนของปีนี้ เพราะแต่ละปีจะไม่เหมือนกัน แต่ยืนยันเรามีขั้นตอนในการดำเนินการอยู่ การทำฝนหลวงนี้ก็จะไปช่วยเติมน้ำในพื้นที่ชลประทานและพื้นที่นอกชลประทาน แต่ทั้งนี้ จะเติมน้ำได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องดูสภาพอากาศด้วย ส่วนการเยียวยาความเสียหายกับพืชผลเกษตรกรนั้น กระทรวงเกษตรฯ มีหลักการเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว

กรมชลฯติดตั้งเครื่องสูบน้ำ

วันเดียวกัน นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนติดตามการบริหารจัดการน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศในลุ่มน้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และเจ้าพระยา ทั้งที่สถานีวัดน้ำท่า C.29 A ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ บริเวณประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 จ.พระนครศรีอยุธยา, โรงสูบน้ำดิบการประปานครหลวง (สำแล) จ.ปทุมธานี, โรงผลิตน้ำประปามหาสวัสดิ์ (คลองปลายบาง) จ.นนทบุรี และประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สมุทรปราการ จากนั้น นายทองเปลว เปิดเผยว่าศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้ติดตามสถานการณ์คุณภาพน้ำด้านค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง พบว่าปัจจุบันจุดเฝ้าระวังและควบคุมความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยาที่โรงสูบน้ำดิบสำแลของการประปานครหลวง จ.ปทุมธานี ตรวจวัดค่าความเค็มได้ 0.22 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร ส่วนมาตรฐานเพื่อการผลิตประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร จากนั้นจะใช้เครื่องสูบน้ำที่ประตูระบายน้ำพระยาบันลือรวม 54 เครื่อง ที่ประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 จำนวน 12 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

สั่ง รพ.ในพื้นที่แล้งสำรองน้ำ

ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายเรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการ รมช.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวมาตรการรับมือภัยแล้งและน้ำประปาเค็ม โดย พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า การเตรียมการรับมือของสถานพยาบาลนั้น มีการสั่งการให้ประเมินปริมาณการใช้น้ำทั้งในระดับโรงพยาบาลใหญ่และเล็กว่า แต่ละวันใช้น้ำมากน้อยเท่าใด และให้มีการสำรองน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในด้านการบริการ โดยเฉพาะในส่วนของห้องผ่าตัด ศูนย์โรคไต เป็นต้น

เตือนระวัง 6 โรคจากภัยแล้ง

พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า สำหรับประชาชนที่ต้องระวัง คือโรคติดต่อทางเดินอาหาร 6 โรคหลัก คือ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค โรคไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย และไวรัสตับอักเสบเอ ซึ่งย้ำว่าแม้ช่วงหน้าแล้ง แต่ก็ยังต้องรักษาอนามัยส่วนบุคคล แต่แนะนำว่าควรใช้น้ำอย่างประหยัดและพอเหมาะ ทั้งนี้ ช่วงหน้าแล้งมักจะมากับอากาศที่ร้อน ดังนั้นที่แนะนำ คือ 1.จิบน้ำบ่อยๆ ขึ้น จิบทีละน้อย ไม่ใช่ครั้งละมากๆ จะช่วยลดกระหายได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วย อาจขาดน้ำได้ง่ายกว่า 2.เตรียมนำบริโภค โดยน้ำดื่มต้องสะอาดอยู่ในมาตรฐาน 3.หากต้องใช้แหล่งน้ำจากธรรมชาติ เช่น คลอง แม่น้ำ ต้องมีการแกว่งสารส้มหรือใส่คลอรีน แต่น้ำดื่มยังต้องมาผ่านการกลั่นกรองหรือต้มอีกขั้นหนึ่งก่อน ส่วนน้ำบาดาล ใช้เป็นน้ำใช้ได้ เพราะมีการตรวจคุณภาพเหมือนน้ำประปา แต่ไม่ควรน้ำมาใช้ดื่ม และ 4.ดูแลแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูล เพราะน้ำน้อยสภาพน้ำจะไม่ดีเท่าช่วงปกติ

เร่งขุดบ่อบาดาลช่วยชาวบ้านตามเกาะ

ปลัด ทส.กล่าวต่อว่า ปัญหาภัยแล้งปีนี้ค่อนข้างรุนแรง ในส่วนของพื้นที่ที่เป็นเกาะแก่ง ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเรื่องนำอุปโภคและบริโภค ที่สำคัญ ในพื้นที่อุทยานฯ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีช้างป่าจำนวนมากให้มีการขุดบ่อน้ำเพิ่มคู่กับการเจาะบ่อบาดาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสัตว์ป่า ขณะนี้ได้มีการขุดบ่อที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน จ.ฉะเชิงเทรา ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดและจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากช่วงนี้นอกจากประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว ยังจะมีไฟป่าเกิดขึ้นด้วย

กทม.มีน้ำบาดาลรอให้ใช้เพียบ

ด้านนายศักดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ปริมาณน้ำบาดาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังมีปริมาณเพียงพอเพราะอยู่ในการควบคุมการใช้ เนื่องจากที่ผ่านมาในบางพื้นที่ประสบปัญหาดินทรุดเพราะในอดีตมีปริมาณการใช้น้ำบาดาลมากถึงประมาณวันละ 2.2 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ปัจจุบันมีการควบคุมการใช้น้ำบาดาลอยู่ประมาณวันละ 1 แสน ลบ.ม. ดังนั้น ในภาพรวมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะสามารถใช้น้ำบาดาลได้ประมาณวันละ 9 แสน ลบ.ม. หรือสูงสุดที่ 1.25 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อพื้นดิน หรือทำให้ดินทรุดและปริมาณน้ำบาดาลจะเป็นน้ำสำรองให้กับส่วน ราชการอื่นๆ ที่จะสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้ ขณะนี้น้ำผิวดินมีน้อยลง ส่วนน้ำบาดาลยังเป็นน้ำที่มีคุณภาพสะอาด ถ้าหากไม่นำขึ้นมาใช้น้ำบาดาลก็จะไหลลงสู่ทะเลไป